5 มหา’ลัยรัฐ-เอกชนใต้ ค้านเรียนหลักสูตรอื่น 4 ปี เป็นแม่พิมพ์ ชี้เหมาะเป็นแค่ ‘ติวเตอร์’

นายเอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา หัวข้อ “เส้นทางวิชาชีพครูจะไปทางไหน” ซึ่งมีคณบดีคณะครุศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ จาก ม.อ., มหาวิทยาลัยหาดใหญ่, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มรภ.ยะลา และ มรภ.สงขลา และมีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 400 คน ว่า จากกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สำหรับผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ โดยให้สมัครสอบแข่งขันได้นั้น คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ ที่เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ต่างผิดหวังกับนโนบายดังกล่าว แม้คณบดีบางท่านจะเห็นด้วยในเชิงนโยบาย แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติในการรับสมัครบุคคลเข้ามาเป็นข้าราชการครูฯ และครูผู้ช่วย โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนรับรองจากครุสภา เพราะนโยบายนี้ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับบัณฑิตวิชาชีพครู 5 ปี

นายฆนัท ธาตุทอง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า สถาบันที่ผลิตครูต้องบูรณาการศักยภาพในการผลิตครู และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรพัฒนาศักยภาพครูในมหาวิทยาลัยโดยไม่ยึดติดกับใบปริญญาบัตร งานวิจัยและผลงาน และไม่เห็นด้วยกับการอบรมผู้ที่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครูเพียง 1 ปี เพราะผู้ที่เรียนครู 5 ปี ถูกปลูกฝังการมีความรู้ 11 มาตรฐาน และต้องปฏิบัติการสอนเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งใช้เวลา 5 ปี ในการปลูกฝังความเป็นครู นี่คือข้อแตกต่าง แต่นโยบายนี้ผู้ที่เรียนจบวิชาเอก 4 ปี สอนได้ทันที จึงไม่เชื่อว่าผู้ที่เรียน 4 ปี จะเป็นครูที่ดี เมื่อเทียบกับผู้ที่จบครู 5 ปี วิธีการเหล่านี้รัฐบาลทำผิดพลาด คนเหล่านั้นควรเป็นติวเตอร์มากกว่าเป็นครู

น.ส.เรวดี กระโหมวงศ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ผิดหวังกับนโยบายของรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสะสมมานาน ครูไม่ตรงวุฒิบ้าง ครูไม่ตรงวิชาเอกบ้าง เรามีหน้าที่ผลิตครูดี ครูเก่ง สอนดี สอนเก่ง เราสร้างได้ สิ่งที่เกิดขึ้นผู้บริหารไม่มีมุมมองและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่มองให้รอบ ทั้งที่ทุกหย่อมหญ้ามีข้าราชการ ศธ.อยู่ รู้สึกสงสารลูกศิษย์ แต่เป็นโอกาสที่จะแสดงให้สาธารณะเห็นว่าผู้ที่เรียนครู 5 ปี มีความพร้อมของวิญญาณความเป็นครูที่ดีกว่าผู้ที่เรียน 4 ปีแน่นอน

Advertisement

นายกฤษฎา กุณฑล คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.ยะลา กล่าวว่า ผิดหวังกับมติรัฐบาล แต่ขอให้เป็นมติที่ชัดเจน สงสารลูกศิษย์ จะเป็นครู 5 ปี หรือ 4 ปี ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ชัดเจน และไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์โดยขาดการวิเคราะห์ที่ชัดเจน

นายประภาศ ปานเจี้ยง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวว่า หลักสูตรกว่าจะผ่านต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่เมื่อมีปัญหา คุรุสภาไม่ได้เป็นปากเสียงแทนสถาบันการศึกษา รู้สึกสงสารลูกศิษย์ รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนแน่นอน เป็นมาตรฐาน ทั้งนี้ ต้นแบบที่ดีในการผลิตครู คือครูเรียนวิชาเนื้อหาจากครูที่เชี่ยวชาญจากคณะสาขาวิชาเฉพาะทาง และขอเรียกร้องให้ยกฐานะวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะครูเป็นผู้ผลิตคนทุกสาขาอาชีพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image