ดุลยภาพดุลยพินิจ : ก้าวไปข้างหน้ากับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยไม่ทอดทิ้งกัน : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.เพื่อนฝูงที่จบโรงเรียนเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไปบางคนใหญ่โตในหน้าที่การงาน แต่บางคนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม เรายังคงคบกันเป็นเพื่อนเอื้ออาทรและช่วยเหลือกันตามกำลัง การที่รัฐบาลประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยไม่ทอดทิ้งให้ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งล้าหลัง น่าจะอิงหลักการทำนองเดียวกัน ตรงกับคำศัพท์ inclusive growth ที่ธนาคารโลกและองค์กรระหว่างประเทศอ้างถึง เป็นหลักอุดมคติ-แต่สภาพความเป็นจริงจะทำได้เช่นนั้นหรือไม่? บางประเทศอาจจะประสบผลสำเร็จ–แต่อีกหลายประเทศล้มเหลว

ในฐานะคนชอบวิจัยผู้เขียนต้องการสืบค้นว่า “การเจริญเติบโตอย่างไม่ทอดทิ้งกัน” โดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ใช่แค่คำกล่าวลอยๆ จึงสืบค้นข้อมูลบัญชีประชาชาตินำมาเล่าสู่กันฟัง บัญชีประชาชาติเป็นเครื่องมือที่มีคุณประโยชน์สามารถแจกแจงได้ว่ารายได้ประชาชาติตกกับชนชั้นแรงงานกี่เปอร์เซ็นต์ และตกกับเจ้าของทุนกี่เปอร์เซ็นต์

2.บัญชีประชาชาติ ชื่อระบุว่าเป็นการจัดทำบัญชีระดับชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ประมวลข้อมูลการผลิตเป็นรายจังหวัดและรวมเป็นประเทศ วัดอัตราการเจริญเติบโต รายได้ การออม การลงทุน เป็นต้น ประกอบด้วยหลายบัญชี แต่ในโอกาสนี้จะเน้น รายได้ประชาชาติ (national income) ซึ่งบ่งชี้การกระจายรายได้

รายได้ส่วนที่เป็นค่าจ้าง เกิดจากผลคูณของจำนวนคนทำงานกับค่าจ้างเฉลี่ย เป็นตัวเลขสถิติที่มีความสำคัญ เพราะว่าผู้ใช้แรงงานเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ตามสถิติสำนักงานประกันสังคมมีลูกจ้างประมาณ 12 ล้านคน นอกเหนือจากนี้มีแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระ 25 ล้านคน ถ้าหากดูสถิติยาวๆ หมายถึงประมาณ 50 ปี จะได้ข้อสรุปว่ารายได้ค่าจ้างขยายตัวสูงในช่วงแรกแต่ว่าชะลอตัวในระยะหลัง

Advertisement

ทำไมเป็นเช่นนั้น?

คำอธิบายก็คือ สมัย 40-50 ปีก่อนคือยุคประเทศไทย 1.0 หรือ 2.0 มูลค่าเพิ่มเกิดจากภาคการเกษตร ซึ่งประกอบอาชีพอิสระหมายถึงเป็นเจ้าของทุนและแรงงานในคนคนเดียวกัน เมื่อประเทศไทยเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมีโรงงานใหม่ผุดขึ้นจำนวนลูกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก รายได้ค่าจ้าง (wage bill) จึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในบัญชีประชาชาติ–ซึ่งเป็นผลดีต่อการเงินการคลังรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลได้ภาษีของแรงงานที่นายจ้างหัก ณ ที่จ่าย และในแต่ละเดือนเงินสมทบจากแรงงานนับสิบล้านรายไหลเข้ากองทุนประกันสังคม

รูปภาพข้างล่างนี้แสดงอัตราการขยายตัวของรายได้ค่าจ้าง ในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมีแนวโน้มลดลง

Advertisement
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3.ข้อห่วงใยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริง–แต่ไม่เป็นผลดีสำหรับแรงงาน เกิดขึ้นทั่วโลก ผลงานวิจัยหลายชิ้นจากหลายประเทศยืนยันว่า รายได้ค่าจ้าง (wage bill) คิดเป็นสัดส่วนของรายได้ประชาชาติลดลง ระหว่างปี ค.ศ.1990-2010 งานวิจัยของเยอรมนีนี้อ้างว่า สัดส่วนรายได้ค่าจ้างลดลงจากร้อยละ 72 เหลือร้อยละ 65 จากประเทศอินเดียระบุว่าสัดส่วนค่าจ้างลดลงจาก 45% เหลือ 36% จากประเทศจีนระบุว่า ลดลงจาก 52% เป็น 40% เป็นเพราะสาเหตุอันใด?

นักวิชาการหลายท่านให้อรรถาธิบายต่างๆ ขอนำมาสรุปดังนี้ ก) การลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและทุนทำให้พลังต่อรองของแรงงานลดน้อยถอยลง ข) งานวิจัยในสหรัฐอ้างว่า การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมของคนอเมริกันลดลง เพราะการนำเข้าสินค้า (ราคาถูก) จากประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ค) การใช้คอมพิวเตอร์-หุ่นยนต์-โดรน-และอุปกรณ์สมัยใหม่ จะทดแทนการใช้คนในอนาคต น่าห่วงครับ แต่คนที่จะตัดสินใจคือผู้ประกอบการซึ่งเขาก็มีเหตุผลว่า ประหยัดต้นทุน ควบคุมง่าย แต่ทั้งหมดไม่เป็นผลดีต่อชนชั้นแรงงาน

ง) โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล) ตั้งข้อสังเกตว่า สหภาพแรงงานในสหรัฐยุคหลังไม่เข้มแข็งเช่นในอดีต และจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลงชัดเจน จ) โลกาภิวัตน์ส่งเสริมการแข่งขันแบบหนูปั่นจักร (rat race) ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อแรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระขนาดย่อม

หมายความว่า ต้องเร่งปริมาณเพิ่มขึ้น-เพื่อรักษารายได้ให้เท่าเดิม เพราะว่ากำไรต่อหน่วยลดน้อยถอยลง นึกถึงภาพหนูปั่นจักรยาน

4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จะประสบผลสำเร็จหรือไม่และอย่างไร เป็นอนาคตที่น่าติดตาม แต่ความห่วงใยต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานและการกระจายรายได้ น่ารับฟัง ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตปีละหลายแสนคน บัณฑิตจบแล้วมีงานทำถือว่าโชคดี จำนวนไม่น้อยจบแล้วไม่มีงานทำ ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

น่าเห็นใจเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสเป็นพนักงานลดลง คนเหล่านี้จะถูกสังคมผลักดันให้กลายเป็นผู้ประกอบการ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนทำได้ ผู้ที่มีทักษะเป็นผู้ประกอบการและเงินทุนอาจจะอยู่รอดและตั้งตัวได้ แต่เยาวชนจำนวนมากไม่มีทั้งทักษะ ไม่มีทั้งเงินทุนและไม่ได้ผ่านการอบรมมา จะหาทางออกอย่างไรกันดีครับ?

ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ยากจริงๆ ผู้นำประเทศและหน่วยงานราชการพยายามค้นคิดมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เช่น โครงการ start-up เป็นความตั้งใจที่ดี แต่ยังไม่พอเพียง เราควรจะมีหน่วยงานติดตามประเมินผลว่า ในจำนวน 100 รายที่เข้าโครงการเยาวชนรุ่นใหม่ตั้งตัวได้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ตัวเลขของสถาบันการศึกษาว่าจบไปแล้วทุกคนมีงานทำหรือส่วนใหญ่มีงานทำ ไว้ใจไม่ได้ เป็นลักษณะพูดเองเออเอง

สรุปในชั้นนี้ก็คือ เราจำเป็นต้องติดตามสถิติรายได้ค่าจ้างในบัญชีประชาชาติ (labor share in national income) อย่างจริงจัง เพราะว่าผลกระทบครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หากว่ารายได้ค่าจ้าง (wage bill) ลดลง-การจัดเก็บภาษีเงินได้ของรัฐบาลจะลดลง

การบริโภคและภาษีมูลค่าเพิ่มก็ชะลอตัวตามไปด้วยเพราะว่าผู้ใช้แรงงานเป็นพลังซื้อที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image