คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ไปดู ‘สเปน’ ผู้นำปลูกถ่ายอวัยวะ

AFP PHOTO / PIERRE-PHILIPPE MARCOU

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง “ออล อะเบาท์ มาย มาเธอร์” จากฝีมือการกำกับของ เปโดร อัลโมโดวาร์ ผู้กำกับชาวสเปน ที่คว้ารางวัลไปจากหลายเวที รวมถึงเวทีออสการ์ในปี 1999 ก็จะทำให้เข้าใจและเห็นภาพปัญหาการขาดแคลนอวัยวะและการบริหารจัดการอวัยวะที่ได้รับบริจาคมาเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับคนไข้ที่ต้องการอวัยวะบริจาคนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น

ข้อมูลที่ทางทีมงานของอัลโมโดวาร์ได้มาเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งมาจากองค์การปลูกถ่ายอวัยวะแห่งชาติ(โอเอ็นที) ของสเปน ที่เผยให้เห็นการบุกเบิกการจัดวางระบบด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศที่ดี จนทำให้สเปนกลายเป็นผู้นำด้านการปลูกถ่ายอวัยวะที่ก้าวผ่านอุปสรรคปัญหาในเรื่องนี้มามากมายในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

คำปลอบใจของพยาบาลที่มีต่อคนไข้ที่รอรับการผ่าตัดไตที่ได้รับบริจาคมา ที่บอกว่า “ไม่ต้องกลัว ในสเปนมีการปลูกถ่ายอวัยวะเกิดขึ้นทุกวัน” ก็ไม่น่าจะเกินจริง เพราะข้อมูลจากโอเอ็นทีระบุว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา แพทย์สเปนได้ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะให้คนไข้ในสเปนมีจำนวน 4,818 ราย ซึ่งรวมถึงการปลูกถ่ายไต 2,994 ราย นั่นหมายความว่า ในปีที่แล้วมีผู้บริจาคอวัยวะ 43.4 รายต่อประชากรในสเปน 1 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนผู้บริจาคอวัยวะอยู่ที่ 40.2 ราย เมื่อเทียบกับในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 28.2 ราย ในประเทศฝรั่งเศสมี 28.1 ราย และในเยอรมนีมี 10.9 รายเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรในจำนวนเท่ากัน

การวางรากฐานบริหารจัดการการรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะที่เป็นระบบแบบรวมศูนย์ของสเปน ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปยึดเอาระบบนี้ของสเปนไปเป็นแบบอย่าง เช่น ในโปรตุเกสและโครเอเชีย

Advertisement

โรงพยาบาลต่างๆในสเปนจะมีผู้ประสานงานด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์หรือพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ซึ่งจะประจำการอยู่ในห้องผู้ป่วยหนักเพื่อคอยดูอาการของคนไข้ที่บริจาคอวัยวะ ที่อาจอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยอวัยวะสำคคัญอื่นๆ อย่างไต ตับ ปอด ตับอ่อน หรือแม้กระทั่งหัวใจ ยังคงทำงานอยู่และสามารถนำไปปลูกถ่ายให้คนไข้ที่รอบริจาคอยู่ได้ ก็จะมีการแจ้งข้อมูลนี้ไปยังเอ็นโอที เพื่อประสานหาผู้รับบริจาคที่อยู่ในบัญชี “รอ” ซึ่งอวัยวะที่บริจาคมาเข้ากันได้ เพื่อรับการปลูกถ่ายอวัยวะดังกล่าวต่อไป

ที่สำคัญการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนี้ ยังเป็นการทำให้ฟรีแก่ชาวสเปนภายใต้ระบบประกันสุขภาพของรัฐบาล

มารี-ชาร์ล็อตต์ บูสโซ เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านจริยธรรมขององค์การอนามัยโลก(ฮู) ชี้ถึงกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศสเปนว่าคือ การทำงานเป็นเครือข่ายและการรวมศูนย์การบริหารจัดการ บูสโซให้ข้อมูลอีกว่า ในขณะที่คนไข้ที่ต้องการอวัยวะบริจาคในทั่วโลกจำนวนมากมาย แต่มีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้รับอวัยวะบริจาคมา นั่นหมายความว่าที่เหลืออีกร้อยละ 90 จะต้องเสียชีวิตในระหว่างอยู่ในบัญชี”รอ” แต่ในสเปน มีคนไข้แค่ 4 จากร้อยละ 6 ที่เสียชีวิตลงในปีที่แล้วในระหว่างรอรับบริจาคอวัยวะ

Advertisement

ด้านราฟาเอล มาเตซานซ์ ผู้ก่อตั้งโอเอ็นที เผยเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของระบบปลูกถ่ายอวัยวะในสเปนว่า มาจากการฝึกอบรมและการสื่อสาร ที่เขาบอกว่านับจากโอเอ็นทีก่อตั้งขึ้นในปี 1989 ได้มีการฝึกอบรมผู้ประสานงานด้านการปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้วมากกว่า 18,000 คน ที่พวกเขาจะทำหน้าที่ตั้งแต่การแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้บริจาค การปลอบขวัญครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อให้เห็นชอบกับการบริจาคอวัยวะ และดำเนินการเพื่อให้อวัยวะบริจาคไปถึงคนไข้ผู้รอรับ

ถือเป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จที่นำมาบอกต่อ เผื่อจะมีหน่วยงานไหนสนใจไปดูระบบของเขาบ้าง เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้กับบ้านเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image