กลุ่มรักษ์เชียงของ ส่งจดหมายถึงกรมเจ้าท่าขอดูหนังสือ อนุญาติให้จีนสำรวจโครงการระเบิดแก่ง ในประเทศไทย

วันที่ 20 เมษายน กลุ่มรักษ์เชียงของ โดย นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมเจ้าท่า และ ผู้อำนวยการ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย เรื่อง ขอให้ระงับการอนุญาตให้สำรวจพื้นที่เพื่อระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ในเขตชายแดนไทย-ลาว กรณีโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์บนแม่น้ำลานซาง-แม่น้ำโขง และ ขอเอกสารหลักฐานที่ได้มีการยื่นต่อท่านเพื่อขออนุญาตการสำรวจดังกล่าว และหลักฐานการอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว

ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) และมีการจัดประชุมความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ต่อมามีการจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของการสำรวจของบริษัทจีน ที่ได้รับสัมปทานในโครงการนี้ โดยกรมเจ้าท่า ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กรมเจ้าท่า และเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2560 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเชียงราย ได้มีจดหมายถึงกลุ่มรักษ์เชียงของแจ้งว่า บริษัทจีน CCCC Second Habor Consultants จะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในวันที่ 19 เมษายน 2560 โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน

นายนิวัฒน์ ระบุว่า กลุ่มรักษ์เชียงของมีความห่วงกังวลต่อการสำรวจของบริษัทจีนในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการสำรวจดังกล่าว ทางกลุ่มเชื่อว่าจะต้องมีการปรับระดับน้ำในแม่น้ำโขงโดยการปล่อยน้ำและงดปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ที่จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติและฤดูกาล ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งการสำรวจใช้เวลาถึง 2 เดือน ยิ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขงและประชาชนในลุ่มน้ำโขงที่อาศัยทำมาหากินในลำน้ำ โดยการดำเนินการอนุญาตให้สำรวจดังกล่าวแม้จะมีการจัดประชุม แต่ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการสำรวจ และเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดจาการระเบิดแก่งทางตอนบน ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 15 ปี รวมทั้งศึกษาคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์นิเวศ ตลอดลำน้ำโขงระยะทาง 96 กิโลเมตร บนพรมแดนไทยลาว ก่อนที่จะมีการสำรวจและออกแบบในระยะต่อไป

“ด้วยเหตุดังกล่าว กลุ่มรักษ์เชียงของจึงเรียนมาเพื่อ ขอให้ท่านยกเลิกการอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว และขอให้หน่วยงานของท่านจัดส่งเอกสารหลักฐานการอนุญาต เอกสารหลักฐานการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจในครั้งนี้ทั้งหมด พร้อมทั้ง ขอให้ชี้แจงว่า การอนุญาตดังกล่าวดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร โดยขอให้ท่านมีคำสั่งยกเลิกการอนุญาตในทันที และจัดส่งเอกสารด่วนไปยังกลุ่มรักษ์เชียงของ ภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้” นายนิวัฒน์ ระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image