แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

 

 การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนให้เห็นผลในทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนคนไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศอีกครั้งใน 20 ปีข้างหน้า

แนวทางและแผนการพัฒนา EEC จะแบ่งเป็นเขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ และพัฒนาเขตเมืองใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) มีพื้นที่ดำเนินการ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นการต่อยอดจาก 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม การเกษตรแปรรูป และโลจิสติกส์ และเพิ่มอีก 5 อุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน การแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ดิจิทัล เชื้อเพลิงชีวภาพ ควบคู่กับการลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ

รัฐบาลได้กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าและประชาชน ระหว่างกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี แหลมฉบัง พัทยา สัตหีบ อู่ตะเภา มาบตาพุด ระยอง รวมทั้งเชื่อมสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นประตูสู่เมียนมา เวียดนาม ลาว กัมพูชา และจีนตอนใต้ ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่

Advertisement
  1. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ในระยะ 5 ปีแรกจะเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคน เป็น 15 ล้านคน ก่อนจะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาปริมาณเที่ยวบินและความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบินและศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน และนิคมอุตสาหกรรมการบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไปพร้อมกันด้วย
  2. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งจะมีแอ่งจอดเรือน้ำลึก 18.5 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดความจุ 160,000 ตัน หรือ 15,000 ทีอียู และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อรองรับตู้สินค้าจากเดิม 11 ล้านทีอียู/ปี เป็น 18 ล้าน ทีอียู/ปี และรองรับการส่งออกรถยนต์จาก 1 ล้านคัน/ปี เป็น 3 ล้านคัน/ปี นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง (SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอานวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอและพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่างๆ
  3. โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยออกแบบให้เชื่อมต่อจากท่าเรือระยะที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ประกอบด้วยท่าเรือสินค้าเหลว 2 ท่า ท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซ 3 ท่า พื้นที่คลังสินค้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ บ่อเก็บกักตะกอน และท่าเรือบริการ รวมทั้งก่อสร้างเขื่อนหินกันทรายและเขื่อนกันคลื่น
  4. โครงการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ โดยปรับปรุงร่องน้ำและพื้นที่จอดเรือ ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น อาคารผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ และปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำมัน ให้เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญขนาดใหญ่และเรือเฟอร์รี่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสองฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออกไปยังหัวหิน ชะอำ และกรุงเทพฯ ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้อนุญาตให้เดินเรือเฟอร์รี่ เส้นทางพัทยา – หัวหินแล้ว
  5. การก่อสร้างทางหลวงต่าง ๆ ในส่วนที่ยังขาดหายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี จะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากพัทยา – มาบตาพุด ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 30 และพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 61 แหลมฉบัง – นครราชสีมา เป็นโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ฉบับใหม่ (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อเชื่อมต่อภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งจะมีการก่อสร้าง บูรณะ ขยายช่องจราจร ทางหลวงและโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งให้มีความสมบูรณ์ และแก้ไขปัญหาจราจร ปัญหาคอขวด และรองรับการขยายตัวของฐานการผลิตและบริการ
  6. การก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างจังหวัดระยอง ท่าเรือแหลมฉบัง เข้ากับกรุงเทพฯ และภาคอื่น ๆ โดยก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – ระยอง ให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับกรุงเทพฯ และเชื่อมท่าอากาศยานหลักทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน โดยกระทรวงคมนาคมได้นำโครงการดังกล่าวบรรจุไว้ในแผนระยะเร่งด่วนปี 2560 แล้ว นอกจากนี้ จะก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา รวมทั้งจะมีการศึกษาเพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด ด้วย

สำหรับมาตรการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในด้านภาษี การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมาย การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาต และการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ประกาศเป็นเขตปลอดภาษี จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน สามารถจัดหาที่ดินและเช่าที่ดินได้ 50+49 ปี ตลอดจนการประกาศพื้นที่เขตประกอบการเสรี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการค้า การผลิต และการลงทุน เป็นต้น

เมื่อการลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเมือง ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนไทยและต่างประเทศ รที่มีมูลค่ามหาศาล จะเป็นกลไกในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในภาคตะวันออกของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ของภูมิภาคอาเซียนในที่สุด

 

Advertisement

——————————–

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image