บอร์ดก.ค.ศ. เห็นชอบกำหนดอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงาน 4.5 พันตำแหน่งลงศธจ. พร้อมอนุมัติสรรหารองศธจ.อีก 77 อัตรา

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 19/2560และได้มอบให้สำนักงานก.ค.ศ. จัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบการกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานศธจ. ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขนาด ได้แก่ ขนาดใหญ่พิเศษ 21 อำเภอขึ้นไป ขนาดใหญ่ 16-20 อำเภอ ขนาดกลาง 9-15 อำเภอ และขนาดเล็ก 8 อำเภอลงมา โดยในระยะแรกให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสพท. ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ จำนวน 958 ตำแหน่งและตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา38 ค.(2) ไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนตำแหน่งที่สพท.ทั่วประเทศมีหรือคิดเป็น จำนวน 3,575 คน

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมอนุมัติให้กำหนดตำแหน่งรองศธจ. เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการเฉพาะด้านการบริหารสำนักงานศธจ.ระดับต้น โดยเบื้องต้นกำหนดให้มีรองศธจ.ละ 1 อัตรา รวมถึงเห็นชอบร่าง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรองศธจ. สังกัดสำนักงานปลัดศธ. โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังนี้ รองผู้อำนวยการ(ผอ.)สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือรองผอ.สพท. รองผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร รองผอ.สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดทั้งนี้ผู้ได้รับการสรรหาจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่เป็นรายภาค และตามจำนวนตำแหน่งว่างที่ประกาศฯโดยไม่มีการขึ้นบัญชี

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดศธ. กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ศธจ.และผอ.สพท.นั้น มี 3 ลักษณะ 1.เป็นงานที่จะต้องทำร่วมกัน ระหว่างผอ.สพท.และศธจ. เช่น การพิจารณาความดีความชอบในเรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือน การโยกย้าย การประเมินวิทยฐานะครู การเลื่อนเงินเดือน เป็นต้น 2.งานของ ผอ.สพท.โดยตรง เช่น เรื่องการทำแผนการส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การทำมาตรฐานและเกณฑ์ประเมินผลงาน การจัดประวัติข้าราชการ อำนาจหน้าที่ในการสั่งประจำส่วนราชการหรือสำนักงานเขตฯเป็นการชั่วคราว การดำเนินการทางวินัยกรณีวินัยไม่ร้ายแรง รวมถึงการฝึกอบรม ดูงานวิจัยของผู้ใต้บังคับบัญชา และ 3.งานของศธจ. จะเป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้สั่งบรรจุ แต่งตั้ง และให้ออกจากราชการ ของผอ.โรงเรียน, รองผอ.โรงเรียน, ข้าราชการครู และสั่งให้มีการรักษาการในกรณีที่มีตำแหน่งว่างการดำเนินการทางวินัยกรณีวินัยร้ายแรง เป็นต้น

“ที่ประชุมได้ทำความชัดเจน ในเรื่องการบริหารงานบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช. อำนาจหน้าที่การบริหารงานบุคคลเป็นอำนาจร่วมกันระหว่างองค์คณะบุคคลหรือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)กับศธจ.และผอ.สพท.โดยจำแนกภารกิจของผอ.สพท. ภารกิจของศธจ.และภารกิจที่ผอ.สพท.และศธจ.จะต้องร่วมกันทำ ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องมีการชี้แจงทำความเข้ากับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนให้ชัดเจน”นายชัยพฤกษ์กล่าว และว่า ส่วนตำแหน่งรองศธจ.นั้นเบื้องต้นเริ่มจังหวัดละ 1 ตำแหน่งก่อน รวมทั้งหมด 77 ตำแหน่งแต่หากจังหวัดใดมีปริมาณงานและอำเภอที่อยู่ในการดูแลก็อาจจะมีเพิ่มอีก 2-3 ตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของศธ.ในภูมิภาค(คปภ.)

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image