‘คุณหญิงหน่อย’ชี้ปชต.ไทยแค่ผิว-ไม่ยึดโยงคุณธรรม ชู’ธรรมาธิปไตย’แก้ขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะนิสิตสาขาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จัดประชุมวิชาการเรื่อง “พุทธวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งการเมืองไทยในปัจจุบัน” โดยมีพระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคพท. นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าร่วม

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง คือ 1.ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในการนำโครงสร้างประชาธิปไตยจากต่างชาติมาใช้ไม่มีการบูรณาการกับคุณธรรม และคุณค่าความเป็นไทย เราจึงได้ประชาธิปไตยแค่ผิวไม่ได้ประชาธิปไตยที่คำนึงถึงคุณค่าความเป็นไทย ทำให้นักการเมืองถูกจัดการ เช่น การปฏิวัติ โดยการอ้างคุณธรรม และทำให้เกิดปัญหาความหวงแหนในประชาธิปไตย เป็นต้น 2.ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทำให้เกิดปัญหาคือ เมือนักการเมืองต้องการได้รับเลือกต้องเสนอนโยบายที่ตรงใจประชาชน ทำให้ส่งทั้งผลดี และผลเสีย ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนชนบท และคนเมือง จากการเก็บข้อมูลจะเห็นว่า คนชนบทมีความหวงแหนประชาธิปไตยมาก เพราะการเลือกตั้งทำให้เขารู้สึกว่าเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการเข้าถึงทรัพยากร เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนของเขาบ้าง นอกจากนี้เราถามเขาว่าเหตุใดจึงคิดว่าพึ่งนักการเมืองได้มากกว่าข้าราชการ เขาตอบคำถามว่า เขายังคิดว่าข้าราชการเป็นระบบเจ้าขุนมูลนาย แต่นักการเมืองสามารถเข้าถึงได้มากกว่า ในขณะที่คนเมืองไม่ได้พึงพาการเมืองเท่าคนชนบท คนเมืองมองว่านักการเมืองคือผู้นำประเทศ ที่ต้องมีคุณธรรม และโกอินเตอร์ ให้ความสำคัญกับคุณธรรมเป็นตัวหลัก แต่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยเป็นตัวรองนี่จึงเป็นที่มาของสองนคราประชาธิปไตย และทำให้คนชนบทเป็นคนตั้งรัฐบาล และคนเมืองเป็นคนล้มรัฐบาล

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวอีกว่า 3.โครงสร้างอำนาจระหว่างรัฐราชการกับรัฐการเมือง มีการต่อสู้ระหว่างสองขั้วนี้มาตลอด จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจะเห็นว่า การทำรัฐประหารก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่เป็นการแย่งอำนาจกันมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีการทำรัฐประหารจึงมีความมุ่งหวังให้การเมืองอ่อนแอ เช่น การออกกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญที่มำให้การเมืองอ่อนแอ ควบคุมง่าย พยายามให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อไม่ให้มีพรรคไหนเข้มแข็ง เป็นต้น และเมื่อการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถผลักนโยบายได้ก็ไม่สามารถสร้างคะแนนจากนโยบายได้ก็ต้องใช้เงิน และเกิดการโกงกินเพื่อหาเงินไปใช้ในการเลือกตั้งและจบลงที่การรัฐประหารอีก เราวนอยู่ในหลูปของความเลวร้ายทางการเมืองนี้มาตลอด อย่างไรก็ตาม เราจะออกจากวังวนนี้ได้ เราต้องสร้างความรู้รักสามัคคี เปลี่ยนพลังขัดแย้งเป็นพลังขับเคลื่อน ต้องมีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ และคุณธรรม ที่เรียกว่า”ธรรมาธิปไตย”เพราะเมื่อกฎมนุษย์ไม่สามารถแก้ปัญหาความจัดแย้งได้ เราก็ต้องใช้กฎแห่งธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image