นศ.วิทยาลัยเชียงรายเจ๋ง! คว้ารางวัลชนะเลิศสมัยที่3 สร้างเครื่องตะบันน้ำให้ชาวเขา ต่อยอดทำเองได้ หลังไร้น้ำ-ไฟใช้

นศ.วิทยาลัยเชียงรายเจ๋ง! สร้างเครื่องสูบน้ำให้ชาวเขา ต่อยอดไปทำเองได้ หลังไร้น้ำ-ไฟ ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลโครงการ “กล้าใหม่ ใฝ่รู้ สร้างสรรค์ชุมชนปีที่ 11”

 

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเชียงราย จัดทำโครงการ “ตะบี้ตะบันส่งน้ำเพื่อชุมชน” เพื่อสร้างเครื่องตะบันน้ำใช้สูบน้ำจากลำธาร และนำน้ำที่สูบได้ไปใช้ในการเกษตรและครัวเรือน

จุดเริ่มต้นโครงการนี้เกิดมาจากการที่ทางนักศึกษาและวิทยาลัยเล็งเห็นว่าแต่เดิมชุมชนบ้านผาเคียว และหมู่บ้านจะจ๋อ (เผ่าลาหู่) เป็นชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และกว่าจะได้น้ำแต่ละครั้งก็ลำบาก ซึ่งลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีธารน้ำไหลผ่านเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลมารวมกันเป็นน้ำกก และชาวบ้านพากันทำไร่เลื่อนลอย พากันถางป่าทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงมาก ส่งผลไห้น้ำกกมีระดับน้ำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ฤดูแล้งก็พากันทำสวน ต้องใช้หาบน้ำ หาบขึ้นจากลำธารไปรดน้ำบนที่สวน หรือบางรายก็ใช้เครื่องยนต์ในการสูบน้ำ จุดนี้เองทำให้วิทยาลัยเล็งเห็นถึงปัญหาและต้องการไปต่อยอดพัฒนา จึงเป็นที่มาและแนวคิดในการทำเครื่องตะบันน้ำที่อาศัยหลักการทำงานของการไหลของน้ำผ่านตัวอุปกรณ์ (ซึ่งนักศึกษาบูรณาการการเรียนการสอนวิชาพลังงานทดแทน) เพื่อใช้ทดแทนเครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงของชาวสวน และช่วยผ่อนแรงชาวสวนกลุ่มเกษตรยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

ซึ่งระหว่างการดำเนินโครงการชาวบ้านในชุมชนก็จะได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อสามารถติดตั้งเครื่องตะบันน้ำเองได้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชนอื่นๆ ได้ ที่สำคัญคือชาวสวนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชด้วย โดยโครงการครั้งนี้มี อ.ศิริพงษ์ ตรีรัตน์ , อ.ภักดี สิทธิฤทธิ์กวิน , อ.เฉลิมชาติ เมฒเมืองทอง จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเชียงราย เป็นที่ปรึกษาโครงการ

สำหรับโครงการดังกล่าวนอกจากจะสร้างน้ำให้พื้นที่ชุมชนชาวเขาห่างไกลแล้ว ยังได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 โครงการ “กล้าใหม่ ใฝ่รู้ สร้างสรรค์ชุมชนปีที่ 11” โดย SCB พร้อมรับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งวิทยาลัยเชียงรายได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นสมัยที่3แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางวิทยาลัยเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับการสร้างเครื่องกรองน้ำในพื้นที่ชุมชนห่างไกล และพบว่าชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพหลังดื่มน้ำไม่สะอาด ทำให้เกิดการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานจนคว้ารางวัลมาได้

Advertisement

ส่วนขั้นตอนการดำเนินการมีการประชุมวางแผนร่วมกับชุมชนและผู้นำชุมชนชี้แจงตัวโครงการให้กับชาวบ้านในชุมชนหลักการทำงานของเครื่องตะบันน้ำ อธิบายโครงการให้กับผู้นำชุมชนและกลุ่มเกษตรยั่งยืนของชาวบ้าน ในเรื่องของส่วนประกอบและโครงสร้างของเครื่องตะบันน้ำ และปรึกษาหารือเกี่ยวกับการปลูกพืชต่างๆ ก่อนสำรวจแหล่งน้ำและพื้นที่สวน เมื่อชาวบ้านสนใจและยินดีเข้าร่วมโครงการทางทีมงานแจ้งแบ่งหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่จะหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำ สำรวจแหล่งน้ำร่วมกับชุมชน สำรวจปริมาณน้ำของต้นน้ำและความเป็นไปได้ในการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำก่อนจะมีการอธิบายเกี่ยวกับการประกอบเครื่อง และให้ชาวบ้านทดลองประกอบเครื่องเองเพื่อนำไปต่อยอดเองได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image