เจ้าของ 20 แบรนด์ร้องกองปราบโดน บ.เอกชนตุ๋นขายสินค้าตลาดจีน จัดเน็ตไอดอลโปรโมตไม่เป็นตามอ้าง

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) น.ส.ธนัทธรณ์ ตะนาวสินรังสี หรือนินท์ ประกอบธุรกิจส่วนตัว พร้อมกลุ่มผู้เสียหายเจ้าของหรือตัวแทนแบรนด์สินค้าต่างๆ กว่า 20 แบรนด์ เข้าพบ พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป. พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดี น.ส.อรอุมา กุลนาค หรือมด กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท บีเอ็มพี (ประเทศไทย) จำกัด ในความผิดฉ้อโกงประชาชน โดยทำหนังสือร้องทุกข์และนำเอกสารที่เกี่ยวข้องมามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน

น.ส.ธนัทธรณ์กล่าวว่า ได้รู้จักบริษัทดังกล่าวผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2559 ดำเนินธุรกิจรับสร้างแบรนด์และโปรโมตสินค้า เพื่อเสนอขายไปยังตลาดในประเทศจีน ต่อมาทราบว่าบริษัทแห่งนี้ได้จัดทำโครงการ “50 ไชนิสเน็ตไอดอล อะเมซิ่ง ไลฟ์อินไทยแลนด์ 2016” ซึ่งเป็นโครงการจัดหาเน็ตไอดอลชื่อดังในประเทศจีนที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน มาช่วยโปรโมตสินค้าให้กับประกอบการชาวไทย โดยเน็ตไอดอลจะมีการพูดโปรโมตสินค้าให้เป็นเวลา 30 นาที ผ่านช่องทางถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์เทาเป่า “Taobao Live” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ยอดนิยมในประเทศจีน พร้อมกับการันตีว่าหากเข้าร่วมโครงการแล้วจะมีลูกค้าในประเทศจีนมาสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการจะถูกคิดค่าใช้จ่ายเป็นยูนิต ยูนิตละ 75,900 บาท โดยทุก 1 ยูนิต จะมีการจัดหาเน็ตไอดอล 1 คน เพื่อโปรโมตสินค้าให้

น.ส.ธนัทธรณ์กล่าวต่อว่า เมื่อรู้สึกสนใจเพราะอยากขยายตลาดแบรนด์สินค้าในประเทศจีน จึงสมัครซื้อยูนิตไป แต่ภายหลังกลับปรากฏว่าเน็ตไอดอลที่กล่าวอ้างนั้นไม่ได้มีชื่อเสียงหรือผู้ติดตามเป็นหลักล้าน โดยมีผู้ติดตามแค่หลักพันถึงหลักหมื่นคน ส่วนการพูดโปรโมตสินค้าก็ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญหลังจากโปรโมตสินค้า ยอดขายก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กล่าวอ้าง

น.ส.ธนัทธรณ์กล่าวอีกว่า การดำเนินการอีกหลายอย่างโครงการไม่ตรงตามที่ระบุไว้ เช่น กรณีที่อ้างว่าจะลงโฆษณาสินค้าให้ในเว็บไซต์ ก็ไม่มีการลงโฆษณา, การรายงานการสั่งซื้อสินค้าของผู้ประกอบการก็ไม่มีการดำเนินการ หรือแม้แต่การดูแลด้านการตลาดให้ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ กว่า 20 แบรนด์ ที่หลงเชื่อจ่ายเงินซื้อยูนิตเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท

Advertisement

ผู้เสียหายรายนี้กล่าวว่า ในส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับตัวของเจ้าของบริษัทดังกล่าวนั้น พบว่ามีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการออกหนังสือ “ปล้นคนจีน” อ้างว่าเป็นเจ้าของโรงงานผลิตขนตาปลอมเจ้าเดียวในประเทศไทย เคยอาศัยในประเทศจีนมานานกว่า 10 ปี รวมถึงการอ้างถึงบริษัทและสถาบันการเงินชื่อดัง ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ด้วย การกระทำดังกล่าวจึงน่าจะมีเจตนาที่จะหลอกลวงผู้เสียหายมาแต่แรก พวกตนจึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความในครั้งนี้

ด้าน พล.ต.ต.สุทินกล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องไว้โดยมอบหมายให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้ร้องทุกข์และรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนพิจารณาดำเนินคดีต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image