“สนามม้านางเลิ้ง” จับมือเอกชนปรับโฉมใหม่ “Community Hive” ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์คนเมือง

“สนามม้านางเลิ้ง” ผนึกกำลังภาคเอกชน อัดเม็ดเงินกว่า 600 ล้าน ปรับโฉมพื้นที่ประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ พร้อมให้บริการมิติใหม่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์คนเมือง ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ด้วย “Community Hive” ดึงอัตลักษณ์ปั้นจุดขายหวังขับเคลื่อนชุมชนยั่งยืน

กว่าศตวรรษที่ “ราชตฤณมัยสมาคม” หรือ “สนามม้านางเลิ้ง” ได้ก่อตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2459 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เนื่องจากทรงโปรดกีฬาม้าแข่ง และทรงเห็นว่ากีฬาม้าแข่งควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นกีฬาของชาติ ดังเช่นนานาอารยประเทศ จึงพระราชทานที่ดิน “นาง เลิ้ง” จัดสร้างสนามม้าไทย เพื่อเป็นสถานที่พัฒนาสายพันธุ์ม้าแข่งและเป็นสนามแข่งม้ากีฬาสุภาพบุรุษของไทย 100 ปีที่เปลี่ยนผ่าน วันนี้จะเป็นรอยต่อแห่งยุคสมัยที่จะก้าวเข้าสู่มิติใหม่ของรูปแบบบริการที่พร้อมแนะนำตัวเองในฐานะพื้นที่แห่งการขับเคลื่อนอย่างมีพลวัฒน์ ภายใต้โครงการ “คอมมูนิตี้ ไฮว์ฟ” (Community Hive)

 

เอกชัย ล้อเจริญวัฒนะชัย

เอกชัย ล้อเจริญวัฒนะชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กร โครงการคอมมูนิตี้ ไฮว์ฟ เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ คอมมูนิตี้ไฮว์ฟ ว่า เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง ราชตฤณมัยสมาคมฯ เจ้าของพื้นที่ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนภาพของการแข่งม้าที่ถูกมองเป็น “การพนัน” มากกว่าจะเป็นกีฬา ทำให้คนมองการแข่งม้าและคนที่เข้าไปในสนามม้าในทางลบ กีฬาแข่งม้าจึงถูกมองว่าเป็นกีฬาสีเทาและอึมครึมตลอดมา การปรับโฉมครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงงานบริการต่างๆของสนามม้านางเลิ้งมากขึ้น นอกจากนี้สนามม้ายังมีอายุเก่าแก่มาก โดยเฉพาะในส่วนของการบริการสปอร์ตคลับอื่น ๆ ที่ยังไม่ทันสมัย จึงเตรียมพัฒนาสิ่งก่อสร้างต่าง ๆให้เกิดความสวยงาม และสามารถบริการให้แก่ภาคประชาชนโดยส่วนรวมให้มากที่สุด

Advertisement

“ราชตฤณมัยสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท บางกอก จ็อคกี้ คลับ จำกัด (Bangkok Jockey Club Co.Ltd.) หรือ BJC โดยใช้เม็ดเงินเบื้องต้นกว่า 600 ล้านบาทในการร่วมกันปรับโฉมให้สนามม้านางเลิ้งแห่งนี้ เป็นพื้นที่พักผ่อนของคนเมืองโดยมีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการ นำเทคโนโลยีและความทันสมัยเข้ามาใช้ให้กับบริการ รวมถึงการออกแบบแลนด์สเคป (Land scape) ให้เหมาะสมดูร่วมสมัยแต่ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายความคลาสสิคของสถาปัตยกรรมกว่า 100 ปี โดยอยากให้มองภาพสนามแห่งนี้เหมือนสวนสาธารณะทั่วไปที่สามารถมาเดินเล่นมาพักผ่อนและเล่นกีฬาในพื้นที่ได้อย่างสะดวกสบายต่อไป” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กร โครงการฯ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้เอกชัยได้ฉายภาพกว้างว่า จุดแข็งของราชตฤณมัยสมาคมมีเรื่องราวกว่าร้อยปี มีความร่วมสมัย มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาชุมชนแวดล้อม ที่สามารถเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ภายใต้โครงการ Community Hive ซึ่งสามารถรองรับทุกรูปแบบของกิจกรรมการพักผ่อนไลฟ์สไตล์คนเมือง ทั้งขี่ม้า เดินหรือวิ่ง ตีกอล์ฟ เทนนิส แบดมินตัน ว่ายน้ำ สปา หรือแม้แต่โปรแกรมพัฒนาเด็กออทิสติกส์ ด้วย “ม้าบำบัด” ภายใต้มาตรฐานสากล ตลอดจนร้านอาหารดั้งเดิมที่จะยังคงความคลาสสิคในรสชาติ แต่จะเพิ่มความเรียบโก้ให้ดูสง่างามสมกับสถานที่ อีกทั้งจะเพิ่มในส่วนของ ภัตตาคารที่พร้อมเสิร์ฟเมนูฟิวชั่น โดยเชฟมิชลินสตาร์ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้บริการที่ต้องการความร่วมสมัยยิ่งขึ้น โดยจะสามารถพร้อมให้บริการแบบเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 ปีนับจากนี้

ส่วนกิจกรรมที่ตอบโจทย์นั้น เอกชัย ยกตัวอย่างของตลาดนางเลิ้งที่มีความเก่าแก่คู่ขนานมากับสนามม้าแห่งนี้ว่า อาจมีเทศกาลของอร่อยตลาดนางเลิ้ง ภายในลานจัดกิจกรรมเพื่อให้เป็นอีกจุดพักผ่อนของคนเมือง หรืออาจมีเทศกาลดนตรี เทศกาลศิลปะ ตามวาระและโอกาสที่ภาคการศึกษา หรือภาคเอกชนอื่นๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ ราชตฤณมัยสมาคม เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวพักผ่อน และพื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมของชุมชนแบบ 360 องศา

“Community Hive จะเป็นการร่วมกันพัฒนาใน 4 ส่วนไปพร้อมกัน ส่วนแรกคือ Development ส่วนที่สองคือ Relaxation ส่วนที่สามคือ Social Connection และสุดท้ายคือ Economy โดยทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา หรือแม้แต่ประชาสังคม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ออกแบบกิจกรรม หรือใช้พื้นที่สำหรับการพักผ่อน เพื่อให้เกิด Social Connection ที่มีพลัง จนกระทั่งสามารถปันผลให้เกิดเป็นรายได้หรือ Economy ภาพใหญ่ได้”

สำหรับกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ คือกลุ่มคนเมืองรุ่นใหม่ที่ต้องการพื้นที่สำหรับการพักผ่อนส่วนตัวในอารมณ์ของความร่วมสมัยไม่ทิ้งความชิคและฮิป อยู่ใจกลางเมืองเดินทางไป- มาสะดวก ทั้งยังเป็นคนเมืองรุ่นใหม่ที่พร้อมรับไม้ต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ราชตฤณมัยสมาคม และพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างเป็น Social Connection ที่เข้มแข็งกระทั่งเกิดเป็นภาพรวมของรายได้ที่ดีขึ้นภายใต้ตัวประกอบสุดท้ายของ Hive ซึ่งก็คือ Economy นั่นเอง

“ในวันนี้มีสมาชิกเข้ามาใช้บริการในสมาคมอยู่ ประมาณ 20% ภายหลังจากการเปิดตัวโปรเจ็คต์นี้และการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อส่งต่อแนวคิดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ผมคาดหวังว่าอย่างน้อยจะมีผู้เข้ามาใช้บริการ Community Hive ทั้งหมด 50% ภายในสิ้นปีนี้ โดยพื้นที่สำหรับงานบริการทั้งหมดจะทยอยเปิดให้บริการเป็นลำดับ ส่วนการวัดผลโดยรวมของความสำเร็จโครงการนี้คงเป็นความสุขของคนในชุมชนพื้นที่โดยรอบที่เขาขายของได้ดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาชุมชนของเขาในที่สุด” เอกชัยกล่าวปิดท้ายด้วยเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image