ส่องศัพท์วัยรุ่นยุค 4.0 “นก-เท-ลำไย-ถถถ-ตะมุตะมิ” แต่ “จะน่ารักถ้าใช้ถูกกาลเทศะ”

เคยสังเกตกันไหมว่าช่วงที่ผ่านมา ทำไมเรามักจะมีศัพท์ใหม่ๆ ให้งงเด้ งงเด้ น้ำตาจะไหลกันอยู่เรื่อยๆ บางคำก็ฟังๆ ดูแล้วก็พอจะเก็ท แต่คำบางคำก็เข้าใจไม่ได้จริงๆ วันนี้เลยได้โอกาสรวบรวม “คำศัพท์เกิดใหม่” คำไหนที่พบเห็นบ่อย และน่าจะรู้ไว้คุยกับคนอื่นรู้เรื่องกันบ้าง

ประเดิมด้วย กลุ่มศัพท์ที่เพี้ยนมาจากการพิมพ์ผิดในแป้นพิมพ์บ่อยๆ หรือไม่ก็เน้นพิมพ์เอาถนัดอย่าง บ่องตง-บอกตรงๆ, ช่ะ-ใช่ป่ะ, จุงเบย-จังเลย, ฝุดๆ-สุดๆ ไปจนถึง น้ามคาน-น่ารำคาญ, อัลไล-อะไร และ น่าร็อคอ่ะ-น่ารักอ่ะ

แม้บางคำจะเดาได้ แต่บางคำก็ชวนงง เช่น “ถถถ” ใครเล่าจะรู้ว่าแปลงมาจาก “555” ที่ลืมเปลี่ยนภาษาในแป้นพิมพ์กันนั่นเอง ว่ากันต่อกับคำศัพท์ที่ได้ยินแล้วหลายคนต้องรู้ทันทีอย่าง “นก” ซึ่งแทนบุคคลที่ “ไม่สมหวัง” สักที โดยแรกๆ ใช้พูดถึงเรื่องความรักที่ไม่สมหวัง หรืออกหัก แต่หลังๆ ก็ลามไปใช้พูดถึงได้ทุกเรื่องในชีวิต คล้ายๆ กับคำว่า “ตุ๊บ” ที่แสดงอาการผิดหวัง ประหนึ่งหล่นลงจากที่สูงเลยทีเดียว อีกคำก็คือ “เท” ที่มักใช้กับสถานการณ์ที่ถูกบอกเลิก หรือโดนทิ้ง

หรือคำใหม่ล่าสุดที่กำลังมาแรงอย่าง “ตะมุตะมิ” ที่เกิดจากรายการวาไรตี้ประกวดร้องเพลงชื่อดัง แทนอากัปกิริยา “น่ารัก” ของหน้ากากทุเรียน มาพร้อมๆ กับคำว่า “งงเด้ งงเด้” ของหน้ากากจิงโจ้ ที่ใช้แทนอาการ “งงหนักมาก”

Advertisement

ข้ามมาที่คำศัพท์ที่มีกิมมิคเก๋ๆ จากการนำเอาชื่อผลไม้มาบรรยายอาการ อย่าง “ลำไย” ที่ใช้ในสถานการณ์รำคาญในความเยอะสิ่ง, “กล้วย” ที่แปลว่า ง่าย, เงาะ คือความงง “มะนาว” สื่อถึงความมโน และ “ส้ม” ก็คือยุ่งเรื่องของชาวบ้านนั่นเอง

เพื่อให้ครบครัน ย่อมไม่พลาดคำว่า ยิ้มอ่อน ที่หมายถึงยิ้มน้อยๆ อย่างเอ็นดู “สายเปย์” ว่ากันด้วยผู้ที่ชอบจ่ายเงินทุ่มเทให้กับบางสิ่งมากๆ, “ลั่น” คือเสียงขำอันดัง หรือบางสถานการณ์ก็ใช้กับการส่งแชตผิดห้องได้เช่นกัน

ต่อด้วย “โลกสวย” ในที่นี้หมายถึงการพูดถึงคนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ถ้ามีเรื่องราวดีๆ จนทำให้มีความสุขมากๆ เราก็อาจพูดถึงได้แบบเก๋ๆ ว่า “ดีต่อใจ”

Advertisement

ปิดท้ายกันด้วยเหล่าตระกูลคำย่อ ที่หลายคำกำเนิดมาจากการที่โซเชียลมีเดียอย่าง “ทวิตเตอร์” กำหนดให้พิมพ์ได้เพียง 140 ตัวอักษร ทำเอาวัยรุ่นต้องย่อให้สั้นเพื่อให้จบใจความในครั้งเดียว อาทิ “นตจล” – น้ำตาจะไหล , “จขกท.” – เจ้าของกระทู้, “ฟค.” – แฟนคลับ และ “ขก” ซึ่งก็คือ ขี้เกียจ นั่นเอง

 

 

ภาษาวัยรุ่น “จะน่ารักถ้าใช้ถูกกาลเทศะ”

เรื่องของคำวัยรุ่นที่มีให้เห็นมากมายนี้ จักรกฤต โยมพะยอม หรือ ครูทอม คำไทย ครูภาษาไทยชื่อดัง เผยว่า การที่ศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นสะท้อนธรรมชาติของภาษา ที่เมื่อใช้อยู่ในชีวิตประจำวันย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ไม่เหมือนภาษาที่ตายแล้ว ซึ่งการลื่นไหลนี้อาจมีทั้งเปลี่ยนการออกเสียง การสะกด ก็ได้

“ศัพท์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเปิดหนังสือพิมพ์ นิตยสารย้อนไปหลายสิบปี ก็อาจเจอคำอย่างจ๊าบ เปิ๊ดสะก๊าด ที่ทุกวันนี้ก็หายไปแล้ว เมื่อเรารู้สึกว่าคำเหล่านี้ล้าสมัย หรือใช้จนเบื่อ ตอนนี้ก็มีคำว่า บ่องตง จุงเบย นะครัช ที่เริ่มจะซาบ้างแล้ว กลายเป็นมีคำใหม่ๆอย่าง นก เท ลำไย เข้ามาแทน”

ซึ่งในเรื่องนี้ อาจารย์ทอมมองว่า จะใช้คำเหล่านี้ไม่ผิด แต่ต้องมีกาลเทศะ

“ศัพท์เฉพาะกลุ่มเหล่านี้ จะใช้คุยกัน แชตกันในหมู่วัยรุ่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากใช้กับผู้ใหญ่ก็อาจทำให้สื่อสารไม่เข้าใจ ยิ่งหากใช้กับการเขียนข้อสอบ หรือบทความทางวิชาการยิ่งไม่เหมาะสม แสดงออกว่าผู้ใช้แยกแยะไม่ได้ว่าควรเป็นทางการหรือไม่ นำมาซึ่งปัญหา และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ผู้ใช้ภาษาเองได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

“หลายคนมองว่าใช้ภาษาถูกต้องก็พอแล้ว แต่ไม่ใช่ เช่น ค่ะและคะ เปลี่ยนความหมายได้ หากเจ้านายสั่งแล้วเลขาตอบว่า ค่ะ ก็คือรับทราบ แต่ถ้า คะ กลับหมายถึงสงสัย ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่จำเป็นต้องระมัดระวัง” ครูทอมทิ้งท้าย

 

จักรกฤต โยมพะยอม หรือ ครูทอม คำไทย ครูภาษาไทยชื่อดัง
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image