เปิด 3 โรงพักนำร่อง ปฏิรูป “ตร.” ใช้ไฮเทคช่วย “ปชช.”

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เดินหน้า “ปรับโฉม” องค์กรตามโรดแมป “ปฏิรูปตำรวจ” โฟกัสที่หัวใจของงานตำรวจ “โรงพัก” ที่สัมผัสกับประชาชนใกล้ชิด
มากที่สุด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) เปิดตัว “สถานีตำรวจล้ำสมัย” สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หัวเรือใหญ่โครงการนี้ เผยว่า โครงการ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” เป็นการปรับปรุงสถานีตำรวจให้มีระบบการทำงานที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพการทำงานให้กับตำรวจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ที่สำคัญ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจของตำรวจ ซึ่งประชาชนกังวลมาตลอด เมื่อเรานำเทคโนโลยีมาใช้เกือบทุกขั้นตอน เชื่อว่าช่วยให้ประชาชนวางใจตำรวจมากยิ่งขึ้น
โครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย มีการพัฒนาทั้งอาคาร สถานที่ สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบการบริหารงาน และบุคลากร เพื่อความล้ำสมัยใน 5 ด้าน

Advertisement

คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ด้วยการจัดพื้นที่ให้บริการอย่างเหมาะสม 2.นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน อาทิ กล้องวิดีโอเคลื่อนที่ อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ในการตรวจสอบสภาพการจราจร และติดตามตัวผู้กระทำความผิด 3.พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ เชื่อมโยงข้อมูลการะบวนการยุติธรรมที่จำเป็นต่องานสืบสวนสอบสวน 4.ป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่อย่างเข้มงวด และ 5.ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค

โครงการนี้นำร่องใน 3 สถานีตำรวจ ที่เป็นตัวแทนของชุมชน 3 ประเภท คือ สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ ตัวแทนชุมชนเมือง สถานีตำรวจภูธรบางแก้ว ตัวแทนแหล่งอุตสาหกรรม และสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ตัวแทนเมืองท่องเที่ยว จะมีการติดตามและประเมินโดยเทียบกับสถานีตำรวจที่มีสภาพพื้นที่เหมือนกัน โดยวัดดัชนีการป้องกันอาชญากรรม ความพึงพอใจของประชาชน ก่อนจะขยายการพัฒนาไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ

“เชื่อว่าสถานีตำรวจล้ำสมัยจะสร้างความพึงพอใจ เพิ่มความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนได้” ผบช.นรต.บอกอย่างมั่นใจ

ขณะที่ วัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมคือระบบการทำงานที่ไม่ทันสมัย มีขั้นตอนมาก การให้บริการที่ล่าช้า ซึ่งแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2558-2561) กำหนดให้มียุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพระบบการให้บริการประชาชน โดยให้ปรับปรุงสถานีตำรวจให้บริการประชาชนอย่างอย่างสะดวก รวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาช่วยผู้ปฏิบัติงาน เช่น ระบบ E-Filing หรือการส่งต่อสำนวนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น โครงการ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” จึงเกิดขึ้น เพราะสถานีตำรวจเป็นต้นทางของงานกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้ประเทศกำลังขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉะนั้น งานด้านกระบวนการยุติธรรมจึงมีส่วนขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน

“เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งของ “สถานีตำรวจล้ำสมัย” คือการพัฒนาการให้บริการประชาชนด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ ประชาน รวมทั้งนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น” วัลลภสรุป

พ.ต.อ.สุพีรณัฐ สัตตธนชัยภัทร รอง ผบก.น.9 บอกว่า สน.ภาษีเจริญ ต้นแบบสถานีตำรวจล้ำสมัย ในบริบทชุมชนเมือง เป็นช่วงที่ชุมชนเดิมเปลี่ยนเข้าสู่ชุมชนสมัยใหม่ เป็นที่พักอาศัยของคนรุ่นใหม่ มีการคมนาคม รถไฟฟ้า มหาวิทยาลัย ดังนั้น การมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับ จึงน่าจะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

“ปัจจุบันเราอยู่ในสังคม Smart Enterprises ประชาชนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ดังนั้น ตำรวจต้องปรับให้ทัน เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นแจ้งเหตุชื่อว่า “Police i lert u” ทำให้แจ้งเหตุร้ายได้เร็วขึ้น และได้ข้อมูลครบถ้วน ซึ่งจะมีแผนที่แจ้งเหตุระบบจีพีเอส ว่าผู้แจ้งอยู่ในพื้นที่จุดไหน พร้อมทั้งมีเบอร์โทรศัพท์โชว์ขึ้นมาเราสามารถโทรหาได้เลย เป็นการช่วยเหลือแบบทันทีทันใด ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ขณะนี้มีผู้ใช้ประมาณ 100,000 คน ขณะที่ตำรวจสายตรวจเองก็ต้องล้ำสมัย มีกล้องติดหมวก วิทยุสื่อสาร กระบองกัทส์บาตองกรณีมีเหตุหนักอย่างเมื่อก่อนจากมือเปล่าก็ใช้อาวุธปืนเลย แต่ตอนนี้มีกระบองกัทส์บาตองช่วยระงับเหตุเป็นอาวุธที่สากลล้ำสมัยมากขึ้น ลดการปะทะระหว่างผู้กระทำผิดและตำรวจ “สถานีตำรวจล้ำสมัยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ตำรวจหนึ่งคนทำงานได้มากกว่าเดิม ช่วยได้ทั้งคดีอาญา การสืบสวนสอบสวน การจราจร ดังนั้น สถานีตำรวจล้ำสมัยจะสร้างความพึงพอใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากขึ้น” พ.ต.อ.สุพีรณัฐยืนยัน

ด้าน พ.ต.อ.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผกก.สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ เสริมว่า สภ.บางแก้ว เป็นสถานีตำรวจล้ำสมัยในบริบทพื้นที่อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การทำงานของตำรวจต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองประชาชน พื้นที่บางนาเป็นประตูเข้าออกของกรุงเทพฯ รถทุกคันที่ผ่านก็จะมีกล้องวงจรปิดเชื่อมโยงมาห้องคอนโทรลรูม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล และรองรับการดึงภาพจากท้องถิ่น โดยเชื่อมต่อระบบเครือข่าย IP Address มายังห้องคอนโทรลรูมได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิสูจน์การกระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว มีอุปกรณ์พิเศษเข้ามาช่วย เช่น กล้องสอดแนม โดรน เป็นต้น

“ในฐานะมดงานที่สัมผัสกับประชาชนโดยตรง เมื่อมีความพร้อมในองค์ความรู้ เครื่องมือ สถานที่ ขวัญกำลังใจ การทำหน้าที่ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน เพื่อความพึงพอใจของประชาชน” ผกก.สภ.บางแก้วมั่นใจ

ขณะที่ พ.ต.อ.อภิชัย กรอบเพชร ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี แจกแจงว่า สภ.เมืองพัทยา อยู่ในบริบทเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยว จากทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีการพัฒนาความเจริญเติบโตของเมืองมาต่อเนื่อง ทำให้มีปัญหาอาชญากรรมเพิ่มเป็นเงาตามตัว

“สภ.เมืองพัทยา ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก จึงต้องมีระบบการทำงานที่ทันสมัย ตามมาตรฐานสากล รองรับประชาคมอาเซียน โครงการสถานีตำรวจล้ำสมัย สามารถตอบโจทย์ได้ มีการนำโดรนมาช่วยทำหน้าที่สายตรวจ หลายครั้งที่ถนนคนเดินในพัทยา คลาคล่ำไปด้วยฝูงชน ตำรวจเข้าไปไม่ถึง โดรนทำให้เราเห็นภาพมุมกว้าง” พ.ต.อ.อภิชัยแจกแจง

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผบ.นรต. ผู้หัวเรือใหญ่โครงการนี้ สรุปทิ้งท้ายว่า “โครงการโรงพักต้นแบบ เริ่มตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุน
ของรัฐบาล และทำต่อเนื่อง แม้จะมีการโยกย้ายหัวหน้าโรงพักก็ตาม โครงการนี้เป็นหนึ่งในการปฏิรูปตำรวจให้ดีดั่งความคาดหวังของสังคม คู่ขนานกับการปฏิรูปด้านอื่นๆ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image