อ.จุฬาฯ ชี้ ‘บทเรียนจากเรือดำน้ำ สะท้อนกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศไทย’

วันนี้ (3 พ.ค.) รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นกรณีการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากกรณีดังกล่าว กับกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศ มีรายละเอียดดังนี้

แล้วรัฐบาลก็อนุมัติงบประมาณให้กองทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ ผู้คนต่างก็ออกมาตั้งคำถามถึงความจำเป็นทั้งในแง่มุมของการป้องกันประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย บทบาทของไทยในเวทีโลก และความเหมาะสมต่อสภาพภูมิศาสตร์ทางทะเลของประเทศไทย แน่นอนว่ากลาโหมและกองทัพเรือออกมาชี้แจง แต่ก็ไม่เป็นที่พอใจอยู่เลย ผมติดตามปรากฏการณ์นี้อย่างปลง ๆ เพราะการซื่้อเรือดำน้ำเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของก้อนน้ำแข็งอันเหลวแหลกของกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศไทยเท่านั้นเอง

ปัญหาหลักของการพัฒนาประเทศไทยคือการเห็นภาพในองค์รวม และความเป็นเอกภาพในการพัฒนา ถ้าเทียบเคียงกับกรณีเรือดำน้ำ สิ่งที่ต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนจะเรียงแบบนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์และ position ของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมีประเด็นทางขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นตัวนำ – ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพิ่งออกมาไม่ถึงปีเท่านั้น ยังอยู่ในช่วงประชาสัมพันธ์ อีกทั้งเป้าหมายก็ไม่ชัดเจน มีแค่ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แล้วไปแปลต่อเอาเอง

Advertisement

ขั้นที่ 2 หน่วยงานรัฐแต่ละกระทรวงมีหน้าที่ไปวางแผนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของตนเองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และ position ของประเทศ แน่นอนว่า ด้านความมั่นคงของประเทศก็ต้องถูกวางในระดับความเข้มข้นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และ position ของประเทศตามขั้นที่ 1 เช่น ถ้าเราวางว่าเราจะเป็นพี่ใหญ่แห่งอาเซียน นอกจากสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เราจะต้องพัฒนาให้เป็นผู้นำของภูมิภาคแล้ว แน่นอนว่า คมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบุคลากรของเราก็ต้องพัฒนาให้สามารถสนับสนุนการเป็นพี่ใหญ่ เราก็ต้องมีกำลังทหารที่สอดคล้องกับความเป็นพี่ใหญ่ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเราจะเป็นน้องเล็ก เราก็ต้องเดินอีกแบบในฐานะผู้ตาม กำลังทหารก็จะลดขนาดไปตามนั้น – กระทรวงกลาโหมเป็นแดนสนธยา ไม่เคยมีใครรู้ว่าเขาวางแผนอะไรอย่างไร ทำอะไรก็ตรวจสอบหรือติดตามความคืบหน้าไม่ได้ ดังนั้นไม่มีใครรู้ว่าแผนด้านความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างไร ตรงกับนโยบายภาพรวมของรัฐบาลหรือไม่ จริงๆ แล้วอย่างน้อยต้องตรวจสอบได้โดยมหาชน ว่าอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นความลับไปหมด

ขั้นที่ 3 เมื่อแต่ละกระทรวงได้แผนพัฒนาซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศแล้ว ก็ส่งให้ ครม. ตรวจสอบและอนุมัติ จากนั้นก็มอบให้กรมต่างๆ ไปทำต่อในกรอบของตนเอง ภายใต้ภาพรวมใหญ่ กองทัพเรือก็เช่นกัน – สิ่งที่ขาดหายไปคือ กลาโหมแยกออกเป็นทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ก็ต้องแบ่งงานให้ชัด แน่นอนว่าอาจจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ประเทศไทยอาจจะเน้นการป้องกันทางบกและทางอากาศมากกว่าทางน้ำ แต่ก็ต้องเห็นภาพว่า เรามีประเด็นความเสี่ยงและต้องปิดความเสี่ยงนั้นอย่างไรในภาพรวมและภาพระดับกองทัพ

ขั้นที่ 4 จัดการดำเนินการตามแผน ทั้งการจัดตั้ง ฝึกอบรม จัดซื้อ จัดบุคลากรที่สอดคล้องกับแผนของแต่ละกรมกอง – ขั้นนี้มีแน่นอนครับ คือ ทัพบกซื้อรถถัง ทัพเรือซื้อเรือดำน้ำ ทัพอากาศซื้อเครื่องบิน แต่ขั้นที่ 1-3 อยู่ไหนล่ะครับ

Advertisement

จากการที่กลาโหมและกองทัพเรือออกมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ มีแค่ขั้นที่ 4 บอกว่าเรือดำน้ำที่เลือกมาแล้วดีอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเรือดำน้ำอันนี้สอดคล้องกับทิศทางและบทบาทของประเทศอย่างไร ถ้าตรงนี้มีความชัดเจน คุณตอบคำถามประชาชนได้ทุกข้อ เพราะสิ่งที่เขาอยากรู้คือ เรือดำน้ำนี้สำคัญอย่างไรกับภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่ประกาศปาวๆ ว่าเรือดำน้ำนี้เทพอย่างไรแค่นั้น

ที่น่าเศร้ามากกว่านั้น คือ การวางแผนทุกอย่างในประเทศไทยก็เป็นแบบกรณีเรือดำน้ำนี่แหละ มีขั้นที่ 4 ก่อนเลย ว่าฉันอยากได้อะไร ฉันไปดูงานประเทศนู้นประเทศนี้มา เขามีนั่นมีนี่ ประเทศไทยต้องมีบ้างสิ โดยไม่คิดเป็นระบบจากขั้นที่ 1-3 มาก่อน เราจึงมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพกองอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ มากมายไงล่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image