สกอ.หนุนออกพ.ร.บ.รองรับสวัสดิการพนักงานมหา’ลัย ตั้ง 2 กองทุน ‘สุขภาพ-สำรองเลี้ยงชีพ’

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลของพนักงานมหาวิทยาลัย ระหว่างนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ(CHES) และนางพัทนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการ(CHES) พร้อมด้วยคณาจารย์ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ว่า พนักงานมหาวิทยาลัยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 110,000 คน โดยพนักงานต้องใช้สิทธิการรักษาพยาบาลผ่านประกันสังคม ซึ่งพนักงานต่างออกมาร้องเรียนเรื่องด้อยมาตรฐานการรักษา ทั้งด้านให้การบริการและยา ทั้งที่จ่ายเงินเข้าระบบมากกว่าข้าราชการ

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนสุขภาพด้านรักษาพยาบาล โดยให้ สปสช.เป็นผู้บริหารกองทุน ซึ่งในการหารือ นพ.ประจักษวิช รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สามารถออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนสุขภาพพนักงานมหาวิทยาลัยได้ ดังเช่นกรณีที่ สปสช.เคยทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาแล้ว โดยในขั้นแรกจะต้องให้ระดับนโยบายคือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเห็นชอบร่วมกันในหลักการก่อน

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า โดยในการประชุม นายสุภัทร เลขาธิการ กกอ.ระบุว่าเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงมอบหมายให้ตัวแทนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมประชุมในฐานะคณะทำงานประสานงานกับทาง สปสช.จัดทำขั้นตอนรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ตนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ซึ่งหากรัฐมนตรีเห็นชอบจะได้ดำเนินการต่อ ซึ่งแนวทางที่ต้องดำเนินการอาจต้องออกเป็น พ.ร.บ.สิทธิประโยชน์และสวัสดิการพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยรวมเรื่องกองทุนการรักษาพยาบาลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ด้วยกัน โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันการให้แต่ละสถาบันดำเนินการจัดตั้งกองทุนเองทำให้กระจัดกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก กลายเป็นกองทุนที่เล็ก ได้ผลตอบแทนต่ำ จึงควรนำมารวมกันแล้วจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงานมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ หรือหาแนวทางให้พนักงานมหาวิทยาลัยสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ได้

“ในที่ประชุม เลขาธิการ กกอ.ยังกล่าวด้วยว่า ในรายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะนัดหารือร่วมกับตัวแทน กบข.เพื่อหาแนวทางร่วมกันในโอกาสต่อไป คิดว่าหากสามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ก็จะเป็นการตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของพนักงานมหาวิทยาลัย ได้มากกว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีทั้งข้าราชการและพนักงานออกมาคัดค้านอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ไม่ตอบโจทย์พนักงานดังกล่าวแล้ว ยังไปกดขี่ ลดศักดิ์ศรี และความมั่นคงของข้าราชการลงอีกด้วย” นายรัฐกรณ์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image