บุกโรงงานผลิต ‘รถไฟจีน’ ปลอดภัย คุ้มค่า มีคุณภาพ จริงหรือ?

รถไฟจีน

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ ไฮสปีดเทรน (High Speed Rail – HSR)นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ ที่ผ่านมามีการเสนอโครงการก่อสร้างและพัฒนาระบบโดยมีต้นแบบจากประเทศต่างๆ จำนวนมาก

แต่ที่มีการพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพเมื่อเทียบกับ “ระบบราง” จากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ เยอรมนี

รถไฟฟ้าความเร็วสูงรูปแบบต่างๆ

เมื่อมีตัวเลือกมากมาย การที่ประเทศไทยมือร่วมมือกับประเทศจีนจึงเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นไม่น้อย

และเพื่อให้เกิดความมั่นใจทุกฝ่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องศึกษาข้อมูลรอบด้าน และบุกไปถึงแหล่งผลิตจริง

Advertisement

ดังนั้นคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน พร้อมด้วย บัณฑิต ศิริตันหยง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิสาหกิจของ กทม. ที่ดูแลระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จึงทางเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟใต้ดิน และ รถไฟฟ้าความเร็วสูง บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ซื่อฟาง ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยมี หม่า หยุนชวง ผู้จัดการใหญ่บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมโรงงานผลิต และจุดทดสอบการทำงานของรถไฟฟ้าด้วย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง พร้อมคณะ และ พินิจ จารุสมบัติ เยี่ยมชมบริษัทผลิตรถไฟ ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง โดยมี หม่า หยุนชวง ต้อนรับ

เจ้าหน้าที่ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง อธิบายว่า โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2443 เป็นบริษัทผลิตรถไฟที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก ยังเป็นผู้ผลิต รถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า รางรถไฟ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งยังเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการคมนาคมชั้นแนวหน้าของจีน นอกจากนี้ยังมีคู่ค้าทั้งในจีนและต่างประเทศ เช่น รถไฟใต้ดินปักกิ่ง เฉิงตู เสิ่นหยาง เทียนจิน รถไฟอิรัก อาร์เจนตินา สิงคโปร์ ทั้งยังมีพันธมิตรจาก แคนาดา (Bombardier Transportation) ญี่ปุ่น (Kawasaki Heavy Industries)

Advertisement
บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง

“ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง ผลิตรถไฟหลายรูปแบบ ในช่วงแรกเราเริ่มต้นจากการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้พัฒนาเทคโนโลยีของจีนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ส่วนวัสดุที่นำมาใช้ในโรงงานส่วนใหญ่สามารถผลิตได้ที่ประเทศจีน มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องสั่งเข้ามา โดยมีการคัดคุณภาพเป็นอย่างดี ทั้งนี้ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟางนอกจากจะมีส่วนวิศวกรรมผลิตที่จะสร้างโบกี้และประกอบรวมแล้ว ยังมีสถานที่ทดลองระบบโดยจำลองจากสถานการณ์จริง ว่ารถไฟสามารถทำงานได้จริง เช่น จำลองการลอดอุโมงค์รถไฟ จะมีผลกับผู้โดยสารในเรื่องเสียงและความดันอากาศหรือไม่” เป็นคำอธิบายขณะเยี่ยมชมในส่วนต่างๆ ที่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ

หลังการศึกษาและเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟ บัณฑิต ศิริตันหยง เป็นตัวแทน “กรุงเทพธนาคม” ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent หรือ LOI) กับ สิง ลู่เจิ้ง ประธานบริษัท การก่อสร้างและการลงทุนกลุ่มเมืองชิงเต่า (Qingdao City Construction Investment Group) เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ การอบรมพนักงาน การลงทุน และด้านอื่นๆ เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent หรือ LOI)

บัณฑิต เล่าถึงความเป็นมาก่อนการลงความ ในหนังสือแสดงเจตจำนงครั้งนี้ว่า ตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ให้กรุงเทพธนาคม ทำภารกิจดูแลรถไฟฟ้าใน กทม. ทั้งเรื่องอัตราค่าโดยสาร ต้นทุน รวมถึงการพัฒนาเส้นทางและรูปแบบต่อไป จะทำอย่างไรให้มีการลงทุนที่สมเหตุสมผลไม่ใช่ราคาสูงเกินไป จึงได้พูดคุยกับหลายบริษัทในกลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการขนส่งและการคมนาคม และเห็นว่าบริษัทที่ชิงเต่า ในฐานะที่มีความร่วมมือกันมายาวนานมีความน่าสนใจ

“พอมาดูที่ ซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง ก็เห็นเรื่องกระบวนการและการพัฒนารถไฟ ซึ่งเขามีอุตสาหกรรมที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก และมีการดำเนินการ รูปแบบ ตลอดจนการป้องกันภัยที่ดีมาก จึงมีการหารือและลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง ด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาต่างๆ ไปในทิศทางที่มีมาตรฐานมากกว่าเดิม การเดินทางครั้งนี้จึงมีการลงนามที่จะพัฒนา ต่อยอดร่วมกันต่อไปในอนาคต” บัณฑิต อธิบาย

บัณฑิต ศิริตันหยง

สำหรับข้อกังวลต่างๆ ที่เกิดขึ้นหากมีความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน นั้น บัณฑิต บอกว่า จากการมาเยี่ยมชมอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟที่เมืองชิงเต่า การันตีได้ว่าวันนี้เขาไปไกลแล้ว คุณภาพของรถไฟจีนขายไปทั่วโลก มีการผลิตถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของรถไฟทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศแมกซิโก อินโดนีเซีย ขณะที่รถไฟในประเทศจีนเองปัจจุบันมีรถไฟความเร็วสูงประมาณ 24,000 กิโลเมตร และเขากำลังจะขยายออกไปอีก 15,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อรถไฟไปยังต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเยอรมันและรัซเซียแล้ว และอนาคตจีนกำลังจะทำรถไฟไปถึงอังกฤษ ผ่าน 16 ประเทศ

“แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เรื่องความปลอดภัยของรถไฟจีนสูงมาก อาจจะมากกว่าประเทศที่เคยทำรถไฟในระดับท็อปด้วยซ้ำ เช่นเปรียบเทียบกับ ชินคันเซ็น ของประเทศญีปุ่น 3 -4 ปีมานี้มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถไฟ 2 ครั้ง ขณะที่จีน มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถไฟ 3 ครั้ง แต่ชินคันเซน มีระยะทางแค่ 6,000กิโลเมตร แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนมีระยะทางประมาณ 24,000 กิโลเมตร ซึ่งเฉลี่ยเรื่องความปลอดภัยถือว่ามากกว่า และเรื่องค่าโดยสารต้นทุนและความนิ่งตอนนี้ไม่แพ้กันเลย อาจจะมีเรื่องของการพัฒนาความเร็วเท่านั้น” บัณฑิต

จากซ้าย พินิจ จารุสมบัติ, หม่า หยุนชวง, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ บัณฑิต ศิริตันหยง เยี่ยมชมโบกี้รถไฟจากประเทศจีน

และว่า หลังจากนี้กรุงเทพธนาคมจะต้องดูเรื่องรูปแบบและต้นทุน เพื่อที่ต่อไปไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีอะไรก็ตามที่จะเข้ามาดำเนินการ จะมีธงแล้วว่าจะมีต้นทุนต่อกิโลเมตรเท่าไหร่ ค่าโดยสารจะเป็นแบบไหน อีกทั้งในอนาคตมองว่าจะมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งมาจากหลายจังหวัด เช่น สายตะวันออก สายโคราช ที่ตอนนี้ได้ศึกษาไปค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ยังมีสายอื่นๆ อีกที่จะลำเรียงคนเข้าสู่กรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันต่อไปเพราะคนที่จะเข้ามามีปริมาณมาก เปรียบเหมือนคนวิ่งมาด้วยรถสิบล้อพอมาถึงกรุงเทพเหลือแค่รถเล็กๆ อย่างรถตู้ ตรงนี้จะจัดการเรื่องการคมนาคมอย่างไร สถานีเชื่อมต่อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดตั้งแต่วันนี้

บัณฑิต ทิ้งท้ายอีกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบขนส่งมวลชน พัฒนารถไฟได้ทั้งระบบเมื่อไหร่ คนจะใช้รถยนต์น้อยลงและหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรและยังเป็นประโยชน์เรื่องลดการนำเข้าน้ำมัน ดังนั้นการพัฒนาระบบรถไฟจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด

เป็นอีกความเห็นเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่ยังต้องศึกษากันต่อไป เพราะระบบรางเป็นเรื่องใหญ่และเป็นก้าวสำคัญของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image