คอลัมน์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตลาด,สังคม,และรัฐกับสื่อ

แม้ว่าหมายถึงคนหมู่มากเหมือนกัน แต่คำว่า “สังคม” กับ “ตลาด” มีความหมายแตกต่างกันมาก ผมขอสรุปความแตกต่างสำคัญในทรรศนะของผมไว้ดังนี้

1/ คนในตลาดคิดถึงตนเองล้วนๆ ซื้อหรือขายสินค้าและบริการนี้แล้ว ตัวจะได้อะไร คุ้มหรือไม่ คนอื่นไม่เกี่ยว แม้แต่คิดถึงคู่แข่ง ก็คิดจากประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้ง ตลาดดำรงอยู่ได้ โดยไม่จำเป็นว่าคนในตลาดต้องมีความปรารถนาดีต่อกัน

คนในสังคมคิดถึงส่วนรวมหรือคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แม้คิดถึงตนเองก็คิดในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวม ได้เสียไปด้วยกัน สังคมจึงเป็นบ่อเกิดของความคิดทางศีลธรรม ซึ่งหมายถึงความคิดที่คิดถึงคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่น (เช่นความคิดว่าไม่ควรเบียดเบียนกัน ก็คือมีอย่างอื่นในสายตานั่นเอง) สังคมจึงดำรงอยู่ได้ เพราะคนในสังคมมีความปรารถนาดีต่อกัน

2/ ด้วยเหตุดังนั้น ตลาดจึงกำกับตนเองไม่ได้ จริงอยู่ความเห็นแก่ตัวของทุกคนในชุมชนตลาด อาจทำให้ไม่มีใครเอาเปรียบใครได้ง่ายๆ แต่การหลอกลวง (ให้ข้อมูลเท็จ) ความรู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน (ข้อมูลกระจายไม่เท่ากัน) การเข้าถึงเครื่องมือในการหากำไรมีไม่เท่ากัน การยึดเอาสมบัติร่วมไปใช้คนเดียว (เช่นที่ดินซึ่งไม่ควรเป็นสมบัติของใคร เพราะไม่มีใครสร้างขึ้น) ธรรมชาติของตลาดดังที่กล่าวนี้ กลับเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ในตลาดถูกเอาเปรียบโดยคนส่วนน้อย จนแทบจะเอาชีวิตตนเองและครอบครัวให้รอดไม่ได้

Advertisement

ตรงกันข้าม สำนึกทางสังคมไม่อนุญาตให้ใครเอาเปรียบคนอื่นได้อย่างนั้น และพยายามเข้าไปปกป้องคนอ่อนแอ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

ด้วยเหตุดังนั้น ตลาดจึงต้องถูกกำกับควบคุม สมัยโบราณเมื่อตลาดยังเล็ก สังคมสามารถกำกับควบคุมตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะชีวิตที่ขาดศีลธรรมในตลาดเพียงอย่างเดียว ทำให้บุคคลไม่อาจมีชีวิตร่วมอยู่ในชุมชนสังคมได้อย่างสงบสุข ผู้คนจึงต้องประนีประนอมระหว่างความเห็นแก่ตัวกับความเห็นแก่ส่วนรวม แต่เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น คนที่อยู่ในตลาดอาจไม่ได้อยู่ร่วมสังคมเดียวกันอีกแล้ว สังคมก็หมดอำนาจที่กำกับควบคุมตลาดอย่างได้ผลอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์มักถูกสรุปอย่างง่ายเกินไปว่า เมื่อตลาดใหญ่ขึ้น จึงทำให้คนในตลาดต้องการรัฐที่ใหญ่และเข้มแข็ง เพื่อขยายประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อนี้ก็จริง แต่จริงครึ่งเดียว เพราะในขณะที่ตลาดต้องการรัฐเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว สังคมก็ต้องการรัฐเข้มแข็ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมตลาดด้วย ในประวัติศาสตร์อเมริกัน เราจะพูดถึงแต่อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ฝ่ายเดียว โดยไม่พูดถึงธอมัส เจฟเฟอร์สัน เลยไม่ได้ ในประวัติศาสตร์ยุโรป เราจะพูดถึงอดัม สมิธ มาจนถึงริคาร์โดฝ่ายเดียว โดยไม่พูดถึงมาร์กซ์และนักสังคมนิยมอีกหลายต่อหลายคนไม่ได้

Advertisement

รัฐในปัจจุบันกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ทั้งใหญ่และมีประสิทธิภาพ ซึมลึกเข้าไปกำกับควบคุมประชาชนทุกหมู่เหล่า ไม่เฉพาะแต่พฤติกรรมทางกายเท่านั้น คิดหรือแม้แต่ฝันอะไร ก็มีรัฐซุกอยู่ที่ไหนสักแห่งเพื่อชักใยความคิดและความฝันอยู่ระดับหนึ่ง

ทั้งตลาดและสังคมต่างแข่งกันเข้าไปควบคุมรัฐ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของตน และปฏิเสธไม่ได้ว่า ดูเหมือนตลาดจะมีไพ่เหนือกว่าในการใช้รัฐเป็นเครื่องมือการทำกำไรของตนเอง ในขณะที่สังคมต้องถอยออกจากปริมณฑลการกำกับควบคุมรัฐที่ตนเคยสถาปนาขึ้นไว้ โดยเฉพาะในประเทศที่ระบอบประชาธิปไตย (แม้ในขั้นเริ่มต้น) ถูกยกเลิกไปด้วยกำลังอำนาจของกลไกรัฐ ตลาดก็รุกเข้าไปคุมรัฐได้ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ เพราะประชาธิปไตยไม่ว่าจะบกพร่องอย่างไร ก็ยังเป็นหนทางเดียวที่สังคมสามารถใช้ประโยชน์ในการกำกับควบคุมรัฐ จากภัยคุกคามทั้งของตลาดและของรัฐเองได้

ผมสรุปความต่างสำคัญระหว่างตลาดและสังคมเพียงพอที่จะพูดถึงสื่อไทย และการต่อสู้ของสื่อกับร่าง พ.ร.บ.ใหม่ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไม่ค่อยใส่ใจกับการต่อสู้ของสื่อเท่าไรนัก แม้แต่ในสื่อสังคม ผู้ที่ออกมาเขียนข้อความคัดค้านร่าง พ.ร.บ.เกือบทั้งหมด ล้วนเป็นคนใน “วงการ” ทั้งสิ้น

ในโลกที่เป็นจริงของปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอดีต มนุษย์มีชีวิตสองด้าน คือในตลาดและในสังคมเสมอ ไม่มีใครอยู่ในตลาดล้วนๆ และไม่มีใครอยู่ในสังคมล้วนๆ แม้แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำในตลาด ก็มีมิติทางสังคมแทรกอยู่ด้วย คนกวาดถนนพูดเสมอว่า เขามีส่วนอย่างมากในการทำให้เมืองน่าอยู่ เช่นเดียวกับเสี่ยเกษตรที่รวยล้นฟ้า ยังยอมเสียเงินลงโฆษณาในสื่อว่าตัวเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกอะไรบ้าง

สื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของความกำกวมระหว่างตลาดและสังคม

สื่อเป็นธุรกิจแน่ แต่เป็นธุรกิจประหลาด เพราะต้องค้ากำไรกับประโยชน์ทางสังคมของผู้ซื้อ ดังนั้นการกำกับควบคุมสื่อที่สำคัญที่สุดคือตลาดและสังคม คนทำสื่อต้องสร้างความสมดุลที่พอเหมาะในการตอบสนองต่อตลาดและต่อสังคม ในสัดส่วนที่เปิดให้สังคมมีบทบาทนำสูงกว่า

ตลาดอย่างเดียวกำกับควบคุมสื่อไม่ได้ เพราะตลาดมุ่งประโยชน์เฉพาะตน จึงใช้กำลังอำนาจของตนในการกำกับควบคุมให้สื่อป้อนความถูกใจให้แก่ตนเท่านั้น แน่นอน ปัจเจกบุคคลในตลาดแต่ละคนก็มีสำนึกทางสังคมอยู่ด้วย เมื่อรู้สึกสลดใจอย่างแรงกล้าต่อการข่มขืนเด็ก ก็เรียกร้องให้ประหารชีวิต โดยไม่สนใจพิจารณาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม หรือวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของอาชญากร ผลก็คือการข่มขืนกระทำชำเราในสังคมไทยก็ยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิม และมักมุ่งไปที่เด็กเพราะเป็นเหยื่ออ่อนแอที่สุด

ในทำนองเดียวกัน สังคมอย่างเดียวก็กำกับควบคุมสื่อไม่ได้ แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน สังคมไม่สู้จะมีอำนาจในมือมากนัก โดยเฉพาะสังคมที่ขาดการจัดองค์กรรูปแบบต่างๆ เช่นสังคมไทย พลังที่จะขับเคลื่อนเพื่อกำกับควบคุมสิ่งหนึ่งสิ่งใดจึงมีน้อยมาก การกำกับควบคุมของสังคมไทยจึงมักกระทำผ่านคนดัง เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบสื่อแทนสังคมคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สั่งให้ละครที่ออกทีวีไปตอนเดียวหยุดออกอากาศทั้งเรื่องก็ได้ สั่งให้หนังสือพิมพ์ถอนข่าวออกก็ได้ สั่งให้หนังไทยเรื่องใดมีคนดูล้นหลามก็ได้

ไม่ว่าการวินิจฉัยของคุณคึกฤทธิ์จะถูกหรือผิด แต่นั่นเป็นอันตรายต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะทำให้สังคมอ่อนแอเสียจนไร้พลังของตนอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นแบบอย่างของการกำกับควบคุมเกือบจะอย่างเดียวที่สังคมไทยมีอยู่ หากใครคิดว่าลูกสาวตนไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าเพิ่งไปแจ้งความ จนกว่าจะได้ติดต่อกับมูลนิธิปวีณา หงสกุล เสียก่อน สื่อก็จะพากันมาทำข่าวเรื่องนั้นอย่างเข้มข้น และติดตามจนเกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

ความจริงแล้ว การกำกับสื่อด้วยคนดังไม่ได้เป็นวิธีเดียวที่สังคมไทยมี ยังมีรัฐอยู่อีกอย่างหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง แต่เนื่องจากสังคมไทยมีอำนาจกำกับควบคุมรัฐน้อย รัฐจึงไม่ได้กำกับควบคุมสื่อตามคำสั่งของสังคม แต่ทำไปเพื่อใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และป้องปรามมิให้สื่อโจมตีผู้คุมอำนาจรัฐ (ทั้งโดยถูกและไม่ถูกกฎหมาย)

สังคมเพียงอย่างเดียวกำกับควบคุมสื่อไม่ได้ แต่หากสังคมมีพลัง สังคมก็จะกำกับควบคุมสื่อผ่านพลังของตลาด สื่อที่สังคมมองเห็นว่าไร้คุณภาพ หรือเป็นภัยต่อส่วนรวมก็จะทำให้ยอดขายตก และไม่มีใครทำตาม หากสังคมรังเกียจละครที่พระเอกเป็นนักข่มขืนจริง จะไม่มีใครกล้าทำละครลักษณะนั้นออกมาอีก แต่ในสังคมไทย คนอาจรังเกียจพระเอกนักข่มขืนจริงก็ได้ แต่เมื่อถูกเสนอให้อยู่ในบริบทของเรื่องราวแห่งความรักความแค้นของตัวละคร ผู้ชมจึงมองข้ามประเด็นนี้ไปสู่ความถูกใจที่ได้เพลิดเพลินกับเนื้อเรื่องและลีลาการแสดง ด้วยเหตุดังนั้นตลาดของละครพระเอกนักข่มขืนจึงยังคงแข็งแกร่งเท่าเดิม

เพราะสังคมอ่อนแอเช่นนี้ สื่อไทยจึงโน้มเอียงที่จะตอบสนองต่อตลาด (และรัฐ) มากและง่ายเกินไป ร้ายไปกว่านั้น ตลาดของสื่อไทยมีความหลากหลายไม่สู้มากนัก สรุปสั้นๆ ก็คือจำกัดตนเองอยู่ในกลุ่มที่มีพลังซื้อ (สินค้าและบริการที่ลงโฆษณา) ซึ่งก็มีจำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุดังนั้นสื่อไทยจึงทุ่มตัวไปกับตลาดมากขึ้นทุกที การแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทำให้ต้องแย่งคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีกำลังซื้อนี้จนหมดตัว (อันที่จริง ตลาดสื่อไทยกำลังเปลี่ยน “ไม่ใช่การเข้าถึงสื่อผ่านเทคโนโลยีใหม่อย่างเดียว” แต่รวมถึงกลุ่มคนที่รับสื่อเก่าก็มีองค์ประกอบที่เปลี่ยนไปด้วย แต่สื่อไทยไม่สำเหนียกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรอบคอบเพียงพอเอง)

บทบาทของสื่อไทยในความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนและหลังรัฐประหารของกองทัพใน 2557 ชี้ให้เห็นว่า สื่อแคร์แต่ตลาด สื่อไม่แคร์สังคมเอาเลย และด้วยเหตุดังนั้น สังคมไทยจึงไม่แคร์เหมือนกันว่าร่าง พ.ร.บ.ใหม่จะลิดรอนเสรีภาพของสื่อไปอย่างไร หากสื่อจะหวังพึ่งตลาด ก็อยากเตือนว่า ตลาดไม่สนใจเสรีภาพสื่อ แต่สนใจความถูกใจ ซึ่งอาจได้มาโดยไม่ต้องมีเสรีภาพก็ได้

(ผมควรกล่าวถึงจุดยืนส่วนตัวไว้ด้วย ผมไม่ปฏิเสธว่าความเฉยชาของสังคมไทยที่สื่อกำลังถูกรัฐเผด็จการคุกคามเสรีภาพเป็นที่สะใจอยู่ลึกๆ แต่ความสะใจไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ย่อมทำให้สังคมไทยขาดเสรีภาพในการรับรู้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ในการเมืองของพลเมือง แต่อนาคตของการเมืองของพลเมืองไทยถูกสกัดขัดขวางหรือบ่อนทำลายลง ไม่แต่โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เพียงฉบับเดียว มีกฎหมายที่ผ่านออกใช้แล้วนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมาอีกมากมายหลายฉบับ ซึ่งหากยังดำรงอยู่ก็จะบั่นทอนอนาคตของประเทศชาติในทำนองเดียวกัน จนผมเชื่อว่าหากประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายเหล่านี้ทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่กฎหมายสื่อเท่านั้น จะมาสนใจอะไรกับกฎหมายสื่อฉบับเดียว การรัฐประหารครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกที่คนไทยส่วนข้างมากในอนาคตจะเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีทางก้าวหน้าไปไหนได้อีก จนกว่าจะถือว่าการกระทำทางการเมืองทั้งหมดอันเนื่องมาจากการรัฐประหารเป็นอันไร้ผล)

พลังกำกับควบคุมสื่อจึงมีสามด้าน คือตลาด, สังคม และรัฐ

ในสามอย่างนี้ หากตลาดและสังคมทำงานร่วมกัน โดยมีสังคมนำ จะเป็นการกำกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพ และทำให้สื่อมีคุณูปการต่อส่วนรวมได้มาก รัฐคือตัวอันตรายที่สุด อันตรายยิ่งกว่าตลาดเสียอีก เพราะหากมีอำนาจในการกำกับควบคุมสื่อแล้ว ย่อมใช้อำนาจนั้นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนของผู้ถืออำนาจรัฐเท่านั้น ทั้งพร้อมจะให้ร้ายและลงโทษผู้อื่นเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ต้องกลัวสังคมตรวจสอบด้วย เพราะสื่อไม่กล้ารายงาน ไม่มีที่ไหนที่คิดว่ารัฐควรกำกับควบคุมสื่อนอกจากในเมืองไทย ซึ่งสังคมอ่อนแอเสียจนต้องอาศัยอำนาจคนดังและรัฐอยู่เสมอ

รัฐไม่มีหน้าที่กำกับควบคุมสื่อโดยตรง แต่มีหน้าที่ทำให้กฎหมาย (ที่ออกตามความเห็นชอบของประชาชน) ซึ่งกำกับควบคุมความสัมพันธ์ทางสังคมถูกบังคับใช้อย่างเที่ยงตรง เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว กฎหมายรักษาความลับทางการค้า กฎหมายอนาจาร ฯลฯ สื่อในฐานะเอกชน ถูกรัฐกำกับควบคุมอยู่แล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อเสริมสร้างอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สักวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเรามีรัฐที่ฉลาดกว่านี้ และอยู่ใต้การกำกับควบคุมของประชาชน สิ่งที่รัฐต้องทำกับสื่อก็คือทำให้สังคมเข้มแข็งพอจะตรวจสอบและกำกับสื่อผ่านตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เผยแพร่ความรู้ที่จะทำให้ฉลาดในการรับสื่อ (media literacy) แก่เด็กและเยาวชนในสถานศึกษา, สนับสนุนองค์กรสังคมที่ทำงานด้านประเมินสื่อ (หลายองค์กร ไม่ใช่องค์กรเดียว) ให้ได้ทำงานและได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ของตนต่อสังคม, การวางแผนใช้งบโฆษณาของราชการและรัฐวิสาหกิจ ควรสะท้อนความเห็นของสังคมในวงกว้างกว่ากลุ่มผู้มีกำลังซื้อเพียงอย่างเดียว, ทำอย่างไรให้เสียงของกลุ่มคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ริมหรือนอกตลาดสื่อได้เผยแพร่ให้สังคมโดยรวมได้ยินบ้าง, ทำให้การศึกษาไทยคุ้นเคยกับระบบคุณค่าของโลกสมัยใหม่มากขึ้นกว่าจมปลักอยู่กับระบบคุณค่าตามประเพณีเพียงอย่างเดียว ฯลฯ

ส่วนการที่สื่อจะควบคุมกันเองนั้น ลืมไปเสียเถิด ดังที่กล่าวแล้วว่าตลาดกำกับควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือไม่อาจทำได้อย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ในฐานะที่ส่วนหนึ่งของการทำสื่อคือกิจกรรมในตลาด สื่อจึงคุมตัวเองไม่ได้ และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นอยู่แล้วว่าคุมไม่ได้ (เช่นเดียวกับสมาคมวิชาชีพ เช่น แพทย์, วิศวกร, สถาปนิก, นักตรวจบัญชี ฯลฯ ซึ่งทำงานในตลาด เป็นสัดส่วนที่มากกว่าในสังคมด้วยซ้ำ) หากจะคุมสื่อเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ต้องอาศัยสังคมทำหน้าที่ผ่านพลังของตลาดเท่านั้น

แต่สังคมไทยอ่อนแอเกินกว่าจะกำกับควบคุมอะไรได้ การแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้นด้วยกลไกนานาชนิดที่สังคมสมัยใหม่ต้องมี เพื่อแผ่อำนาจของตนไปกำกับควบคุมสิ่งที่อาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ตัวเองได้ทั้งสองทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image