รวมพลคนร้อนวิชา โชว์พลังทำความดี

โครงการ พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา

เพราะสังคมต้องการทั้ง ‘คนเก่งและดี’ ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้เก่งในตำราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนที่มีจิตสาธารณะควบคู่ไปด้วย มูลนิธิเอสซีจีจัดโครงการ “เยาวชน คนทำดี” เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป มาแสดงพลังในการคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำความรู้ที่สอดคล้องกับวิชาหรือหลักสูตรที่กำลังศึกษาอยู่มาลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินงานจริง ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท

กุ้ง-ปิ่นมณัฐ โคตรชา

หนึ่งสาวที่ร้อนวิชากลัวว่าหูกทอผ้าจะหายไปจากภาคอีสาน จึงลงมาทำโครงการ “สืบสานภูมิปัญญา พลิกฟื้นผืนเศษผ้า เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้น้อง” กุ้ง-ปิ่นมณัฐ โคตรชา นักเรียนอาชีวะฝีมือ ชั้น ปวส.2 สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เล่าว่า เธอเป็นคนอุดรฯ เติบโตมากับวิถีชีวิตของผ้าพื้นถิ่น ภาพจำของหูกทอผ้าและเสียงฟืมกระทบกี่เป็นความทรงจำวัยเด็กที่ไม่อาจลืมเลือน

“กุ้งคงใจหาย หากวันข้างหน้าหูกทอผ้าจะหายไปจากภาคอีสาน” นี่คือสิ่งที่เธอกลัว จึงได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านแสงบูรพากับเพื่อนๆ ก็พบว่ามีเศษผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าขิด ที่ชาวบ้านตัดออกจากกี่ทอผ้าจำนวนมาก

“การกำจัดเศษผ้าเหลือใช้เหล่านี้จะเป็นการเผาเสียส่วนใหญ่ พวกเราจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยลดขยะ ตลอดจนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้สึกรักและอยากจะสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอให้คงอยู่” กุ้งเล่าถึงแรงบันดาลใจ

Advertisement
การสอนชาวบ้านแปรรูปเศษผ้าเหลือใช้

จากตรงนี้ กุ้งและกลุ่มเพื่อนก็นำความรู้ที่เรียนมาในวิชาตัดเย็บกระเป๋าจากเศษผ้าทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าทอพื้นเมืองเหลือใช้ ช่วยกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 10 รายการ ที่มีความยากง่ายต่างกัน เพื่อนำไปสอนให้กับเด็กและเยาวชน 9-25 ปี

“หลักสูตรการเรียนรู้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีการสอนการคำนวณต้นทุนและกำไรที่จะได้รับจากการผลิต เพื่อเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้เยาวชนมีแรงกระตุ้นในการทำงาน มีการรับรองมาตรฐาน ตลอดจนนำไปจำหน่ายในท้องตลาดจริง เพื่อสร้างรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชนอีกด้วย นับเป็นการแบ่งปันความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนของเรา” กุ้งเผย

สร้างรายได้ แบ่งปันความสุขให้ชุมชน
ส่วนหนึ่งของผลงานจากโครงการเยาวชน คนทำดี

ส่วน เหนือ-ศตวรรษ ดอกจันทร์ ชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นำวิชาความรู้มาดำเนินโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา” กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการผลิตไส้หมอนขิดยางพารา สินค้าโอท็อปประจำจังหวัด ล่าช้า เพราะไส้หมอนขิดยางพารานั้นแห้งช้า จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

Advertisement
เหนือ-ศตวรรษ-ดอกจันทร์

“ผมและเพื่อนๆ จึงได้สร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์รูปโดม โดยใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตในการทำหลังคา เพราะมีคุณสมบัติโปร่งแสงทำให้แสงส่องผ่านได้มาก แต่จะสะท้อนกลับได้น้อย เมื่ออุณหภูมิภายในโรงอบสูงขึ้น ไส้หมอนของชาวบ้านก็จะแห้งเร็วขึ้นทำให้ทันต่อการผลิต”

ผลงานของศตวรรษและเพื่อนๆ เป็นต้นแบบการเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

“ผมได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ ภูมิใจมาก” ศตวรรษกล่าว

การติดตั้งแผงโซลาเซลล์
โรงอบพลังแสงอาทิตย์เพื่อชุมชนของน้องๆ

เยาวชนที่สนใจสามารถส่งโครงการเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน ดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.scgfoundation.org และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/เยาวชนคนทำดี หรือ โทร. 02-586-5218

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image