บทพิสูจน์ 30 ปี กับเด็กปฐมวัย สุธาทิพ ธัชยพงษ์ ‘การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คืออาหารสมอง’

เรือนปั้นหยา 2 ชั้น สีเขียวอ่อนเย็นตาซ่อนตัวอยู่ภายในซอยวัดม่วงแค (เจริญกรุง 34)

ที่นี่เปิดให้บริการแก่เด็กๆ ทุกวันตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ่ายวันอาทิตย์ ตั้่งแต่ 14.00-16.00 น. เป็นแหล่งชุมนุมของเด็กน้อยที่พ่อแม่พามาฟังพี่ๆ น้าๆ อาๆ อ่านหนังสือให้ฟัง ยังมีกิจกรรมแสนสนุกอื่นๆ อีกมากมาย

“ดรุณบรรณาลัย” เป็นห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ณ ขณะนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อและเสด็จฯไปทรงเปิดห้องสมุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559

เป็นต้นแบบของห้องสมุดในฝันของ (พ่อแม่) เด็กเล็ก

Advertisement

ในการประชุมครั้งสำคัญที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคมนี้ “การประชุมสภาหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติ ระดับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียครั้งที่ 3” หรือ IBBY AORIA 2017 ที่โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ และอุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

หนึ่งในสองสถานที่ซึ่งได้รับการคัดสรรให้เป็นสถานที่เยี่ยมชมของผู้เข้าร่วมประชุมจาก 25 ประเทศ คือห้องสมุดแห่งนี้

“เราเชื่อว่าเด็กจะอ่านหนังสือต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ซึ่งถ้าเป็นเด็กปฐมวัยเราจะไม่ให้แตะอุปกรณ์ไอทีเลย ถือว่าเป็นศัตรูกับเด็กปฐมวัย แม้แต่หมอก็บอกว่าในช่วง 2 ขวบแรกห้ามใช้อุปกรณ์ไอทีทุกชนิดในการเลี้ยงลูก เพราะมันเป็นการสื่อสารทางเดียว แค่ทีวีที่เด็กดูทุกวันๆ ยังมีส่วนทำให้เป็น ‘ออทิสติกเทียม’ ซึ่งมีมาแล้ว เด็กอายุ 2 ขวบเศษไม่พูดไม่จา ทั้งๆ ที่ตอนเกิดมาก็เหมือนกับเด็กทั่วไป”

Advertisement

สุธาทิพ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการ “ดรุณบรรณาลัย” บอกและเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งนี้ว่า เป็นการต่อยอดมาจากคณะทำงานในมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก (ThaiBBY) ซึ่งมีวัตถุประสงค์คือ “การนำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ”

ตัวเธอเองเมื่อแรกที่เพื่อนร่วมโรงเรียนเตรียมอุดม “พรอนงค์ นิยมค้า โฮริคาวา” เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ชวนเข้ามาร่วมงานมูลนิธิในฐานะรองประธาน เธอสารภาพว่าไม่ได้มีความรู้ด้านหนังสือเด็กมาก่อน อาศัยที่ทำงานมูลนิธิทำงานกับแม่และเด็กมาตลอด รวมทั้งเคยเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จึงตกลงใจเข้ามาเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร

สุธาทิพ เป็นบุตรีของนายประทีปและนางจิตประสงค์ มหาสุวรรณ สมรสกับ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ มีบุตรชาย 2 คนคือ ดร.สุทธิพงศ์ และสิทธิเดช ธัชยพงษ์

อักษรศาสตรบันฑิตจากรั้วจามจุรีผู้นี้ เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมปลายด้วยกันกับ พรอนค์ นิยมค้า โฮริคาวา และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ซึ่งสายสัมพันธ์ดั้งเดิมนี้ยังคงเกี่ยวกระหวัดมาจนทุกวันนี้ หนึ่งในงานที่ต่างทำด้วยใจรักคือ งานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน นับตั้งแต่การก่อตั้งมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และต่อยอดมาเป็นห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกของประเทศไทย “ดรุณบรรณาลัย”

จากมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กถึงห้องสมุดเด็กเล็ก?

มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กก่อตั้งขึ้นในปี 2544 พอปี 2549 เราก็ทำโครงการ “หนังสือเล่มแรก” หรือบุ๊กสตาร์ต (Bookstart) เป็นโครงการเด่น ส่งเสริมให้พ่อแม่ใช้หนังสือภาพในการเลี้ยงลูก โดยได้ความคิดมาจากประเทศอังกฤษ และเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น คือที่อังกฤษมีการทำวิจัยว่า เด็กที่ผ่านโครงการบุ๊กสตาร์ต ภาษาและคณิตศาสตร์จะดีกว่าเด็กที่ไม่ได้ผ่านโครงการ

คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป (กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก) เป็นคนทำโครงการบุ๊กสตาร์ตเป็นเรื่องเป็นราว มีกลุ่มตัวอย่างจากกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม คือ บ้านเลี้ยงเด็กในสลัม 2 แห่ง ของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม บ้านเด็กอ่อนในมูลนิธิเด็ก สถานเลี้ยงเด็กในสถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่โรงพยาบาล จ.เลย และ จ.ราชบุรี ทั้ง 7 กลุ่มนี้เป็นตัวแทนที่ใช้ในการศึกษาทำวิจัยเชิงประจักษ์ของโครงการหนังสือเล่มแรก รวม 107 ครอบครัว โดยเลือกเด็กอายุ 6-9 เดือน มีการอบรม แจก “ถุงหนังสือเล่มแรก” และลงเยี่ยมบ้าน 3 ครั้ง

ระยะเวลาของการทำวิจัย 3 ปี แต่เรายังคงติดตามเด็กเรื่อยมา จนสุดท้ายเหลือ 50 กว่าคน โดยทุกปีจะนัดเจอเด็กที่งานสัปดาห์หนังสือ ให้เด็กเลือกซื้อหนังสือเอง มีงบประมาณจากสภาการศึกษาสนับสนุน พูดคุยกับพ่อแม่ว่าลูกเป็นอย่างไรบ้าง จำได้ว่าพอเด็กอายุ 3 ขวบ พ่อแม่จะบ่นว่าไม่อยากอ่านหนังสือแล้ว เพราะเรากำหนดให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน วันละ 10-15 นาทีอย่างต่อเนื่อง โดยในขวบปีแรกจะให้อ่านเพียงเล่มเดียว บางครอบครัวจะแบ่งเวรกันระหว่างพ่อกับแม่ บางครอบครัวอย่างที่ซอยเสือใหญ่ แม่อ่านหนังสือไม่เก่ง พ่อซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะแวะมาอ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนกลางวัน ซึ่งเด็กไม่ว่าจะเด็กสลัมหรือที่ไหน เขาเห็นหนังสือภาพจะตื่นเต้นมาก ตาจะลุกวาว

อ่านหนังสือให้เด็กฟังทำให้เด็กฉลาด?

จริงค่ะ อย่างโครงการหนังสือเล่มแรก เราติดตามดูพฤติกรรมของเด็กจนเข้า ป.1 ทีแรกก็เป็นกังวลเพราะเด็กเข้าโรงเรียนแล้ว ปรากฏว่าผลการเรียนออกมาดี แต่ข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่าการใช้หนังสือภาพเลี้ยงลูกมาถูกทางคือ ช่วงที่เด็กกลุ่มนี้อายุ 5 ขวบ มียูนิเซฟกับสภาการศึกษา มาทดสอบสมรรถนะของเด็ก ไม่ได้เป็นการวัดไอคิว แต่จะทดสอบว่าเด็กทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เช่น เด็กอายุ 1 ขวบต้องรู้คำศัพท์กี่พันคำ โดยทดสอบเด็กอายุ 0-5 ปี 1,200 คนทั่วประเทศ เราเอาเด็กของเรา 50 คนเข้ารับการทดสอบด้วย ปรากฎว่าเด็กในโครงการผ่านการทดสอบ เพราะในช่วงขวบปีแรก การอ่านหนังสือเป็นการกระตุ้นเซลล์สมอง และเมื่อเซลล์สมองดี สติปัญญาก็จะดีตาม

เวลาอ่านหนังสือให้ฟัง เด็กไม่รู้จัก ก ข ก็จริง แต่จะจำเป็นภาพได้ อย่างคำว่า “น้องหมี” (หนังสือน้องหมีเล่นกับพ่อ) เขาจะจำได้ เขาจะดูภาพทุกภาพในทุกรายละเอียดและจินตนาการว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร บางครอบครัวตายายอ่านหนังสือไม่ออก จะใช้การเล่าภาพ ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความสัมพันธ์โดยใช้หนังสือเป็นสื่อ และเป็นที่มาที่ทำให้คุณพรอนงค์มีความคิดอยู่ในหัวตลอดเวลานับตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กว่า จะต้องมีห้องสมุดเด็ก เพราะเมืองไทยยังไม่มี

ห้องสมุดเด็กเริ่มจากตรงไหน?

ตอนปี 2555-2556 เราเริ่มคุยกันว่าจะทำห้องสมุดเด็ก เนื่องในวาระครบรอบ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าเราสามารถเช่าบ้านทำเป็นห้องสมุดเล็กๆ ได้ ปรากฏว่าในที่ประชุมครั้งนั้น คุณหมอพรรณพิมล วิปุลากร ตอนนั้นเป็น ผอ.สถาบันราชานุกูล และเป็นที่ปรึกษามูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เล่าเรื่องบ้านหลังนี้ว่ากำลังจะได้งบประมาณแปรญัตติเพื่อรีโนเวท เธอกำลังจะทำศูนย์เรียนรู้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงเจรจากันว่าให้มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กทำห้องสมุดเด็กเล็ก โดยที่มูลนิธิจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ซึ่งตอนนั้นประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กคือ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

กว่าบ้านจะเริ่มรีโนเวทก็ปี 2558 โดยมีแปลน อาคิเต็ค ออกแบบให้ฟรี ได้รับเงินสนับสนุนการปรับปรุงอาคารและการบริหารจัดการห้องสมุดในปีแรกจากมูลนิธิสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ชื่อ “ดรุณบรรณาลัย” แปลว่า ห้องสมุดสำหรับเด็ก

ท่านรับสั่งอย่างไรบ้าง?

พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเด็กกับการศึกษาอยู่แล้ว ทรงให้ความสำคัญเรื่องการอ่านหนังสือ และที่เป็นที่น่าปีติคือ ตอนกราบบังคมทูลเชิญเสด็จเปิดห้องสมุด ปรากฏว่าเพียงสัปดาห์เดียว ท่านให้วันมาเลย วันที่ 29 กันยายน 2559 เราจึงรีบดำเนินการทาสี รื้อเรือนไม้เก่าๆ ด้านหลัง

วันเสด็จเปิดห้องสมุด ตอนที่ท่านจะเสด็จขึ้นรถ ท่านก็รับสั่งว่า เวลาที่มีเด็กเข้าเฝ้าปกติจะพระราชทานของเล่น ท่านก็รับสั่งว่าถ้าให้เป็นหนังสือน่าจะดี เพราะการให้หนังสือกับเด็กเป็นคุณอยู่แล้ว

ด้วยพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ชุมชน มีทั้งพุทธ-คริสต์-อิสลาม เด็กที่เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นนานาชาติ?

อย่าพูดถึงนานาชาติเลย ก็มีเด็กอิสลามที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่ที่น่าเสียดายคือ ชุมชนม่วงแคมีแค่ 2 ครอบครัวที่มาใช้ห้องสมุด แม้แต่โรงเรียนอนุบาลม่วงแคเราเคยไปตีสนิทตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็เคยพาเด็กมาแค่ 2 อาทิตย์แรกเท่านั้น เป็นเด็กระดับประถม เด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นหนังสือมากมาย ซึ่งแต่เดิมเรามีแต่หนังสือภาษาไทย พอดีว่าก่อนจะเปิดห้องสมุด ทางเอเชียบุ๊คส์บริจาคหนังสือให้ เราก็เลยคัดมาไว้ที่นี่ และก็ยังมีที่ไปเลือกซื้อเวลามีลดราคาหนังสือดีๆ ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าที่นี่มีหนังสือเด็กดีๆ เป็นภาษาอังกฤษมากมาย

หนังสือที่เข้ามาอยู่ในห้องสมุด เราจะไม่รับบริจาคหนังสือเก่า แต่จะซื้อเข้ามา โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกหนังสือดีที่เหมาะสม เพราะบางทีถ้าไม่ใช่หนังสือที่เด็กชอบก็ไม่ได้ทำให้เด็กอยากเข้ามาอ่าน

เด็กที่เข้ามาใช้บริการมีที่มาจากต่างจังหวัด?

ที่มายืมหนังสือไม่มี แต่ที่มาเยี่ยมมี เป็นทันตแพทย์มาจากเชียงใหม่ มากับลูกสาวอายุ 5 ขวบ 2 ครั้งแล้ว บอกว่าลูกสาวชอบห้องสมุดมาก โตขึ้นอยากทำงานห้องสมุด คุณพ่อก็ขับรถพามา ลูกสาวมาอยู่ที่นี่ทั้งวัน ยังบอกเลยว่าให้คุณพ่อเปิดห้องสมุดที่เชียงใหม่ เพราะเราทำที่นี่เพื่อให้เป็นต้นแบบ เราอยากให้ กทม.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปเปิดห้องสมุดตามที่ต่างๆ เพราะห้องสมุดไม่ได้ใช้พื้นที่เยอะ อย่างที่ญี่ปุ่นก็ใช้บ้านทำเป็นห้องสมุด เรียกว่า “บุงโกะ” ห้องสมุดบ้าน เปิดบริการอาทิตย์ละ 2 วัน และให้ผู้ปกครองเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ในญี่ปุ่นมีบุงโกะมากถึง 5,000 แห่ง

เสาร์-อาทิตย์มีเด็กมาห้องสมุดกันแน่น?

มาจากที่อื่นทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชนชั้นกลาง บางคนมาวันธรรมดาทุกวัน เพราะลูกชอบ

ตอนเปิดห้องสมุดทีแรกจะเป็นเด็กโตอายุ 6-7 ขวบ หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงเปิด มีการเสนอข่าวในข่าวพระราชสำนัก ตอนนี้เด็กที่มาจะเป็นเด็กอายุ 4 ขวบลงมาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เราอยากให้พ่อแม่มีความเข้าใจในการใช้หนังสือเลี้ยงลูก เพราะเด็กแรกคลอดจนถึง 6 เดือน การให้นมแม่นั่นคืออาหารกาย อาหารใจ พอ 6 เดือนแล้วการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง นั่นคืออาหารสมอง ซึ่งเราพยายามชี้แนะกับผู้ปกครอง

ที่นี่ไม่ใช่แค่ห้องสมุด แต่กลายเป็นชุมชนของพ่อแม่ที่จะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน?

ค่ะ แต่คงยังไม่ถึงกับแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่พาลูกมาเพื่อมาร่วมกิจกรรม ซึ่งก็ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าปีนี้เราต้องพยายามทำงานกับพ่อแม่ แล้วอาจจะให้พ่อแม่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร เพราะเวลาเราทำกิจกรรมแต่ละหน ต้องใช้คนมาก จึงต้องมีอาสาสมัครจากที่อื่นเข้ามาช่วย อย่างวันอาทิตย์ เวลาบ่าย 2 ถึง บ่าย 4 จะมีกิจกรรมอ่านนิทานให้เด็กฟัง 4-5 เรื่อง และมีการทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมามีคนเข้ามาร่วมกิจกรรม 40 กว่าครอบครัว

 

“…ที่ซอยเสือใหญ่ แม่อ่านหนังสือไม่เก่ง พ่อซึ่งขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็จะแวะมาอ่านหนังสือให้ลูกฟังตอนกลางวัน ซึ่งเด็กไม่ว่าจะเด็กสลัมหรือที่ไหน เขาเห็นหนังสือภาพจะตื่นเต้นมาก ตาจะลุกวาว….”

 

ได้ยินคุณพรอนงค์ว่าฝันไว้ 20 กว่าปีกว่าจะมีที่นี่?

อ๋อ ใช่ค่ะ สำหรับพรอนงค์สิ (หัวเราะ) พอดีเราเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมฯด้วยกันกับคุณหญิงกษมาด้วย คือพรอนงค์ไปชวนมาทำงานกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เพราะรู้ว่าดิฉันทำงานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เราเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการบริหารงานหนังสือ แต่ทำงานมูลนิธิมาก่อน ตั้งแต่วันแรกเขาก็พูดกรอกหูมาตลอดว่าต้องมีห้องสมุดเด็ก (หัวเราะ) แต่เราเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่นกัน

ขอย้อนถาม เข้ามาทำงานมูลนิธิได้อย่างไร?

ดิฉันทำงานด้านประชาสัมพันธ์มาตลอด จนกระทั่งแต่งงานมีลูก 2 คน ช่วงนั้นคุณพ่อป่วยเข้าออกโรงพยาบาล ลูกก็ยังเล็ก เลยคุยกับสามีว่าเราคงต้องออกมาดูแลพ่อและลูก

พอดีรู้จักกับลูกของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นประธานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ชวนมาทำงานด้วยกัน

ดิฉันตั้งแต่อยู่จุฬาฯ ไม่ได้ทำกิจกรรม อยู่กรุงเทพฯตลอด แต่ไปพบข้อมูลที่ครูประทีป (ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ) เล่าให้ฟังว่า ในกรุงเทพฯมีสลัมมากถึง 1,050 แห่ง ดิฉันช็อกมาก จินตนาการเลยว่าต้องมีเด็กสลัมอยู่ในช่วงอายุเดียวกับลูกเรา และต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมกรุงเทพฯเหมือนลูกเรา พอคุณหญิงจันทนีมาชวน ก็เลยตกลง

ดิฉันบอกเลยว่า ที่ทำงานมูลนิธิไม่ใช่เพราะจิตศรัทธาหรือมีอุดมการณ์ (หัวเราะ) ไม่ใช่เลย แต่อาจจะเป็นเพราะเราเห็นแก่ตัว เรารักลูกเรา สิ่งหนึ่งที่คุณหญิงจันทนีบอกและจำมาถึงวันนี้ คือคำพูดที่บอกว่า ถ้าเราดูแลลูกเรา แล้วมีโอกาสได้ดูแลลูกคนอื่น ผลกรรมดีนั้นจะตกกับลูกเรา

สมัยนั้นจำได้ว่าครูหยุย (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) เป็นผู้จัดการชั่วคราวมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม เขาพูดอะไร ดิฉันฟังไม่รู้เรื่องหรอก ดิฉันใช้เวลาถึง 3 ปีในการเรียนรู้งานว่าเขาทำอะไรกัน ลงสลัมทุกแห่ง เพราะไม่เคยทำเลย โดยเข้าไปเป็นเหรัญญิกก่อน แล้วตอนหลังมาเป็นเลขาธิการ เรียนรู้การทำงานกับแม่และเด็ก ทำงานด้านเด็กปฐมวัยมา 30 กว่าปี แล้วขยายงานไปเป็นกรรมการมูลนิธิโน้นมูลนิธินี้ ชื่อดิฉันจึงอยู่คู่กับเด็กปฐมวัยมาจนถึงทุกวันนี้

กับการประชุม IBBY AORIC 2017 กำหนดห้องสมุดแห่งนี้เป็นสถานที่ดูงานสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม?

ค่ะ แต่เราคงไม่ได้เตรียมอะไร คงจะให้เห็นภาพที่เป็นธรรมชาติ ตามโปรแกรมจะเป็นวันสุดท้ายคือวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งปกติวันศุกร์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาที่นี่อยู่แล้ว

ทิศทางต่อจากนี้?

เราอยากให้หน่วยงานอื่นๆ ทำห้องสมุดเด็กปฐมวัยให้เกิดในหลายๆ แห่ง เราอยากจะสร้างความเชื่อความศรัทธาว่าการใช้หนังสือภาพเลี้ยงลูกมันส่งผลดี สร้างความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก และทำให้เด็กมีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้น จากประสบการณ์ที่เราเคยทำงานไม่เพียงกับเด็กทั่วไป เราเคยทำงานกับเด็กสถาบันราชานุกูล “โครงการอาสาสมัครนักอ่านเพื่อการบำบัด” ทำกับเด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม เราทำ 6 เดือน หลังจากนั้น สตาร์บัคเข้ามาทำอย่างต่อเนื่อง 4 ปี เอาสต๊าฟของเขามาเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้เด็กฟัง โดยอาสาสมัคร 1 คนกับ 1 ครอบครัว ปรากฏว่ามีเด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม อ่านหนังสือได้ และสามารถเข้าเรียนตามปกติได้ เพราะเราสอนตั้งแต่ฝึกการออกเสียง และการอ่านหนังสือให้เด็กฟังก็ต้องอ่านให้ช้าและชัด เพราะเด็กจะพูดตาม อย่างพี่เลี้ยงที่เป็นต่างชาติพูดไม่ชัด เด็กก็จะพูดไม่ชัดตามพี่เลี้ยง

เราอยากจะให้พ่อแม่มีความเชื่อและใช้หนังสือในการเลี้ยงลูก และมาเรียนรู้มาใช้หนังสือที่นี่ไม่ต้องไปซื้อเอง ดิฉันเคยซื้อหนังสือบริจาคให้เด็กบนดอย พอไปเยี่ยมอีกทีเห็นหนังสือยับเยิน ดีใจมาก แสดงว่าเด็กได้ใช้ ถึงแม้หนังสือจะขาด เราซ่อมได้ เพราะการทำให้เด็กรักการอ่านต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image