เลือกตั้งเกาหลีใต้ 2017: อะไร ยังไง ใครจะมา?

เสกสรร อานันทศิริเกียรติ

นักศึกษาทุนวิจัยอาเซียนเพื่อเกาหลีศึกษาประจำมูลนิธิเกาหลี
บัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล

หลังจากที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสรอดพ้นจากเงื้อมมือของชาตินิยมฝ่ายขวามาได้เมื่อวานนี้ วันนี้ก็ถึงคราวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยอีกแห่งหนึ่งทางเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ พลังของมวลมหาประชาชาติเกาหลีในการชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดี ผ่านร้อนผ่านหนาวด้วยกันมาตลอด 20 สัปดาห์ จนรัฐสภามีมติถอดถอน ศาลรัฐธรรมนูญรับรองมตินั้น และศาลแขวงกรุงโซลออกหมายจับนางสาวปักคึนฮเย อดีตประธานาธิบดีคนที่ 11 ของประเทศนี้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา นำพาเรามาสู่วาระที่สำคัญอีกคราวของทั้งหนุ่มสาวหน้าใสและผู้ใหญ่ผมดำขาว นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีคนที่ 12!

การเลือกตั้งครั้งนี้เรียกว่า “การเลือกตั้งในฤดูดอกกุหลาบ” มาจากภาษาเกาหลีว่า ชังมีแทซ็อน (장미 대통령 선거) ที่เรียกว่าฤดูดอกกุหลาบก็เพราะการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ดอกกุหลาบที่นี่จะบานในเดือนพฤษภาคมครับ ถ้าจัดเดือนเมษายนเขาจะเรียก พ็อดกดแทซ็อน (การเลือกตั้งบุหงาโครีย์) บุหงาโครีย์นี่เป็นคำที่ผมประดิษฐ์ขึ้นใหม่เพื่อเรียกแทนดอกซากุระในเกาหลีที่คนไทยเรียกกัน (แหม่ ซากุระมันของญี่ปุ่น มาเรียกของญี่ปุ่นที่เกาหลี คนเกาหลีก็น้อยใจกันหมดสิครับ) เพราะ ปกติการเลือกตั้งประธานาธิบดีเขาจะจัดกันประมาณเดือนธันวาคม เพราะฉะนั้น เลือกตั้งคราวนี้เกิดในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดนานมากแล้ว เลยใช้ดอกไม้เรียกเป็นสัญลักษณ์ครับ

ไม่ต้องแปลกใจเลยครับว่า ความผิดของนางสาวปักมีผลอย่างยิ่งต่อความรับรู้ของคนเกาหลีในช่วงนี้มากทีเดียว ท่านที่ติดตามการเมืองเกาหลีใต้ใกล้ชิด คงเคยได้ยินว่า อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ พันคีมุน หมดวาระและกลับมาที่เกาหลีเป็นการถาวรเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเราก็พูดกันว่า พันคีมุนนี้จะมาเป็นตัวเลือกของฝ่ายอนุรักษนิยมนะ เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีตัวลง ที่ไหนได้ครับ มาไม่ทันไร พันคีมุนถูกฝ่ายก้าวหน้าค้นหาข้อมูลทันที แล้วไปพบว่า เขาเองก็มีกรณีที่ “คล้าย ๆ” กับนางสาวปักอยู่ คือมีคนใกล้ชิดแอบอ้างชื่อในการประกอบกิจกรรมบางอย่าง (ซึ่งผมจะไม่ไปลงลึกนะครับว่า อ้างทำอะไร เพราะไม่ใช่ประเด็นหลักตรงนี้)

Advertisement

นอกจากมีกรณีที่ “น่ากังขาเรื่องความโปร่งใส” แล้ว พันคีมุนยังถูกตราหน้าจากฝ่ายที่ไม่นิยมชมชอบเขาว่าเป็น “มนุษย์ค้างคาว (박쥐)” เพราะพันคีมุนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนี้ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ลงสมัครในตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติในสมัยอดีตประธานาธิบดีโนมูฮย็อน ปรากฏว่า พอประธานาธิบดีโนถูกถอดถอน (แล้วสุดท้ายท่านกระทำอัตวินิบาตกรรมกระโดดหน้าผาตาย) พันคีมุนก็รีบหันไปเข้าหาอดีตประธานาธิบดีอีมย็องบักทันที เช่นเดียวกับการเข้าหานางสาวปักคึนฮเย ที่น่าสนใจคือ ในการชุมนุมของกลุ่มคนดีที่จัตุรัสควังฮวามุนที่ผมเคยเสนอไปในบทความก่อน มีภาพถ่ายส่วนหนึ่งซึ่งชี้ว่า ภรรยาของพันคีมุนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสำนักทรงชเวซุนชิลอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่แค่นี้ครับ! มีคนไปขุดเอกสารโทรเลขของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อคราวพันคีมุนปฏิบัติภารกิจที่สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำสหรัฐอเมริกาว่า เขาเป็นผู้รายงานความเคลื่อนไหวของอดีตประธานาธิบดีคิมแทจุง (ประธานาธิบดีที่เสนอนโยบายตะวันทอแสงน่ะครับ) เมื่อคราวที่ยังเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนและเดินทางไปลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา เรื่องราวเหล่านี้ ทำให้พันคีมุนได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่ายจนตัดสินใจไม่ลงสมัคร และได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้ไปเป็นศาสตราจารย์รับเชิญเพื่อถ่ายทอดความรู้ ซึ่งผู้ใหญ่หลายท่านในบ้านเมืองนี้ก็บอกว่า นี่แหละเหมาะสมสำหรับเขาที่สุด

ก่อนที่จะได้ใบปลิวผู้สมัครเรียงเบอร์ออกมาอย่างที่เห็นในภาพด้านล่างนะครับ แต่ละพรรคจะต้องไปคัดเลือกตัวแทนผู้สมัครของพรรคเสียก่อน เป็นระบบคล้าย ๆ primary น่ะครับ ซึ่งตรงนี้ก็มีไว้เพื่อไม่ให้เกิดเสียงแตกเวลาคนเลือกจะเลือกครับ เพราะบางคนก็อาจจะเลือกพรรคมากกว่าเลือกคน (สมควรกล่าวด้วยครับว่า ที่นี่แยกการเลือกสมาชิกรัฐสภาออกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเพิ่งจะเลือกไปเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่า พรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนางสาวปักได้เสียงเพิ่มขึ้นนะครับ ขอแนะนำบทความของอาจารย์นิธิ เนื่องจำนงค์ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวรครับ อาจารย์อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างครบถ้วนกระบวนความแล้วครับ)

Advertisement

เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (선거관리위원회) แต่ละเขตจะส่งเอกสารชี้แจงวิธีปฏิบัติและแนะนำผู้สมัคร (ซึ่งที่ประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็เริ่มจะจำไม่ได้แล้วนะครับ ฮ่า ๆ ๆ ๆ) ในส่วนวิธีปฏิบัติ เอกสารจะขี้แจงสถานที่ของหน่วยเลือกตั้ง วันเวลา (6.00-20.00 น.) ที่น่าสนใจคือ ประเทศนี้กำหนดวันเลือกตั้งทั้งเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งทั่วไปในวันธรรมดา คือจันทร์-ศุกร์ และจะกำหนดให้เป็นวันหยุดรัฐการ (เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปีที่แล้วเป็นวันพุธ และถ้าหากนางสาวปักไม่ประพฤติชั่วร้ายแรงจนถูกถอดถอน การเลือกตั้งทั่วไปปีนี้จะจัดขึ้นในวันพุธเช่นกัน) เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สิทธิอันบริสุทธิ์ที่พึงมีในฐานะพลเมืองของสาธารณรัฐแห่งนี้ครับ ที่น่ารักก็คือ เขาจะพิมพ์แผนที่สีออกมาให้เราเห็นเลยครับ ตามภาพครับ

ในส่วนของภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับเอกสารผู้สมัครนี้ ผมต้องขอขอบคุณคุณวรรษพร ภิญโญธรรมากร มหาบัณฑิตสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยย็อนเซ ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ประเทศนี้ ที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่องราวและภาพถ่ายนะครับ ที่น่าสนใจก็คือ ผู้สมัครทุกคนจะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญ ดังนี้ครับ

1. ข้อมูลทั่วไป (ชื่อ/เพศ/การศึกษา/อาชีพ)
2. จำนวนทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง และทรัพย์สินหนี้สินของคู่สมรส บุตร ธิดา บิดามารดาของตนด้วย (ว่าง่าย ๆ 7 ชั่วโคตรอะครับ)
3. เอกสารรับรองการรับรัฐการทหารทั้งของตนเองและของบุตร (ใช่ครับ ท่านอ่านไม่ผิด ทั้งของตนเองและของบุตร อันนี้สำคัญมากนะครับ ถ้ามีข่าวเคยหนีทหาร นี่อาจเสียคะแนนจนอดเป็นนายกรัฐมนตรี เอ๊ย ประธานาธิบดีเอาได้ง่าย ๆ เลยนะครับ)
4. ข้อมูลการเสียภาษีทั้งของตนเองและบุคคลอื่น ๆ ตามข้อ 2 (จะมาบอกว่า บกพร่องโดยสุจริตทีหลังไม่ได้ครับ คนที่นี่เขาไม่ทำกัน)
5. ประวัติคดีความ ที่น่าสนใจคือ ผู้สมัครเกือบทุกคนมีคดี “กีดขวางการจราจร” เพราะไปเข้าร่วมชุมนุมหลากหลายรูปแบบ แต่คดีเหล่านี้ก็ไม่ได้หนักหนาครับ เพราะสาธารณรัฐแห่งนี้ให้ความสำคัญแก่การใช้สิทธิทางการเมือง เช่น สิทธิการชุมนุม มาก่อน ถ้ามีส่วนที่ขัดหรือแย้ง เช่น การจราจรติดขัด สิทธิทางการเมืองจะได้รับการคุ้มครองก่อนครับ (แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะอยากไปขวางก็ขวางนะครับ ต้องทำเรื่องจองไปที่ศาลาว่าการกรุงโซลครับ บางกรณี เช่น การชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดีที่ผมเคยไปร่วมสังเกตการณ์ ต้องขออนุญาตศาลก่อนดำเนินการครับ ไม่อย่างนั้นถือว่า บุกรุกสถานที่รัฐการ หรือหนักข้อหน่อย อาจถูกยัดข้อหาความมั่นคงแห่งชาติได้ครับ ท่านได้อยากทราบเรื่องกฎหมายชุมนุมเกาหลีใต้ ผมขอแนะนำบทความของอาจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ในวารสารกฎหมายปกครองครับ แต่ต้องขอกำกับด้วยว่า มีบางส่วนปรับไปพอควร เช่น เรื่องอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ของที่นี่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาครับ)

จำนวน รูปแบบ และเนื้อหาการนำเสนอของผู้สมัครก็ย่อมแตกต่างไปตามทุนรอนนะครับ ถ้าทุนมากหน่อย ก็มาเป็นเล่มเลย ถ้าทุนน้อยหน่อยก็เป็นแผ่นพับใบปลิวธรรมดาครับ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง คราวนี้มีทั้งสิ้น 15 คน ลาออกไป 2 คน แต่คนที่ถือเป็นแนวหน้าคะแนนนำมี 5 คน ได้แก่

หมายเลข 1 มุนแชอิน (Democratic Party/더불어민주당)
หมายเลข 2 ฮงชุนพโย (Liberty Korea Party/자유한국당)
หมายเลข 3 อันช็อลซู (People’s Party/국민의당)
หมายเลข 4 ยูซึงมิน (Bareun Party/바른정당)
หมายเลข 5 ชิมซังจ็อง (Justice Party/정의당)

นอกนั้นที่เหลือก็เป็นผู้สมัครขำ ๆ ครับ แต่บางคนก็ไม่ขำ เช่น หมายเลข 6 โชว็อนจิน (Saenuri Party/새누리당) คนนี้มาจากพรรคเดียวกับนางสาวปักที่อยู่ในคุกตอนนี้ครับ เขาส่งทีมงานมาที่บริเวณที่พักของผมย่านโซลแดอิบกูบ่อยครับ เขาเป็นคนที่ประกาศตัวชัดเจนเลยว่าเป็น “พักซาโม” (ที่ผมเล่าไปในบทความคราวที่แล้ว คือคนที่ภักดีต่อนางสาวปักน่ะครับ) เพราะฉะนั้น นโยบายเขานี่ขออย่างเดียว จะเอานางสาวปักกลับมา พวกเราก็พูดกันว่า งั้นเอาหมอนี่ออกไปก่อนคนแรกเลยครับ ฮ่า ๆ

สิ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งก็คือ ในทุกการหาเสียงเวทีใหญ่ บนเวทีจะผู้แปลภาษามือประกอบด้วยเสมอ (เช่นเดียวกับเวทีชุมนุมที่ควังฮวามุนเลยครับ) นี่แสดงให้เห็นว่า สังคมนี้เห็นความสำคัญของผู้พิการเช่นเดียวกันนะครับ และที่สำคัญคือ ผู้สมัครแต่ละคนไม่ใช้คำหยาบคายในการสื่อสารกับผู้สนับสนุนเลย กิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์ของการเลือกตั้งในประเทศนี้ทุกครั้งก็คือ การจัดอภิปรายระหว่างผู้สมัครโดยสถานีโทรทัศน์แนวหน้าของประเทศ 4 แห่ง ประกอบด้วย SBS, KBS, NEC 2 ครั้ง, และ JTBC มีเสียงเรียกร้องเช่นกันครับว่า ควรมีการแปลฉับพลันเพื่อให้คนเกาหลีที่อาศัยในต่างประเทศและฟังภาษาไม่ออกได้รับฟังความเห็นผู้สมัครก่อนลงคะแนน แต่กระนั้น ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็น่าชื่นใจทีเดียวครับว่า มีคนเกาหลีที่อาศัยในต่างประเทศมาลงคะแนนมากที่สุดตั้งแต่มีประเทศนี้มาคือ 75.3% ของจำนวนผู้มีสิทธิที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ จากการรายงานในเว็บไซต์ daum.net เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการแปลฉับพลันนี้แน่นอนครับว่า ถ้ามีเกิดขึ้นจริงในคราวหน้า ชาวต่างชาติที่ภาษาไม่แข็งก็จะได้อานิสงส์ไปด้วยครับ

ถ้าท่านจำบทความก่อนของผมได้ มีประเด็นหนึ่งที่ผมพูดถึงคือ ความขัดแย้ง “ใต้-ใต้” ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ประเด็นหลักที่เถียงกันก็มี เรื่องนโยบายต่อเกาหลีเหนือ เป็นประเด็นใหญ่ เพราะสอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคงปัจจุบัน และก็ยังเป็นประเด็นให้โจมตีกันได้ง่ายด้วย ตัวแทนของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ชัดเจนที่สุดในครั้งนี้คือ ฮงชุนพโย คนนี้ก็ประกาศชัดเจนครับว่า จะต้องเน้นการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้หนักขึ้น ไม่มีการอ่อนข้อเด็ดขาด ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น ๆ นอกจากนี้ นายฮงยังมีทัศนคติเหยียดเพศที่สาม โดยมองว่า เพศที่สามเป็นความผิดปกติ เป็นเชื้อโรคในสังคม สังคมเกาหลีไม่ควรยอมรับ ถ้อยแถลงแต่ละครั้งของนายฮงล้วนดุดัน และให้ความสำคัญแก่เรื่องความมั่นคง (ในมุมอนุรักษนิยม) เป็นสำคัญ ถ้าให้ท่านนึกภาพง่าย ๆ ผู้ชายคนนี้คือ ทรัมป์ของเกาหลีครับ

ประเด็นเพศที่สามนี่ก็เถียงกันไม่น้อยในการอภิปราย ชิมซังจ็อง ผู้สมัครหญิงหนึ่งเดียวยืนยันว่า LGBT จะต้องมีสิทธิที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับเพศชายเพศหญิง ซึ่งความคิดนี้สังคมเกาหลีก็อาจจะยังไม่ยอมรับมากนัก ดังที่หลายท่านเคยได้ยิน ผู้สมัครที่เหลือเลยไม่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเลยครับ กลับไปที่เรื่องเกาหลีเหนือ มุนแชอิน ซึ่งถือเป็นตัวเก็งแบบนอนมา พูดถึงนโยบายเกาหลีเหนือในทางตรงข้ามกับนายฮง คือ เน้นการพัวพันสร้างสรรค์ ด้วยความที่นายมุนมีบิดาเป็นคนเกาหลีเหนือ และเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่ออดีตประธานาธิบดีโนมูฮย็อน ซึ่งสานต่อแนวคิดเรื่องการพัวพันสร้างสรรค์กับเกาหลีเหนือมาจากอดีตประธานาธิบดีคิมแทจุง จึงถูกแปะป้ายง่าย ๆ จากพวกอนุรักษนิยมว่า เป็นพวก “ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ (종북세력)” นายฮงใช้จุดนี้ในการโจมตีนายมุนตลอดมาตั้งแต่เริ่มหาเสียง ซึ่งอนุรักษนิยมส่วนใหญ่ก็พูดกันไปเลยเถิดขนาดว่า ถ้าเลือกนายมุนมาก็จะเท่ากับการยกประเทศให้เกาหลีเหนือ ทำนองนั้นเลยทีเดียว

เรื่องนโยบายเกาหลีเหนือนี้ คนที่น่าสงสารที่สุดคือ อันช็อลซู อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ครับ ด้วยความที่มีฐานการเป็นอาจารย์มาก่อน เขาเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง เถียงไม่ค่อยทันเหมือนอย่างมุนกับฮง ที่เป็นนักการเมืองอาชีพ ทำให้จุดยืนเกาหลีเหนือของเขาค่อนข้างไม่คงที่ พูดในการอภิปรายแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน คะแนนเลยตกลงมา แม้ว่า สื่อฝ่ายอนุรักษนิยม “โชชุงทง” มาจาก โชซ็อน อิลโบ ชุงอัง อิลโบ และทงอา อิลโบ จะประกาศสนับสนุนอาจารย์อันอย่างสุดฤทธิ์ แต่ก็ไม่มีทีท่าว่า อาจารย์อันจะตีตื้นขึ้นมาสู้กับมุนแชอินได้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่พูดกันในหมู่พวกเราแบบตลกขบขันกึ่งจริงจังคือ เรื่องลูกสาวลูกชายของผู้สมัครแต่ละคน ดูเหมือนว่า ลูกชายมุนแชอินจะมีปัญหามากที่สุด เพราะมีประวัติไม่ดีเรื่องการเรียน และเมื่อเข้าสมัครงาน ก็มีคนให้ข้อมูลว่า เขาใช้ภาพติดต่างหูไปสมัคร ซึ่งปกติ จะไม่ได้รับการรับเลือกเข้าทำงาน แต่เพราะเป็นลูกมุนแชอิน ก็เลยได้ เท่านั้นแหละ คนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ครับว่า นี่เรากำลังจะได้ปักคึนฮเยในร่างผู้ชายหรือเปล่า เพราะปักเองก็มีปัญหาเรื่องใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ลูกสาวชเวซุนชิลด้วยการบอกให้ซัมซ็องบริจาคม้าที่ลูกสาวชเวอยากได้ ซึ่งแตกต่างจากลูกสาวลูกชายคนอื่น ๆ ครับ คนที่โด่งดังที่สุด เห็นจะเป็น ลูกสาวของยูซึงมินที่ชื่อ ยูดัม ที่มีความงามล้ำเลิศ เป็นที่หมายตาของใครหลายคนครับ (ลองไปค้นกูเกิ้ลดูนะครับ) ส่วนลูกอาจารย์อัน ก็เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ลูกชิมซังจ็องและฮงชุนพโยก็จบมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยทงกุก ไม่มีประวัติด่างพร้อยครับ ข้างล่างคือภาพรายงานข่าวของชุงบูอิลโบเกี่ยวกับประเด็นลูกชายมุนแชอินครับ

สำหรับผลการสำรวจล่าสุดที่เพิ่งออกสด ๆ ร้อน ๆ โดยสถาบันอาซันเพื่อนโยบายศึกษาในภาพด้านล่าง บอกเราค่อนข้างชัดเจนครับว่า ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามโพลที่ทุกสำนักล้วนลงความเห็นตรงกันว่า มุนแชอินนอนมา และน่าจะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 12 ของสาธารณรัฐแห่งนี้

สมมติว่า มุนแชอินได้รับเลือกตั้ง เขาก็ยังมีเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เช่น การสื่อสารครับ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาไปปราศรัย แล้วก็ไปหลุดพูดว่า จะยุบมหาวิทยาลัยแห่งชาติทิ้งหมด เพราะเป็นเหตุแห่งความเท่าเทียม คนม.โซล ที่เคยเชียร์สุดใจก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีหันไปเลือกอาจารย์อันแทน อย่างไรก็ดี มุนแชอินยังเรียนรู้และปรับตัวจากความผิดพลาดนั้น เขาออกมาแก้ไขภายหลัง และขออภัยที่พูดจาไม่ชัดเจน ที่น่าสนใจก็คือ สังคมเกาหลีเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถแสดงตัวและเลือกข้างได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ ครูบาอาจารย์ในม.โซล อดีตข้ารัฐการกระทรวงต่าง ๆ สื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย เลือกทำงานให้มุนแชอิน และรายชื่อเหล่านี้ก็ได้รับการเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. คิม ฮย็อน ช็อล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เป็นอาจารย์ที่คณะของผม เอกอัครราชทูตชเว ซ็อก ย็อง ผู้ประสานงานเจรจา FTA หลายฉบับ เคยอยู่ทั้ง WTO และ UN และเอกอัครราชทูตช็อง แฮ มุน อดีตเลขาธิการศูนย์อาเซียน-เกาหลี และอดีตเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทยก็อยู่ใน “มุนแชอินแคมป์” นี้ด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงเศษเสี้ยวของภูเขาน้ำแข็งของการเมืองเกาหลีใต้ เพราะไม่ว่าใครจะมา ก็จะต้องเผชิญปัญหาทางแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เขาหรือเธอจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร เรื่องภายใน ปัญหาว่างงาน การกระจายรายได้ ธรรมาภิบาลและการจัดการปกครองที่ดี โดยเฉพาะการควบคุมทุนใหญ่แชบ็อล สาธารณรัฐแห่งนี้ยังมีปัญหาอีกมากมายครับ…ผู้ปกครองที่ดีมีความสามารถที่มาจากกระบวนการที่ดีมีความชอบธรรมย่อมเป็นต้นทุนที่ดีแน่นอน คนดีระบบดีย่อมมีชัย พบกันใหม่คราวหน้าครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image