สำรวจควายป่าทั่วประเทศไทย น่าตกใจเหลือแค่ 69 ตัว เฉพาะในป่าห้วยขาแข้ง ทั่วโลกมีแค่ 4 พัน

กรมอุทยานฯ สร้างจิตสำนักอนุรักษ์ควายไทย เผยข้อมูลควายป่าพบเพียง 4 พันตัวทั่วโลก ในไทยพบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มี 69 ตัว ห่วงประชากรควายป่าลดลง เร่งดำเนินการ 4 โครงการฟื้นฟูควายป่าให้แข็งแรง

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า แถลงข่าววันอนุรักษ์ควายไทย ภายใต้แนวคิด ควายป่า ควายบ้าน ควายไทย โดยกล่าวว่า ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน เห็นได้ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตร ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้หันมาอนุรักษ์ควายไทย ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง โดยครม.มีมติกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก

น.ส.กาญจนา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนควายป่า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย เป็นสัตว์ป่าหายากมีประชากรกระจายอยู่ทั่วโลกน้อยกว่า 4,000 ตัว พบในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน สำหรับประเทศไทย พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี บริเวณที่ราบริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของพื้นที่เท่านั้น มีประมาณ 69 ตัว เป็นควายป่าตัวเต็มวัย และก่อนเต็มวัยรวมกัน 29 ตัว วัยรุ่น 34 ตัว และลูกควาย 6 ตัว ทั้งนี้มีข้อกังวลเกี่ยวกับประชากรควายป่า เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างควายป่าและควายบ้าน การผสมสายเลือดชิด การลดลงของถิ่นที่อาศัยที่เหมาะสม โรคระบาดและปรสิตที่ส่งผ่านมาโดยควายบ้าน การล่า การแก่งแย่งพื้นที่หากินพืชอาหารและแหล่งน้ำระหว่างควายป่าและควายบ้าน และการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นต้น

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า สำหรับมาตรการและแนวทางในการอนุรักษ์ควายป่า กรมอุทยานฯได้ดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการธนาคารพันธุกรรมสัตว์ป่า เพื่อดำรงและฟื้นฟูพันธุกรรมของควายป่าให้เป็นสายพันธุ์แท้และมีความแข็งแรงมากขึ้น โดยเซลล์พันธุ์กรรมของควายป่าจะถูกจัดเก็บรักษาอย่างเป็นระบบมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน 2.โครงการสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ เพื่อดูแลสุขภาพของสัตว์ป่าทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัยให้ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 3.โครงการศูนย์ประสานงานสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้มีหน่วยงานซึ่งเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมข้อมูลสารสนเทศด้านโรคอุบัติใหม่ซ้ำ เพื่อช่วยในการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน และ4.โครงการเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่า เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและสอบสวนโรคสัตว์ป่าอันเป็นคุกคามร้ายแรงของความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image