สุจิตต์ วงษ์เทศ : โปรโมตเมืองอู่ทอง ต้องสมัยใหม่ในโลกสากล ไม่อู่ทองหลอก

เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

เมืองอู่ทอง เป็นเมืองประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่ม มีความเป็นมาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ เกี่ยวข้องกับนานาชาติมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว

ถ้าจะให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ต้องโปรโมต อย่างมืออาชีพ ด้วยแนวคิดสมัยใหม่ในโลกสากล โดยปรับปรุงใช้ข้อมูลพื้นฐานของนักวิชาการหลากหลายสาขา แล้วปรับให้ง่ายด้วยถ้อยคำสำนวนร่วมสมัย เพื่อคนทั่วไปทุกระดับรับรู้รวดเร็วและกว้างขวางที่สุด

เนื้อหาสำคัญอันเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ด้านนี้ คือภาพรวมความเป็นมาของเมืองอู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีพัฒนาการรุ่งเรืองจนร่วงโรยสืบมาถึงปัจจุบันอย่างไร? แล้วต้องประกอบด้วยภาพถ่ายและแผนที่แสดงสถานที่และสิ่งของสำคัญๆ

[โดยหลีกเลี่ยงแนวคิดทำเมืองอู่ทองเป็นสวนสนุก แบบดิสนีย์แลนด์แดนเนรมิต]

Advertisement

รอการฟื้นคืน ต้องอีกนาน

“เมืองโบราณอู่ทอง เมืองสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชีวิตดั้งเดิม”

เพื่อพัฒนาเมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อันเป็นวิสัยทัศน์ของ อพท. [มีชื่อเต็มๆ ว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)]

ซึ่งผมสรุปจากคำนำหนังสือ “อู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน” ผ่านรอยลูกปัดและพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน พิมพ์เผยแพร่โดย อพท. (ไม่ลงปีที่พิมพ์ แต่เดาจากคำนำว่า พ.ศ. 2558) เล่มนี้คุณเชตวัน เตือประโคน กรุณาหามาให้อ่าน เมื่อเดือนเมษายน 2560 นี้เอง จึงเพิ่งเห็น และเพิ่งอ่าน

“เมืองสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม—” ของ อพท. อ่านแล้วน่าเลื่อมใส และน่าสนับสนุน โดยควรเริ่มจากดัดแปลงงานข้อมูลวิชาการโบราณคดียากๆ ให้ง่ายๆ เพื่อคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอ่านรู้เรื่องกว้างๆ

แต่ อพท. กลับตรงข้าม คือทำข้อมูลความรู้ง่ายๆ เรื่องเมืองอู่ทองให้ยากมากๆ ดังมีพยานสำคัญ ได้แก่ หนังสือ “อู่ทอง…ที่รอการฟื้นคืน”

ไม่ต้องรอ เพราะไม่ฟื้น และไม่ควรมีแนวคิดฟื้นคืน เพราะเป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากหลอกตัวเอง และหลอกคนอื่น เป็นอู่ทองหลอกๆ

เมืองอู่ทองมีข้อมูลความรู้มากทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เหมาะที่จะสกัดออกโปรโมตท่องเที่ยว แล้วทำในอย่างน้อย 2 ระดับ ได้แก่

1. ระดับนักปราชญ์นานาชาติ ซึ่งกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำประจำอยู่แล้ว มีเอกสารข้อมูลเต็มไปหมดในห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่มีคนอ่าน และไม่มีคนดู (ยกเว้นนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์)

2. ระดับชาวบ้านทั่วไป และนักท่องเที่ยว กรมศิลปากรไม่ทำ (เพราะถนัดทำเรื่องง่ายๆ ให้ยากๆ) และไม่มีที่ไหนทำ

อพท. ควรทำระดับชาวบ้านทั่วไปและนักท่องเที่ยว โดยเอางานระดับนักปราชญ์นานาชาติไปทำซิมพลิฟายให้ง่ายๆ อ่านรู้เรื่อง คนจะได้ไปเที่ยวตามที่อ่านรู้เรื่อง
แต่ อพท. กลับไปทำระดับนักปราชญ์แบบไทยๆ (ที่ถนัดเซ็งลี้ซื้อขายลูกปัด) ชาวบ้านไม่อ่าน ครูบาอาจารย์ทั่วไปก็อ่านไม่รู้เรื่อง เท่ากับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ (ทำให้แม่น้ำเน่าได้) เพราะกรมศิลปากรทำแล้ว แต่ อพท. ทำอีกซ้ำซ้อนกัน แต่ไม่ดีเท่าเขา

อู่ทองหลอกๆ

ส่วนวลีท้ายว่า “ชีวิตดั้งเดิม” ผมว่าน่าเอ็นดู เป็นอู่ทองหลอกๆ เหมือนละครย้อนยุคทางทีวี

อันที่จริงจะทำเล่นๆ หลอกๆ บ้างก็ได้ หลายประเทศในโลกก็ทำ แต่เขาทำเมื่อมีของจริงในมิวเซียมจัดแสดงตามหลักฐานวิชาการครบถ้วน และอย่างมีชีวิตชีวา
ไม่กลวงโบ๋อย่างไทยหลอกๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image