คุยกับผกก. ‘ฉลาดเกมส์โกง’ เมื่อทุกคำตอบที่เลือก ส่งผลต่อชีวิต!

หลังฝากฝีมือไว้กับ ‘Countdown’ เมื่อ 5 ปีก่อน บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ กลับมาอีกครั้งกับ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ งานที่มีจุดเริ่มต้นจากความสนใจเรื่องเด็กโกงข้อสอบของ 2 โปรดิวเซอร์ค่าย GDH เก้ง-จิระ มะลิกุล และ วรรณ วรรณฤดี ซึ่งทันทีที่เข้าฉายก็ทำรายได้ถล่มทลาย แถมได้รับเสียงชมอีกเพียบ โดยเฉพาะเรื่องของบท

“เขียนนานมากๆ เกือบ 2 ปีน่ะครับ” ผู้กำกับเล่า

แล้วว่ากว่าจะได้อย่างที่เห็นทีมเขียนซึ่งมีอยู่ 2 คน ต้องทำการรีเสิร์ชเรื่องการสอบของวัยรุ่นวันนี้ว่าทำกันยังไง รวมไปถึงวิธีคิดแล้วก็ลักษณะของสังคมที่แตกต่าง ส่งผลอย่างไรต่อเรื่องนี้บ้าง ทั้งจากของบ้านเรา แล้วนำไปรวมกับข้อมูลจากต่างประเทศ

“จากการรีเสิร์ช มีการโกงข้อสอบด้วยการใช้ความต่างของเวลา ไม่ใช่ที่อเมริกาอย่างเดียว ที่แต่ละรัฐเวลาไม่เท่ากัน นักเรียน นักศึกษาก็บินไปรัฐที่เวลาเร็วกว่า ส่งคำตอบมาที่นี่  บางประเทศในแถบอาเชียนก็ใช้หลักการนี้ บินไปสอบประเทศที่เร็วกว่า แล้วส่งคำตอบมาที่ประเทศตัวเอง”

Advertisement

บาสยังว่า เขาตั้งใจทำงานชิ้นนี้ให้ออกมาในแนวหนังแอ็คชั่น โจรกรรม เพราะอยากให้เรื่องออกมาแล้วดูสนุก ไม่น่าเบื่อ

“มันคือกิจกรรมที่น่าเบื่อที่สุดในโลกเลยมั้ง นั่งดูเด็กทำข้อสอบอ่ะ เราจะเล่ามันยังไงให้สนุก ก็ต้องผ่านการคิด การดีไซน์ การทำงานร่วมกับตากล้อง ก็หนักมากเหมือนกันครับ พยายามคิดว่าจะไปเทียบเคียงกับหนังเรื่องอื่นๆ ยังไงดี อย่าว่าแต่ในไทย เมืองนอกก็ค่อนข้างหายาก หนังที่มีส่วนผสมแบบนี้ คือแอ็คชั่นธรรมดาๆ มีความดราม่าของเด็กที่เข้าสอบ แต่เราเล่าให้มีสีสัน มีความตื่นเต้นแบบหนังแอ็คชั่น เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ยากสำหรับผม”

Advertisement

ซึ่งจะว่าไปประสบการณ์จากเรื่องแรกดูเหมือนจะช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่

“เหมือนตื่นเวทีอีกรอบเลย”

“ครั้งแรกว่าตื่นเต้นแล้ว ครั้งนี้นึกว่าจะดีขึ้น ไม่เลย ทุกครั้งที่จะออกกอง ก็ยังคงนอนไม่หลับ ไปถึงเห็นทีมงานทุกคนตั้งใจ ก็นึกว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้ไง แล้วผมก็เอาความรู้สึกเหล่านั้นมาแปรให้เป็นพลังด้านบวก ดูดิ เรามีโอกาสแล้ว แล้วทุกคนเต็มที่ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด”

ส่วนเมื่องานออกมาแล้วได้รับการต้อนรับอย่างดี

“พูดอย่างนี้แล้วกดดันเลย…” เจ้าตัวว่าพลางหัวเราะ

“แต่พยายามไม่คิดตรงนั้นนะครับ นึกถึงแต่งานที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ เพราะถ้าเอาความคาดหวังมาด้วยอาจจะเครียดมาก นอนไม่หลับแน่นอน” บาสในวัย 34 บอก

“แล้วเอาจริงๆ ผมไม่ได้มาทำงานตรงนี้เพราะต้องทำอะไรใหม่ๆ ผมว่าผู้กำกับทุกคน การทำหนังหนึ่งเรื่องมันใช้เวลาเยอะมาก ปีหนึ่งอย่างต่ำ สองปีอย่างมาก เพราะฉะนั้นคุณต้องมั่นใจว่าเรื่องที่คุณจะใช้เวลากับมัน ต้องเป็นเรื่องที่คุณอยากเล่า เป็นเรื่องที่คุณสนใจจริงๆ ผมก็เหมือนกัน ผมจะทำหนังจากสิ่งที่ผมสนใจ แล้วอยากเล่ามัน ตัวละครที่ผมอยากเห็น อาจจะโชคร้ายหน่อยตรงที่สนใจในสิ่งที่คนเขาไม่ได้มอง แต่ต้องยอมรับว่า ผมโชคดีมากประมาณนึง ที่อยู่ในบริษัทที่เขากล้าจะซัพพอร์ต กล้าจะทำอะไรแบบนี้ออกมา”

และไหนๆก็ทำเรื่องของการโกงข้อสอบแล้ว เลยถามคนทำไปว่า ชีวิตจริงๆน่ะ เคยทำไหม

“ไม่เคยเลยนะ”เขาตอบทันที

ก่อนออกตัว “ไม่ได้ว่ามีศีลธรรมอะไรขนาดนั้นนะ แต่เป็นคนขี้กลัวมั้ง” บอกเหตุผลแล้วก็หัวเราะเสียงดัง

“ก็จะเห็นเพื่อนๆ รอบตัวมีการโกงกัน แต่ผมไม่เคยเลย ไม่ได้เก่งด้วยนะครับ ตกก็ตกไป ตกก็ซ่อมเอา”

“ผมเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นก็จะใช้เวลาอยู่กับการดูหนัง วิชาการบางอย่าง เช่น วิทย์ คณิต จะไม่ค่อยสนใจ ไปได้ภาษาอังกฤษแทน เพราะดูหนังภาษาอังกฤษ โชคดีที่พ่อแม่เข้าใจว่าตัวตนของลูกคืออะไร ความสามารถของเราคืออะไร ก็โอเค ไม่เป็นไร ขอให้เกรดรวมๆ ไม่แย่จนเกินไปนัก แล้วค่อยต่อยอด นี่ก็เป็นอีกประเด็นในหนังที่เราอยากพูดเหมือนกัน”

ส่วนเรื่องที่อาจมีบางคนกังวลว่าการแสดงให้เห็นเทคนิคการโกงในเรื่อง อาจเป็นการ ‘ชี้โพรงให้กระรอก’ เขากลับมองในทางตรงข้ามว่า อันที่จริงน่าจะเป็นการสอนให้รู้ว่าการกระทำแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวเองขนาดไหนมากกว่า

 “อันนี้ผมถือเป็นจุดยืนในการทำหนังเรื่องนี้เลยนะ เพราะผมจะไม่มีทางปล่อยให้หนังเรื่องนี้ออกมาแล้วเป็นหนังที่ชี้โพรงให้กระรอก เด็กไปดูแล้วจำทริคในการโกงข้อสอบแน่นอน”

“คือหนังมันก็จะมีเมสเสจที่ต้องการจะบอก ซึ่งต้องเข้าไปดู เพื่อให้หนังตอบคำถามนี้เอง แต่ก็เชื่อมั่นว่าเมื่อหนังจบทุกคนจะรู้ว่าจุดประสงค์ในการทำเรื่องนี้คืออะไร”

“มันเป็นความตั้งใจที่ใหญ่กว่าเรื่องทริคในการโกงข้อสอบแน่นอน มันไม่ใช่เรื่องที่ทำแล้วชนะ ทำแล้วได้คะแนนดี ทำแล้วเท่ ทำแล้วคูล ทุกช้อยส์คำตอบที่คุณเลือกมันจะส่งผลต่อชีวิตคุณ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี คุณต้องอยู่กับมันให้ได้”

“ถ้าคุณตัดสินใจกาข้อนี้ไปแล้ว มันผิดขึ้นมา มันก็จะส่งผลกระทบกับตัวคุณเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูต้องตัดสินใจเองว่าจะยังไงต่อ”

“คุณจะเลือกช้อยส์ข้อนี้มั้ย”

“ก็เป็นสิ่งที่อยากจะบอกเล่า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image