ทช.แจงทำตามกฎหมาย ยึดพื้นที่ ผู้บุกรุกป่าชายเลน ปะเหลียน

นส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผว่า กรณีนายวิชิต พิมพิชัย อายุ 54 ปี ชาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง คนพิการตาบอดข้างขวา ร้องทุกข์ต่อผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 33 (ปะเหลียน ตรัง) ได้นำป้ายประกาศมาปักไว้ในสวนมะพร้าวของตัวเองและต่อมาได้เข้าตรวจยึดพื้นที่ โดยกล่าวหาว่า ตนบุกรุกแผ้วถางป่าชายเลนในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหยงสตาร์ ป่าคลองหลักขันธ์ ป่าคลองลิพัง หมู่ 2 บ้านทุ่งลำเจียก-ในทอน ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ทั้งที่เป็นที่ดินมรดกอาศัยทำกินมานานร่วม 50 ปีแล้วนั้น ตนได้สั่งการให้สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 (สบทช.7) ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว สรุปได้ดังนี้ มติครม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530 วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลนโดยเด็ดขาด แต่เนื่องจากมีราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน ครม.จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 ให้ประชาชนที่อยู่ในป่าชายเลนก่อนมีมติ ครม. ปี 2534 สามารถอยู่อาศัยได้แต่ไม่ให้ใช้พื้นที่ป่าชายเลนทำกิน

อธิบดีทช.กล่าวว่า ส่วนพื้นที่สวนมะพร้าวของผู้ร้องเรียน อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติครม. และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหยงสตาร์ ป่าคลองหลักขันธ์ และป่าคลองลิพัง ซึ่งสบทช.7 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการทวงคืนพื้นที่ป่าไม้ โดยติดป้ายแสดงตนเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2560 เพื่อให้ผู้ครอบครองพื้นที่มาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ ณ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 33 หากมีเอกสารสิทธิในที่ดินให้นำมาแสดงด้วยเพื่อดำเนินการตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า ไม่มีผู้ได้มาแสดงตัวภายในเวลาที่กำหนด จึงได้สนธิกำลังตรวจยึดพื้นที่ในเวลาต่อมา

“อย่างไรก็ตาม ตามที่นายวิชิต อ้างว่าได้อาศัยทำกินมาร่วม 50 ปีนั้น ทางสถานีฯ ได้ตรวจสอบโดยการดูแผนที่ภาพทางอากาศโครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2545, โครงการกรมแผนที่ทหาร (NIMA) ถ่ายเมื่อ 12 พฤษภาคม 2542, ภาพถ่ายโครงการกรมที่ดินกิจการร่วมค้า (DOL) ถ่ายเมื่อ 13 มีนาคม 2538 และโครงการ น.ส. 3 (NS3) ถ่ายเมื่อ 16 เมษายน 2516 โดยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า เมื่อปี 2542 จึงไม่ได้เป็นการอยู่อาศัยมาก่อนประกาศป่าชายเลนตามมติ ครม. และไม่ได้เป็นที่ดินตกทอดกว่า 50 ปีแต่อย่างใด”นส.สุทธิลักษณ์ กล่าว

นส.สุทธิลักษณ์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าชายเลน ทช. ได้ยึดโยงคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 รวมทั้งแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้/ทหาร/ตำรวจ/ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง เพื่อยึดคืนพื้นที่บุกรุกป่าชายเลนตามกระบวนการของกฎหมายและควบคุมไม่ให้มีการบุกรุกซ้ำ พร้อมทั้งเร่งรัดปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรมจากบุกรุกให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image