“ไร้หัวใจ” หรือ “ยึดเหตุผล” เปิดมุมมองใหม่ของ “ซูสีไทเฮา” ในสายตาของ “จุง ชาง”

ภาพจาก ww.jungchang.net

โดย ดอกฝน
ในความรับรู้ของคนทั่วไปเกี่ยวกับ ซูสีไทเฮา พระพันปีหลวงนั้น พระนางคือสตรีผู้ทรงอิทธิพลและโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์จีน อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของพระนางนั้น อยู่บนฐานของ 2 แนวคิดหลักที่ขัดแย้งกัน แนวคิดแรกเป็นสายอนุรักษนิยมที่รับรู้กันมาอย่างยาวนานจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก นั่นก็คือ ซูสีไทเฮาเป็นผู้ปกครองที่โหดเหี้ยม ฉ้อฉล โหดร้าย กดขี่ราษฎร และจะต้องรับผิดชอบต่อการล่มสลายของราชวงศ์ชิง

ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งนั้น เพิ่งจะเกิดไม่ขึ้นไม่นานนัก แต่ขัดแย้งกับแนวคิดแรกไปคนละทิศละทาง เพราะนักประวัติศาสตร์สายสมัยใหม่เห็นว่า พระนางก้าวเข้ามาในพื้นที่ของบุรุษอย่างการปกครองก็เพื่อยับยั้งความโกลาหลในบ้านเมืองซึ่งเผชิญศึกทั้งในและนอกประเทศ

นอกจากนี้ พระนางยังเป็นนักปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าการปฏิรูปของพระนางจะสายเกินไปก็ตาม และราชวงศ์ชิงก็สิ้นสุดลงหลังจากที่พระนางเสียชีวิตแล้ว

หนึ่งในนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของพระนางซูสีไทเฮา จนสามารถงัดหลักฐานมากมายที่หลบซ่อนอยู่ขึ้นมาโต้แย้งประวัติศาสตร์กระแสหลักสายอนุกรักษ์นิยมได้อย่างน่าสนใจก็คือ จุง ชาง (Jung Chang)

Advertisement
ภาพจาก ww.jungchang.net

เมื่อกลางปีที่แล้ว เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ จุง ชาง นักเขียนชื่อดังระดับโลกชาวจีน ที่เดินทางมาเมืองไทย จุง ชางอธิบายว่าสิ่งที่เธอทำนั้น อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกที่ว่า “อยากให้เกิดความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์”

จุง ชาง หรือที่มีชื่อจีนว่า จางหรง เป็นนักเขียนชาวจีนที่ใช้ชีวิตอยู่อังกฤษเกินกว่าครึ่งของชีวิต งานเขียนของเธอโด่งดังมากในฐานะของสารคดีประวัติศาสตร์ที่ใช้กลวิธีการเล่าราวกับเรื่องแต่ง สนุกสนานราวกับกำลังอ่านนวนิยายเรื่องหนึ่งทั้งที่จริงเป็นสารคดี โดยประวัติศาสตร์ที่เธอค้นคว้าและเผยแพร่ออกมานั้น ล้วนแต่ท้าทายประวัติศาสตร์กระแสหลักในประเทศจีนอย่างยิ่ง และเป็นประวัติศาสตร์กระแสรองที่รัฐบาลจีนอ่านแล้วก็รู้สึกแสลงใจ จนต้องสั่งแบนหนังสือบางเล่มของเธอ แต่โลกกลับยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน

‘Empress Dowager Cixi : The Concubine Who Launched Modern China’ หรือภาษาไทยในชื่อ ‘ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ ผู้สร้างจีนสมัยใหม่’ โดย นันทวิทย์ พรพิบูลย์ จากสนพ. Sidea ที่เพิ่งแปลออกมานั้น เป็นอีกเล่มที่นำเสนอข้อมูลใหม่ในแง่ที่ว่าพระนางซูสีไทเฮา ไม่ได้เป็นแม่มดร้ายกาจอย่างที่ถูกกล่าวหาในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ตรงกันข้ามนี่คือผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างจีนสมัยใหม่ขึ้นมา

Advertisement

จุง ชาง ปลุกชีวิตของซูสีไทเฮาขึ้นมาอีกด้าน ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของพระนางตั้งแต่เกิดจนวันลาจากโลกนี้ไป ด้วยเอกสารประวัติศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบ เช่น บันทึกของราชสำนัก จดหมายทางราชการ จดหมายส่วนตัว อนุทิน และคำบอกเล่าของพยานในเหตุการณ์ ทั้งในจีน อังกฤษ อิตาลี อเมริกา ไต้หวัน เอกสารส่วนใหญ่เปิดเผยต่อสาธารณะหลังการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุงในปี 1976 แฟ้มเอกสารจำนวนมากถูกจัดประเภท ตีพิมพ์ และบางส่วนถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล

จุง ชาง จึงได้รับโอกาสที่ดีมากในการค้นคว้า โดยเฉพาะข้อมูลจากหอจดหมายประวัติศาสตร์แห่งอรกของประเทศจีน สถานที่หลักซึ่งเป็นที่เก็บบันทึกเกี่ยวกับซูสีไทเฮา ซึ่งมีเอกสารถึง 12 ล้านชิ้น และแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาอ้างอิงก็ไม่เคยมีผู้พบเห็นหรือถูกใช้นอกประเทศจีน นอกจากนี้ชาวตะวันตกในยุคซูสีไทเฮายังทิ้งอนุทิน จดหมาย และบันทึกความทรงจำไว้เบื้องหลัง ทั้งอนุทินของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย รายงานการประชุมรัฐสภาอังกฤษ และหอศิลป์อย่าง Archives of Freer Gallery of Art และ Arthur M. Sackler Gallery ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ยังเป็นสถานที่เดียวที่มีฟิล์มต้นฉบับภาพถ่ายของซูสีไทเฮา

จุง ชาง ค่อยๆ ปะติดปะต่อข้อมูลหลักฐานใหม่ที่เธอค้นพบจนทำให้ซูสีไทเฮามีความเป็นมนุษย์มากที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา มนุษย์ที่มีด้านดี เลว ขาว เทา มีชีวิตเลือดเนื้อและจิตใจ ไม่ใช่เป็นเพียงปีศาจโหดร้ายที่ปกครองประเทศจีนเท่านั้น การตัดสินใจของพระนาง ไม่ได้ส่งผลเพียงการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอกกำแพงเมืองจีน และนำจีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ภายใต้การปกครองของพระนางที่อยู่หลังม่านไหม และท่ามกลางสถานการณ์กบฏอย่างกบฏนักมวย กบฏไท่ผิง การรุกรานจากมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ สงครามกับญี่ปุ่นและฝรั่งเศส อุตสาหกรรมในยุคสมัยใหม่หลายอย่างได้เริ่มก่อเกิด ทั้งทางรถไฟ ไฟฟ้า โทรเลข กองทัพบก กองทัพเรือ รวมถึงยกเลิกการลงโทษแบบเฉือนเนื้อพันครั้งที่น่าสยดสยอง และการรัดเท้าสตรีเป็นดอกบัว… ซึ่งน่ากลัวมากจริงๆ

ในวัย 65 ปี จุง ชาง กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำวิจัยและเขียนเกี่ยวกับชีวิตของมาดามซุ่งชิงหลิง อดีตสตรีหมายเลข 1 ของจีนที่เคียงข้างซุนยัดเซ็นมาโดยตลอด

ส่วนซูสีไทเฮาจะไร้หัวใจ หรือจะยึดเหตุผลนั้น ก็คงต้องพิจารณาตามแต่มุมมองและหลักฐานที่นักประวัติศาสตร์แต่ละคนค้นพบและนำเสนอ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่ายินดีก็คือการที่มีประวัติศาสตร์สองด้านมาคัดง้างให้ได้พิจารณา ไม่ใช่เป็นเพียงการมอบภาพแทนของวีรบุรษ วีรสตรี ปีศาจ หรือมารร้ายให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียว เพื่อรองรับการสร้างชาติ หรือเพื่อเหตุผลอะไรก็ตามของรัฐ
ประวัติศาสตร์สองด้าน คือสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างสังคมที่มีวิจารณญาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image