ทันตแพทยสภาแถลงยืนยัน ‘เครื่องเอกซเรย์ฟัน’ ปลอดภัย ค้านบทลงโทษหนักเกินรับได้

จากกรณีทันตแพทยสภาออกมาคัดค้านการควบคุมเครื่องเอกซ์เรย์ทางทันตกรรม ตาม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 เนื่องจากต้องมีการขึ้นทะเบียนและต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี หากไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่สถาบันทันตกรรม ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ร่วมกับ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา แถลงข่าว “เปิดข้อมูลจริงเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ปลอดภัยต่อประชาชน” ว่าเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมมีการควบคุมในแต่ละขั้นตอนอยู่แล้ว คือการผลิตหรือนำเข้าโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การติดตั้งในคลินิก ควบคุมโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การใช้งานต่อประชาชนทำตามมาตรฐานวิชาชีพควบคุมโดยทันตแพทยสภา และเมื่อเครื่องเสียหรือหมดสภาพการใช้งานจัดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ การกำจัดถูกควบคุมโดยกรมควบคุมมลพิษ แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะควบคุมเครื่องกำเนิดรังสีทั้งหมด รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมนั้น กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนและต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี และต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีประจำ และขึ้นทะเบียนทุก 3 ปี หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

“ประเด็นเรื่องการจดทะเบียนและต่ออายุทุก 5 ปี พวกเราไม่มีปัญหาเลย แต่กังวลเรื่องการต้องมีเจ้าหน้าที่รังสีประจำเครื่อง คือ ต้องเฝ้าเครื่องตลอดเวลา ถือว่าเข้มงวดเกินไป เพราะจริงๆ แล้วเครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ได้มีรังสีออกมาตลอดเวลา จะเกิดก็ต่อเมื่อกดสวิตช์เมื่อจะถ่ายภาพเอกซเรย์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการนั่งเฝ้าเหมือนเครื่องกำเนิดรังสีอื่นๆ แม้ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จะปลดล็อกว่า ทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ไม่ต้องสอบขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ซึ่งจริงๆ แล้วกติกาสากลก็ไม่ได้มีการกำหนด ก็เท่ากับว่าเรื่องความปลอดภัยไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมเลย เพียงแต่เพิ่มขั้นตอนยุ่งยากเข้ามา และมีบทลงโทษรุนแรงมาใช้” นายกทันตแพทยสภากล่าว

ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธการควบคุมเลย เพราะทุกวันนี้ก็มีการควบคุมอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องชี้แจงให้เห็นข้อมูลว่าที่ผ่านมามีการดูแลอย่างไร ซึ่งตาม พ.ร.บ.ก็มีการกำหนดให้ออกข้อยกเว้นได้ สำหรับการออกมาแถลงข่าว เนื่องจากมีการให้ข้อมูลว่าเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมเป็นอันตราย อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนและกระทบต่อการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้ โดยยืนยันว่ามีความปลอดภัย เพราะเมื่อเทียบกับเครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์อื่นๆ แล้ว ถือว่ามีปริมาณรังสีน้อยที่สุด โดยการเอกซเรย์ทั้งตัวปริมาณรังสีประมาณ 10 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) ส่วนเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.การถ่ายภาพเอกซเรย์ในช่องปาก เพื่อดูฟันผุที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การวินิจฉัยรากฟัน ฟันหัก เป็นต้น ปริมาณรังสีคือ 0.008 มิลลิซีเวิร์ต  และ 2.การถ่ายภาพเอกซเรย์นอกช่องปาก เพื่อดูรอยโรคขนาดใหญ่ ดูภาพกว้างของฟันทั้งหมดทุกซี่ เป็นต้น ปริมาณรังสีประมาณ 0.014 มิลลิซีเวิร์ต

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทพ.อรรถพรกล่าวว่า คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จริงๆ เครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ได้อันตราย และมีระบบในการควบคุมอยู่แล้ว

รศ.ทพ.สุนทรา พันธ์มีเกียรติ

ทั้งนี้ รศ.ทพ.สุนทรา พันธ์มีเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังทดสอบวัดปริมาณรังสีบริเวณอาคารสถาบันทันตกรรม ด้วยเครื่องวัดปริมาณรังสี ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าในธรรมชาติก็จะมีรังสีอยู่แล้ว โดยห้องแถลงข่าวชั้น 6 อาคารสถาบันทันตกรรม วัดปริมาณรังสีได้ 0.166 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กกว่ามิลลิซีเวิร์ตพันเท่า ส่วนการวัดบริเวณหน้าห้องเอกซเรย์สถาบันทันตกรรมขณะทำการเอกซเรย์วัดได้ประมาณ 0.179 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยนั้นไม่ได้มีการกำหนดว่าห้ามรับปริมาณรังสีมากเท่าไร แต่การจะเอกซเรย์ฟันนั้น ทันตแพทย์จะทำก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย และจะเลือกวิธีที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีน้อยที่สุด แต่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยอย่างเพียงพอ เช่น การตั้งค่ารังสีที่เหมาะสมกับผู้ป่วย การใส่ชุดป้องกันรังสี คือ เสื้อตะกั่วกันรังสี ปลอกคอตะกั่วป้องกันไทรอยด์ เป็นต้น

ทพ.อาคม สรรเสริญชูโชติ

ทพ.อาคม สรรเสริญชูโชติ อนุกรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า การจะรับอันตรายจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คงต้องทำกันเป็นแสนฟิล์มกว่าจะเป็นอันตรายตามที่มาตรฐานกำหนด ซึ่งข้อเท็จจริง คือ การถ่ายภาพเอกซเรย์ฟัน 1 ครั้งใช้เวลาเพียงครึ่งวินาที การจะถ่ายครั้งต่อไปต้องพักเป็นเวลา 30 วินาที ซึ่งแต่ละวันไม่มีการใช้เครื่องเอกซเรย์มากขนาดนั้น ทั้งนี้ เครื่องเอกซ์เรย์ทันตกรรมเมื่อหมดสภาพแล้วจัดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่ขยะกัมมันตภาพรังสี เพราะเครื่องจะเกิดรังสีได้ก็ต่อเมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่าการรับรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ถือว่าน้อยมากประมาณ 0.2 ไมโครซีเวิร์ต น้อยกว่านักบินซึ่งมีข้อมูลจากต่างประเทศว่า การบินจากลอสแองเจลิสไปนิวยอร์กได้รับรังสีถึง 40 ไมโครซีเวิร์ต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image