งานการข่าว เครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้ภารกิจของทุกองค์กรประสบผลสำเร็จ โดย พล.ท.ทวี แจ่มจำรัส

ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ ประชาชนทุกคนได้รับการบริโภคข่าวสารตลอด 24 ชั่วโมง จากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ และปัจจุบันแพร่หลายมากในโปรแกรม “ไลน์” จากโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของสังคมเมืองเพิ่มเป็นปัจจัยที่ 6 ได้แก่ อาหาร

ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ (รถยนต์) และโทรศัพท์มือถือ ผู้ใดติดตามข่าวสารไม่ทันจะกลายเป็นคนตกยุค คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ยุคนี้เป็นยุคของสงครามข่าวสารอย่างแท้จริง

ซุนวู ปราชญ์ทางด้านการทหารผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของจีนในอดีตเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้ารู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง” คำกล่าวเช่นนี้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกวงการไม่จำกัดเฉพาะวงการทหารเท่านั้น เพราะฉะนั้น งานการข่าวจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ทุกคนสามารถปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานและตนเองสำเร็จ ถ้าขาดงานการข่าวแล้วภารกิจทุกอย่างจะล้มเหลว หรือไม่ประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับงานการข่าวของทหาร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งองค์กรและบุคคลของสังคมทุกภาคส่วนตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าว หรือ ข่าวสาร (News) กับ ข่าวกรอง (Intelligence) มีความหมายแตกต่างกัน ข่าวสารคือเรื่องราวและการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้มาจากการตรวจการณ์ การสื่อสาร

Advertisement

การรายงาน การสังเกต ข่าวลือ (RUMOR) ความนึกคิดและจากแหล่งข่าวอื่นๆ ซึ่งเรื่องราวและการบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานั้นยังมิได้มีการนำมาดำเนินกรรมวิธี ข่าวสารที่ได้มาจึงอาจจะเป็นจริง น่าเชื่อถือได้หรือเชื่อถือไม่ได้และอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความต้องการที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน การกำหนดนโยบายและการดำเนินการก็ได้

ส่วนข่าวกรองคือผลอันเกิดจากการบันทึกรวบรวม การประเมินค่า และการตีความข่าวสารทั้งมวลที่ได้มาซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างของฝ่ายตรงข้าม ต่างชาติ หรือของพื้นที่ปฏิบัติการ และมีความสำคัญโดยตรงหรือน่าจะมีความสำคัญในการวางแผนการยุทธ ยุทธศาสตร์ทหาร ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของชาติ

สรุป “ข่าว” คือเรื่องราวพรรณนาเหตุการณ์ทั้งปวงที่ปรากฏขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวกรองได้พิจารณาความเกี่ยวข้อง จึงกำหนดเป็นข่าวสาร แล้วนำเข้าสู่ระบบงานด้านการข่าวกรอง ผ่านกระบวนการดำเนินกรรมวิธี เพื่อผลิตเป็นข่าวกรอง นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

Advertisement

สําหรับข่าวกรองทางทหาร (Military of Intelligence) เป็นข่าวกรองสำหรับนำมาใช้ในการวางแผนการปฏิบัติตามแผน นโยบาย โครงการ และกำหนดการทางทหาร ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ 1) ข่าวกรองทางการรบหรือข่าวกรอบทางยุทธวิธี (Combat Intelligence) คือความรู้เกี่ยวกับข้าศึก ลมฟ้าอากาศ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ฯลฯ ที่ผู้บังคับหน่วยทหารต้องการใช้ในการวางแผนและการปฏิบัติการทางยุทธวิธี ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่รวบรวมข่าวสารของทั้งหน่วยเหนือ หน่วยรอง หน่วยข้างเคียงและแหล่งข่าวอื่นๆ 2) ข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Intelligence) คือความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย และแผนการทางทหารของต่างชาติ ชาติใดชาติหนึ่งหรือหลายๆ ชาติ โดยมุ่งพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของชาติ การวางแผน และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ความต้องการข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ได้แก่ ขีดความสามารถ จุดล่อแหลมและหนทางปฏิบัติที่น่าจะเป็นของชาติอื่นทั้งที่เป็นศัตรู พันธมิตรและชาติเป็นกลาง

เราต้องการข่าวกรองไปเพื่ออะไร? ความมุ่งหมายในการใช้ข่าวกรองทางการรบ (ซึ่งได้แก่ ข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ปฏิบัติการ ขีดความสามารถ จุดล่อแหลม และหนทางปฏิบัติของข้าศึก) ก็เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะมีต่อการบรรลุภารกิจของฝ่ายเราให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้บังคับหน่วยทหารใช้ข่าวกรองทางการรบในการกำหนดข้อตกลงใจที่จะใช้ปัจจัยอำนาจกำลังรบของตนได้อย่างเหมาะสมเพื่อบรรลุภารกิจของหน่วยและกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่หน่วยได้

การปฏิบัติภารกิจของวงรอบข่าวกรองมี 4 ขั้นตอน คือ

1) การวางแผนรวบรวมข่าวสาร 2) การรวบรวมข่าวสาร

3) การดำเนินกรรมวิธีต่อข่าวสาร และ 4) การใช้และการกระจาย

ข่าวสาร/ข่าวกรอง สำหรับวางแผนรวบรวมข่าวสารและการรวบรวมข่าวสารนั้นเป็นการรวบรวมข่าวสารจาก 2 แหล่ง คือ

1) แหล่งข่าวเปิด (OPEN SOURCE) ต่างๆ ซึ่งมิได้มีการพิทักษ์รักษาข่าวสารตามมาตรการรักษาความปลอดภัยและไม่ต้องใช้เทคนิคหรือวิธีการที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่อาจใช้วิธีการปกติธรรมดา เช่น รวบรวมข่าวสารจากเอกสาร, วารสาร, สิ่งพิมพ์, เอกสารวิจัยของสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ รายงานทางการศึกษาและทางวิชาการ หนังสือรุ่นหรือทำเนียบรุ่นของผู้เข้ารับการศึกษาหรือเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ก็ได้ แหล่งข่าวจะมีทั้งทางทหารและพลเรือน

และ 2) แหล่งข่าวปิด (SECRET SOURCE) เป็นการรวบรวมข่าวสารโดยการปฏิบัติการลับ ซึ่งต้องให้ผู้ชำนาญพิเศษ เช่น สายลับ (AGENT) โดยใช้เทคนิคหรือวิธีการที่สลับซับซ้อนและใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษต่างๆ ประการสำคัญจะเน้นหนักในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการอย่างเข้มงวดด้วยการจัดตั้งข่ายงานข่าวลับและการใช้เครื่องมือสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ปฏิบัติงานบางครั้งต้องปิดบัง (COVER) สถานภาพของตัวเองทั้งหมดและต้องเข้ารับการศึกษาในหลักสูตร “การข่าวลับ” ด้วยการปฏิบัติงานข่าวลับสิ่งที่ต้องระวังคือการเสียลับคือ การถูกเปิดเผยตัวหรือที่เรียกกันว่าเบอร์น (BURN) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้

เพราะฉะนั้นการรวบรวมข่าวสารเป็นขั้นตอนที่มีความยากลำบากมากเพราะฝ่ายตรงข้ามจะป้องกันและพยายามทำลายระบบการรวบรวมข่าวสารของฝ่ายเราในทุกวิถีทาง ฝ่ายเราต้องแสวงประโยชน์จากแหล่งข่าวทั้งปวงที่มีอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้รับข่าวสารตามความต้องการ

การดำเนินกรรมวิธีเป็นกระบวนการเพื่อเปลี่ยนข่าวสารให้เป็นข่าวกรอง ประกอบด้วย 1) การบันทึก 2) การประเมินค่า และ 3) การตีความ โดยการบันทึกนั้นคือการจัดระเบียบข่าวสารที่เกี่ยวข้องกันไว้เป็นพวกประกอบด้วยเครื่องมือสำคัญได้แก่ บันทึกประจำวัน แผนที่ สถานการณ์ แฟ้มข่าวกรอง ฯลฯ

การประเมินค่าคือการกำหนดความเกี่ยวข้องในความแน่นอนของข่าวสาร (Validity) รวมถึงการกำหนดความเชื่อถือได้ (Reliability) ของแหล่งข่าวและเจ้าหน้าที่รวบรวมข่าวสารกำหนดคะแนนเป็นตัวอักษรและเป็นตัวเลขโดยมีสัญลักษณ์แทนโดยความเชื่อถือได้เป็นตัวอักษรมี 6 ลำดับคือ ก) เชื่อถือได้เต็มที่ ข) เชื่อถือได้ ค) พอเชื่อถือได้ ง) ไม่น่าเชื่อถือ จ) เชื่อถือไม่ได้ ฉ) ไม่อาจตัดสินความเชื่อถือได้

ส่วนความแน่นอนเป็นตัวเลขมี 6 ลำดับ เช่นกัน คือ 1) ได้รับการยืนยัน 2) น่าจะเป็นจริง 3) อาจจะเป็นจริง 4) สงสัยว่าจะเป็นจริง 5) ไม่น่าจะเป็นจริง และ 6) ไม่อาจตัดสินความจริงได้คะแนนตัวอักษรและตัวเลขเป็นอิสระต่อกัน ตามผลการประเมินค่าความเชื่อถือได้ และความแน่นอนเช่น ข่าวชิ้นนี้มีค่าข่าวเป็น ก-1 หมายความว่า เชื่อถือได้เต็มที่และได้รับการยืนยัน ค-3 หมายความว่า พอเชื่อถือได้และอาจจะเป็นจริง ฯลฯ เมื่อประเมินค่าแล้วก็มาตีความเป็นการกำหนดความสำคัญของข่าวสารและสรุปความหมายที่น่าจะเป็นไปได้ของข่าวสารที่ประเมินค่าแล้วว่าข่าวสารชิ้นนี้จะนำไปใช้เป็นข่าวกรองได้หรือไม่ เช่น ประเมินค่าข่าวได้ ง-5 ไม่น่าเชื่อถือและไม่น่าจะเป็นจริง จึงไม่มีประโยชน์นำไปใช้งานเป็นต้น

สำหรับขั้นตอนสุดท้ายได้แก่ การกระจายข่าวสารและข่าวกรองมีความมุ่งหมายหลักคือทันเวลาเพื่อให้ผู้รับผิดชอบนำไปประกอบการตกลงใจ อย่างเชื่อมั่นเพื่อให้บรรจุภารกิจนั้นๆ ความต้องการข่าวกรองซึ่งมีความเร่งด่วนอันดับสูงสุดอาจเป็นข่าวกรองหรือข่าวสารเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะพื้นที่ปฏิบัติการและฝ่ายตรงข้าม ซึ่งคุกคามต่อความสำเร็จในการบรรลุภารกิจกระทบกระเทือนต่อการเลือกหนทางปฏิบัติ (ห./ป.) ของฝ่ายเรา และ/หรือที่ผู้บังคับบัญชาต้องการทราบเป็นพิเศษก่อนที่จะทำการตกลงใจอย่างมีเหตุผล กำหนดเป็นคำที่จะได้รับทราบกันว่าเป็นหัวข้อข่าวสารสำคัญ (หขส.)

ส่วนข่าวสารที่เกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามหรือพื้นที่ปฏิบัติการที่อาจจะกระทบกระเทือนแต่ไม่ถึงกับขัดขวางความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจโดยตรง (ที่มิใช่ หขส.) กำหนดเป็นความต้องการข่าวกรองอื่นๆ (ตขอ.) ความต้องการข่าวกรองนั้นจะประกาศในรูปของคำถามที่ สั้น แจ่มแจ้ง และชัดเจน

ตัวอย่างการกำหนด หขส. เช่น ฝ่ายตรงข้ามจะเข้าตีก่อน 10 ม.ค.นี้ เวลา 05.00 หรือไม่? ถ้าทำ จะทำเมื่อไร? ที่ไหน? และด้วยกำลังเท่าใด จะต้องตอบคำถาม (5W 1H) ให้ได้ว่าใครจะทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน ทำไม อย่างไร? (Who What When Where Why How?) ซึ่งสามารถนำมาตั้งเป็นคำถามในการจัดทำกิจกรรมใดๆ ในภาคพลเรือนและธุรกิจเอกชนได้เช่นกัน

ในภารกิจทางด้านการทหารจะให้ความสำคัญกับงานการข่าวมาก โดยจะต้องเป็นผู้ขึ้นบรรยายสรุปสถานการณ์ด้านการข่าวเป็นลำดับแรก

ปัจจุบันมีเหล่าทหารการข่าวเป็นเหล่าที่กำหนดขึ้นล่าสุดโดยเฉพาะและจะมีนายทหารฝ่ายข่าวกรองทางการรบ เป็นฝ่ายอำนวยการ/ฝ่ายเสนาธิการ (Staff) ตั้งแต่หน่วยระดับกองพัน กรม กองพลในระดับกองทัพภาคจะมีผู้อำนวยการกองข่าว ในระดับกองทัพบก เรือ อากาศ มีเจ้ากรมข่าวทหารบก เรือ อากาศ (ชั้นยศพลโท พลเรือโท พลอากาศโท) รับผิดชอบรวมถึงการทูตทหารในต่างประเทศด้วย โดยกรมข่าวทหารบกมีภารกิจด้านการข่าว การรักษาความปลอดภัย การข่าวลับ การทูตฝ่ายทหารบก ควบคุมแจกจ่ายแผนที่ทหาร ฯลฯ โครงสร้างการจัดหน่วยที่สำคัญมี สำนักข่าวกรอง สำนักวิเทศสัมพันธ์ กองแผนและฝึก กองโครงการและงบประมาณ กองรักษาความปลอดภัย กองสารสนเทศ และโรงเรียนข่าวทหารบก

ในระดับกองทัพไทย มีเจ้ากรมข่าวทหาร (ชั้นยศพลโท) และหน่วยปฏิบัติ ได้แก่ ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) (ชั้นยศพลโท) โดยมีโรงเรียนรักษาความปลอดภัยอยู่ในสังกัดด้วยเป็นหน่วยรับผิดชอบ

ในระดับกระทรวงกลาโหมจะมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน (ชั้นยศพลเอก) รับผิดชอบ

เฉพาะกองทัพบกจะมีหน่วยปฏิบัติงานข่าวเพิ่มเฉพาะขึ้นอีก 1 หน่วย คือ หน่วยข่าวกรองทางทหาร (ขกท.) (ชั้นยศพลตรี) มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง สนับสนุนหน่วยปฏิบัติการทางยุทธวิธีทั้งในภารกิจป้องกันประเทศ และภารกิจรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีโครงสร้างการจัดหน่วย เช่น มีกองซักถาม กองทำเนียบกำลังรบ แผนกต่อต้านข่าวกรอง แผนกข่าวกรองการภาพ แผนกกรรมวิธีข้อมูล แผนกรวบรวมและวิเคราะห์ข่าว หน่วยข่าวกรองทางทหารสนับสนุนกองทัพภาค หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษและกองพล

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการข่าวจะมีหมายเลขความชำนาญการทางทหาร (ชกท.) สำหรับนายทหารสัญญาบัตร ได้แก่ ตำแหน่งนายทหารข่าวกรองทางทหาร นายทหารฝ่ายข่าวกรองทางการรบ และนายทหารต่อต้านข่าวกรอง

โดยนายทหารต่อต้านข่าวกรองนั้น มีหน้าที่ทั่วไปในการกำหนดแนวปฏิบัติและร่วมในการตรวจสอบบุคคลหรือหน่วยและบริเวณหรือค่ายทหารสำคัญๆ เพื่อสืบหาความทรยศ (BETRAY) การปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความไม่สงบการบ่อนทำลาย การเอาใจออกห่าง การจารกรรม และการก่อวินาศกรรม

งานการข่าวทางทหารสามารถประยุกต์นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของทุกองค์กรและตัวบุคคลได้ ในทุกๆ วันนี้ ทุกท่านก็ได้ทำงานการข่าวโดยไม่รู้ตัวอยู่เองแล้ว ไม่ว่าจะทำกิจการใด ท่านจะต้องมีข่าวหรือข่าวสาร ในเบื้องต้นจากแหล่งข่าวคือต้นกำเนิดของข่าวสารที่แท้จริงที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) บุคคล 2) วัตถุและเอกสาร และ 3) พฤติกรรมการปฏิบัติ ถ้าจะให้มีความแน่นอนยิ่งขึ้นท่านก็จะต้องมาวิเคราะห์ประเมินค่าตีความข่าวด้วยตัวท่านเองว่าอยู่ในระดับใด แล้วต่อมาจึงตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำภารกิจหรืองานนั้นๆ คงไม่มีใครหรือองค์กรใดที่จะกล้าและบ้าบิ่นทำภารกิจที่สำคัญโดยไม่มีข่าวสารและหรือข่าวกรองอย่างพอเพียงก่อนตัดสินใจอย่างแน่นอน

สำหรับในบ้านเรายังมีความเชื่อถือโชคลางด้วย บางทีก็ต้องมีฤกษ์ยามที่ประกอบงานการข่าวไปด้วยเพื่อความมั่นใจในความสำเร็จ ซึ่งก็ไม่มีกฎกติกาหรือข้อห้ามใดๆ ไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image