ส่อวุ่น! นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว กระทะโคเรียคิง ไม่ใช่หินอ่อนตามโฆษณา

กรณีที่สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้สำนักงานคณะคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เข้าไปตรวจสอบเรื่อง กระทะยี่ห้อ โคเรีย คิง ที่มีการโฆษณาว่า ตัวกระทะนั้นทำมาจากหินอ่อนเงิน และหินอ่อนทอง เมื่อนำไปปรุงอาหาร ทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยตัว มีราคาสูงถึงใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,000 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ นั้น
วันที่ 16 พฤษภาคม รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ กับ “มติชน” ในเรื่องนี้ว่า เบื้องต้นนั้นตั้งข้อสังเกตว่า การใช้คำในโฆษณาดังกล่าว เป็นคำที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ว่าตัวกระทะนั้นทำมาจากหินอ่อน ซึ่งจริงๆแล้ว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำไปตรวจสอบ ดูชั้นการเคลือบของกระทะดังกล่าวแล้วพบว่า ไม่ใช่กระทะหินอ่อนตามที่โฆษณากันไว้ เป็นเพียงอัลลูมิเนียม อัลลอย หรืออัลลูมิเนียม บวกกับเหล็ก เคลือบเอาไว้กับตัวกระทะเอาไว้เท่านั้น ไม่ต่างกับกระทะที่เคลือบเทปลอนตัวอื่นๆ ที่ทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยวิธีการเคลือบก็จะเคลือบหลายชั้น ตัวที่ใช้เคลือบก็จะทำเป็นลวดลายให้คล้ายกับหินอ่อนเท่านั้น

“ตอนนี้ทาง สคบ.ให้ 3 หน่วยงาน นำเอากระทะยี่ห้อนี้ไปตรวจละเอียด คือ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรวจเรื่องการเคลือบของตัวกระทะ ซึ่งผลก็ออกมาแล้วเหมือนที่ผมบอกข้างต้น ทางศูนย์วิจัยโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ตรวจสอบเรื่องการทนไฟ และให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) ตรวจสอบว่ามีสารพิษปนเปื้อนหรือไม่อย่างไร ซึ่งเมื่อได้ผลการตรวจสอบออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว เช้าใจว่า ทางสคบ.จะออกมาชี้แจงเรื่องนี้อีกที”รศ.เจษฎา กล่าว

รศ.เจษฎา กล่าวว่า ในส่วนของตนแล้ว เรื่องการทำอาหารที่ไม่ใช้น้ำมัน หรือใช้น้ำมัน เป็นเรื่องของความชอบส่วนตัว และความเหมาะสมของอาหารแต่ละชนิด ส่วนตัวกระทะนั้น ยี่ห้อนี้ก็ไม่ได้ต่างจากกระทะที่เคลือบเทปลอนยี่ห้ออื่นมากนัก สิ่งที่ไม่ควรทำก็คือ การโฆษณาที่เกินจริง ซึ่งคำว่า กระทะหินอ่อนนั้น ในประเทศเกาหลีเป็นเพียงคำศัพท์คำหนึ่งของการโฆษณาเท่านั้นไม่ใช่หินอ่อนจริงๆที่นำมาทำกระทะ

“ถ้าเป็นเมืองนอกนั้นกรณีแบบนี้ถือเป็น Fake Price เป็นเรื่องใหญ่มากในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น หากสินค้าที่โฆษณาขายในทีวีราคา 10,000 บาท แล้วไปพบว่า ในร้านค้าทั่วไปก็ขายในราคาใกล้เคียงกัน ไม่เป็นไร แต่เมื่อใดที่ ในท้องตลาดขายใบละหมื่น พอมาขายในทีวีเหลือไม่กี่พัน และยังแถมโน่น นี่นั่นอีกมากมาย หรือ ซื้อ 1 แถม 1 แถม 2 นี่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงทันที”รศ.เจษฎา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image