โคราชชู“วังหินโมเดล”ลดนา-เพิ่มโค รูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับภูมิสังคม

“วังหินโมเดล” ชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนา รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำภายใต้บริบทของชุมชนเอง ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ปรับวิถีเกษตรกรรม ลดพื้นที่ทำนา หันมาเน้นอาชีพเสริมเลี้ยงโค-กระบือ ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เพิ่มรายได้สร้างชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานของความสามัคคีชูเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบของโคราช ร่วม “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งตามพระราชดำริ” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล ปิดทองหลังพระฯ ได้ให้ความสำคัญกับการขยายผลการพัฒนาในระดับครัวเรือนและการรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพให้กับชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน โดยจัดศึกษาดูงานชุมชนตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ระดับชุมชนที่น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ เป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขและพัฒนาตนเอง

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “วังหินโมเดล” ถือว่าเป็นต้นแบบการทำเกษตรผสมผสาน เอาชนะภัยแล้ง ด้วยพลังความร่วมมือของชาวบ้านในการฟื้นฟูและขยายเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงโคกระบือ ด้วยทุนเดิมที่มีในชุมชนควบคู่กับการทำนา พัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และนำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตนเอง

Advertisement

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยรับฟังปัญหาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ หมู่บ้าน พื้นที่รวมกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกว่า ๑๕,๐๐๐ ไร่ นั้น เป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ประสบปัญหาแล้งซ้ำซากหรือน้ำท่วม โดยในปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผลผลิตเสียหายเกือบทั้งหมด เป็นพื้นที่เสี่ยง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำนา เลี้ยงสัตว์ อาชีพเสริมคือทอเสื่อ ทอผ้าไหมและมีการเลี้ยงโคกระบือเพิ่มรายได้ แต่เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร จึงอยากเปลี่ยนแนวทางทำเกษตร

“จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับนโยบายรัฐที่ให้ลดพื้นที่การทำนา นำมาสู่การจุดประกายเรื่องการเลี้ยงโค-กระบือแบบครบวงจร โดยส่งเสริมให้แบ่งพื้นที่มาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเลี้ยงโค-กระบือ ลดความเสี่ยงการปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิต ซึ่งคุณสมบัติของหญ้าเนเปียร์คือ โตเร็ว รสหวาน สามารถเป็นอาหารสัตว์ได้หลากหลาย กระตุ้นชาวบ้านให้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแนวทางลดพื้นที่ทำนา มาปลกหญ้า ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่ต้องเดินทางไปหาหญ้าต่างถิ่น ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกัน สร้างทางเลือกในการเพิ่มรายได้ด้านเลี้ยงสัตว์ และปลูกหญ้า”

Advertisement

ปัจจุบันชาวบ้านเห็นความสำคัญจากที่ผู้นำชุมชน เพื่อบ้านที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่าง และเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร หันมาขยายพันธุ์ปลูกหญ้าเนเปียร์มากขึ้น ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและแปลงส่วนรวมในพื้นที่สาธารณะเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโค-กระบือในพื้นที่ โดยกรรมวิธีการเลี้ยงแบบประณีตในคอก แทนการเลี้ยงแบบธรรมชาติมีปศุสัตว์อำเภอให้การอบรมทักษะด้านการดูแลรักษา การสุขาภิบาลสัตว์ การขยายพันธุ์ และฝึกให้เป็น “ปศุสัตว์อาสา” ประจำหมู่บ้าน จากการปฏิบัติจริง ทำการอบรมทุกเดือนๆละ ๑ ครั้ง ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ตำบลวังหิน จากเดิมเมื่อปี ๒๕๕๐ เกษตรกรได้รับสนับสนุน โค-กระบือ จากธนาคารโค-กระบือ จำนวน ๒๖ ราย ปัจจุบันขยายสมาชิกเพิ่มเป็น ๑๐๑ ราย มีโค จำนวน ๑๗๗ ตัว กระบือ ๔๕ ตัว นอกจากนั้นยังมีหลายรายที่ซื้อมาเลี้ยงเอง มีโค ๑,๑๑๒ ตัว กระบือ ๕๓๖ ตัวผู้เลี้ยงทั้งหมด ๕๐๐ ครัวเรือนและยังมีสามชิกที่ลงทะเบียนขอสนับสนุนพ่อ-แม่พันธุ์จากธนาคารโค-กระบือเพิ่มอีก ๑๕๐ ราย โดยมีกลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ อยู่ ๓ กลุ่มหลัก คือ ๑) กลุ่มธนาคารโค-กระบือเดิมซึ่งเทศบาลดูแล ๒) กลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านหนองขี้เหล็ก ๓) กลุ่มผู้เลี้ยงกระบือ ทั้ง ๓ กลุ่มอยู่ในการควบคุมของเทศบาลตำบล โดยเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลพร้อมทั้งติดตามให้ความรู้สมาชิก รวมถึงมีการฟื้นฟูการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือกันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกษตรกรช่วยเหลือกัน พร้อมทั้งเรียนรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง

“เป้าหมายต่อไปคือ การเพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงโคให้มากขึ้น ๑๐% ต่อปี จากเดิมที่จังหวัดกำหนดเป้าหมายไว้ ๕% ต่อปี ปัจจุบันเกินเป้าที่ตั้งไว้ รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้ราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาต่อยอด ผลิตภัณฑ์จากโค-กระบือ เช่น ปุ๋ยจากมูลสัตว์ นำมาใช้ในกลุ่มผู้ปลูกผัก และอีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เกษตรกรที่เลี้ยงโค-กระบือ รู้จักการเปรียบเทียบ เช่น ทำนา ๓ ไร่ ได้ข้าว ๑ ตัน ขายได้เงินไม่เท่ากับขายโค ๑ ตัว หากลดพื้นที่นามาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้หลายตัวจะได้เงินมากกว่า”

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาได้นำ “วังหินโมเดล” มาใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาขยายผลออกไปยังอีก ๘ อำเภอ

จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ มูลนิธิปิดทองหลัวพระฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังได้จัดให้มี “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งตามพระราชดำริ” โดยตัวแทนจาก ๕ ชุมชน คือ ชุมชนบ้านบึงคำคู ตำบลบัลลังก์ อำเภอโนนไทย ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง ชุมชนบ้านตะครองงาม ตำบลลุงเขว้า อำเภอหนองบุญมาก ชุมชนบ้านเตย ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย และชุมชนบ้านพุดซา ตำบลหนองพลวง อำเภอจักราช เพื่อให้แต่ละชุมชนได้นำเสนอประสบการณ์พัฒนาชุมชน ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค ซึ่งสามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการประยุกต์ใช้ในแนวพระราชดำริเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image