รพ.จุฬาลงกรณ์ เปิดเครื่องรักษาต้อกระจกแห่งแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมด้วยรศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ หัวหน้าฝ่ายจักษุวิทยา รศ.(พิเศษ) นพ.ภาคภูมิ คัมภีร์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และรศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ หัวหน้าศูนย์เลเซอร์สายตา โรงพยาบาลจุฬาฯ แถลงข่าวการรักษาตาต้อกระจกด้วยเทคโนโลยีล่าสุด แห่งแรกในเอเเชียตะวันออกเฉียงใต้

รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้นำเครื่องตรวจวัดค่าสายตาระหว่างการผ่าตัดแบบเรียลไทม์ เลเซอร์อเบอร์โรมิเตอร์ (laser Aberrometer) ที่มีความทันสมัย และแม่นยำ มาใช้ในการผ่าตัดรักษาโรคตาต้อกระจกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยสามารถวัดค่าสายตาขณะกำลังผ่าตัดเพื่อให้แพทย์เลือกเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมกับปัญหาสายตาของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีค่าสายตาใกล้เคียง 0 หรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเพิ่มเวลาในการผ่าตัดสลายต้อกระจกอีกแค่ 1-2 นาทีเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการบวกเพิ่มค่ารักษาจากค่ารักษาปกติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมาก ยาวมาก เอียงมาก กระจกตาโค้ง และผู้ที่เคยทำเลสิกมาก่อน

รศ.นพ.ปริญญ์ กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นๆ นั้นก็มีความทันสมัยในการรักษาโรคทางจักษุ อาทิ ใช้เลเซอร์ และคลื่นความถี่สูง และเสียงมาสลายต้อกระจก ซึ่งจะมีการพิจารณาใช้เป็นรายกรณีไป ส่วนค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้เครื่องเลเซอร์เปิดเยื่อหุ้มเลนส์ ก่อนสลายต้อกระจก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเมื่อ 2-3 ปี ก็จะบวกค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำสุดคือ 15,000 บาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image