คุยคนต้นแบบโครงการกำลังใจฯ ‘คุก’ ให้บทเรียนชีวิต ขอ ‘โอกาส’ คืนสู่สังคม

สังคมเชื่อและตีตรา ‘ผู้ต้องขัง’ ว่าไม่สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ จึงไม่ให้โอกาส ไม่คล่องแวะ ยิ่งพอได้ทราบข่าวเหตุการณ์ร้ายๆ ในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากคนที่พ้นโทษออกมากระทำซ้ำ ความเชื่อนี้ยิ่งฝังลึก และพลอยไปต่อว่าเรือนจำว่ากักขังกันอย่างไรถึงยังเป็นอย่างนี้

ทว่าปัจจุบันก็มี “ผู้ต้องขัง” ส่วนหนึ่งที่ได้รับโอกาสและกำลังใจ จนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ และอาจดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะได้นำบทเรียนชีวิตมาสอนให้ผู้อื่นไม่หลงผิดตาม อย่างพวกเขาเหล่านี้

เริ่มที่ วีรภาพ กันแก้ว เพิ่งพ้นโทษคดียาเสพติดในปี 2559 คนต้นแบบโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวกำลังใจ ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลแม่จัน อ.แม่จัน จ.เชียงราย เล่าว่า ก่อนเข้าเรือนจำตนขายก๋วยเตี๋ยวตามตลาดนัดมาก่อน ขายดีบ้างไม่ดีบ้างแต่เหนื่อยทุกวัน จนวันหนึ่งมีคนเอายาบ้ามาให้ 10 เม็ดแทนการคืนเงิน 500 บาทที่ยืมไป ตนตัดสินใจเอาไปขายต่อ ปรากฏได้เงินมา 1,000 บาท ทำให้รู้สึกว่าได้เงินง่าย ไม่เหนื่อย จึงขายเพิ่มขึ้นและทำมาตลอด 2 ปี จนถูกตำรวจล่อซื้อและจับกุมได้ ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 6 ปี 16 เดือน 15 วัน

Advertisement

ชีวิตในคุกช่วงแรกของวีรภาพค่อนข้างขมขื่น เพราะไร้อิสระภาพ คิดมากเรื่องอนาคต เขาจึงคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ก็มีแม่และพี่สาวที่คอยให้กำลังใจและให้โอกาส เขาจึงเลือกอดทนอยู่เรื่อยมาจนเข้าสู่ปีที่ 3 ที่โครงการกำลังใจฯเข้าไป เขาสมัครเข้าโครงการทั้งที่ไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าอยากออกไปจากที่นี่ ออกไปเจอแม่และพี่สาวให้เร็วที่สุด พอเข้าไปแล้ววีรภาพได้เรียนและทำกิจกรรมมากมาย อาทิ อบรมวิชาชีพระยะสั้น เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงร.9 ทักษะการใช้ชีวิต รวม 22 วิชา โดยมีทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คอยดูแลและเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิด ในเวลา 9 เดือน เขาจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด

“แต่ก่อนผมขายก๋วยเตี๋ยวได้เงินมาใช้จ่ายตามใจ ไม่เคยคิดแม้กระทั่งว่าจะมีเงินทุนทำก๋วยเตี๋ยววันต่อไปไหม แต่หลังได้รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ แต่ยังสามารถปรับใช้กับวิถีชีวิตได้ ทำให้ผมเริ่มมีขันติกับการใช้เงิน มีเงินเก็บ ยอมรับและพอใจกับเงินที่ขายได้ และยึดมั่นในคำสัญญาที่ผมได้กราบทูลไว้กับ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ว่าหากผมพ้นโทษออกผมจะเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้กำลังใจและพลังสนับสนุนจากพระองค์ ที่ประสานหาทำเลดีที่ตั้งร้านใหม่ และเมื่อเปิดสำเร็จ พระองค์ก็เสด็จมาเสวยก๋วยเตี๋ยวที่ผมทำ เหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจที่ยากจะพูดออกมา ในใจรู้แค่ว่าผมจะไม่ทำให้คนที่สนับสนุนและให้โอกาสต้องผิดหวัง ผมจะเป็นพ่อค้าที่ดี จะช่วยสังคมเท่าที่มีโอกาส” ชายวัย 38 ปีเล่าด้วยสีหน้ามุ่งมั่น และทิ้งท้ายถึงความโชคดีว่า

“มองย้อนกลับไปรู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่ผมติดคุก เพราะวันนั้นผมอาจถูกตำรวจยิงตายไปแล้วก็ได้ และด้วยโอกาสและกำลังใจจากพระองค์ จากหน่วยงานองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะแม่และพี่สาว ทำให้มีวันนี้ได้ และผมจะไม่เขินอายเลยที่จะบอกใครๆว่าผมเคยติดคุก จะถ่ายทอดบทเรียนและความรู้สึกที่ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่”

วีรภาพ กันแก้ว

ขณะที่ ไพโรจน์ ลอเฒ่า อายุ 21 แม้ต่างวัย แต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นและพ้นโทษมากับวีรภาพ ซึ่งถูกจับคดียาเสพติดเช่นกัน เล่าว่า อยากขอบคุณเรือนจำ ขอบคุณตำรวจที่จับตนมา เพราะจากคนไม่เอาถ่าน ไม่ชอบทำงาน ติดเกมส์ ได้เปลี่ยนเป็นคนสู่งาน เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ตนยังดีใจมากที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจฯ ที่ได้เข้าเฝ้าฯและกราบทูลต่อ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระองค์ทรงใส่พระทัยประชาชน โดยในกรณีของตนพระองค์ทรงให้พระสหายช่วยแนะแนวและประสานการเรียนต่อให้ ซึ่งตนจะไม่ลืมเลย และจะทำให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้วยเป็นคนขาดโอกาสตั้งแต่เด็ก ไพโรจน์จึงไม่เคยตั้งความฝันให้ชีวิต ตอนนี้เขายังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร แต่ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า “จะพยายามช่วยเหลือคนด้อยโอกาสในสังคม เพราะเข้าใจความรู้สึกดี เช่นเดียวกับความรู้สึกเมื่อได้รับโอกาส อย่างไรก็ดี ขณะนี้ผมได้งานทำแล้ว เป็นงานด้านเอกสารของสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่”

ไพโรจน์ ลอเฒ่า

ด้าน วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิชาการศูนย์วิชาการการเสพติดภาคเหนือ มช. ซึ่งเป็นครูฝึกที่สนิทกับวีรภาพ-ไพโรจน์ เล่าว่า จากการเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลจากอดีตผู้ต้องขัง 50 คนที่อยู่ในหลักสูตรรุ่น 6 ดังกล่าว พบว่าคนๆ หนึ่งจะเปลี่ยนได้ต้องมีหลายองค์ประกอบ อาทิ แต่สำคัญที่สุดคือกำลังใจตัวเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำนอกเหลือจากการอบรมอาชีพ คือการใช้ธรรมะช่วยขัดเกลาความรู้สึกทางจิตใจของผู้ต้องขัง อาทิ การปั้นขึ้นรูปพระพุทธรูป การฟังธรรม นั่งสมาธิ แต่อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนในหลักสูตรที่พ้นโทษออกไปกลับไปกระทำผิดซ้ำ 2 ราย ซึ่งพบปัจจัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้อง ทำให้ขาดสติยั้งคิด

ปีนี้ศูนย์ฯ ได้ดำเนินหลักสูตรต่อเป็นรุ่น 7 เรียน 22 วิชา แต่ปรับหลักสูตรลดเวลาเรียนเหลือ 5 เดือน และแม้จะเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่โลกภายนอกไว้ดีแค่ไหน แต่วัชรพงศ์มองว่า ก็ควรมีกระบวนการติดตามต่อ โดยเฉพาะผู้พ้นโทษที่มีความเสี่ยงจะไปกระทำผิดซ้ำ ขณะเดียวกันสังคมควรเปิดโอกาสผู้พ้นโทษ ไม่ตีตราเหมารวมว่าคนคุกเป็นคนไม่ดีเหมือนกันหมด

วัชรพงศ์ พุ่มชื่น

** ก้าวต่อไปโครงการกำลังใจฯ

พิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เล่าถึงก้าวต่อไปโครงการกำลังใจว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีรับสั่งให้โครงการกำลังใจฯ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) มาประชุมและประสานงานกัน ซึ่งการประชุมครั้งแรกพระองค์เสด็จมาเป็นประธาน โดยพระองค์ทรงเน้นว่าการทำงานจะต้องทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ รวมถึงการแก้กฎหมายเรื่องใหญ่ การป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้มาเข้าวงจรและติดคุก การป้องกันผู้พ้นโทษกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ออกไปกระทำผิดซ้ำ อาทิ ต้องมีกระบวนการเตรียมตัว สร้างทัศนคติที่ดี ไม่มองว่าตนเองเป็นคนขี้คุก ทุกคนมีเป้าหมายชีวิต ทุกคนก็เคยล้ม แต่ล้มแล้วต้องยืนหยัดได้ คนรอบข้างไม่ตีตรา ตลอดจนมีทุนประกอบอาชีพ อาทิ ป.ป.ส.ที่ให้ทุนประกอบอาชีพ 20,000 บาท

พิทยา จินาวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image