ออมสินเผยประชาชนกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-กดดัชนีฐานรากไตรมาส 1 หดตัว

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ประจำไตรมาส 1 ปี 2560 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 1,843 ตัวอย่าง พบว่าดัชนี ไตรมาส 1 ปี 2560 อยู่ที่ระดับ 47.2 ปรับลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 49.9 เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบันยังฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูง ประกอบกับโอกาสในการหางานทำยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สำหรับ ดัชนีในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าประชาชนระดับฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.4 เนื่องจากความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการโครงการที่มาสนับสนุนช่วยเหลือการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาผลผลิตทางการเกษตรเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

นายชาติชายกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการโครงการภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึง ต้นปี 2560 ในขณะที่เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ประชาชนระดับฐานรากมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการจับจ่ายใช้สอย ความสามารถในการชำระหนี้ และการออม ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มองว่าเป็นผลมาจากมาตรการโครงการภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสินเชื่อ รายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน และมาตรการพักชำระหนี้ต่างๆ เป็นต้น

นายชาติชายกล่าวว่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนฐานราก โดยเมื่อสอบถามถึงการนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนฐานราก พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ได้นำข้อมูลข่าวสารมาใช้ โดย 3 อันดับแรก คือเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 17.9% ข่าวสวัสดิการจากภาครัฐ 10.4% และราคาซื้อขาย ในปัจจุบันของสินค้าเกษตรหรือปศุสัตว์ 10.3% โดยมีเพียงบางส่วนที่ไม่นำข้อมูลข่าวสารมาใช้ เพราะมองว่าข้อมูลข่าวสารนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้น้อย และข้อมูลไม่ตรงกับการประกอบอาชีพ

นายชาติชายกล่าวว่า สำหรับข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนระดับฐานรากสนใจเพื่อการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตในอนาคต พบว่า 3 อันดับแรกคือ เรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 15.0% ข่าวสารสวัสดิการจากภาครัฐ 14.9% และความรู้ทางการเงิน 14.6% โดยมีวัตถุประสงค์ที่นำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ต่อตนเองหรือครอบครัว 28.6% ใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน 13.7% และการวางแผนเรื่องการออมหรือการขอสินเชื่อ 13.6%

Advertisement

นายชาติชายกล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงช่องทางหลักในปัจจุบันที่ประชาชนระดับฐานรากใช้ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร พบว่า 3 อันดับแรกคือโทรทัศน์ 28.7% แอปพลิเคชั่น 14.8% เว็บไซต์ และบุคคลรอบตัว เช่น เพื่อน ผู้ร่วมงาน มีสัดส่วนที่เท่ากัน 10.6% ส่วนในอนาคตต้องการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความ ต้องการรับรู้ผ่านสื่อแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มลดลง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image