สภาวิชาชีพสื่อ ควรมีหรือไม่ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อสารมวลชน (สปท) ส่งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งปรับแก้ตามมติสภาขับเคลื่อนฯให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยยังคงยืนยันหลักการให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ที่มีตัวแทนภาครัฐ 2 ตำแหน่งอยู่ด้วย คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ทางด้าน 30 องค์กรสื่อ นำโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศคัดค้านร่างฉบับกรรมาธิการ ขณะเดียวกันจะนำร่างกฎหมายที่องค์กรสื่อร่วมกันยกร่างขึ้นส่งให้รัฐบาลนำไปพิจารณาควบคู่กันไปด้วย

ผลการตัดสินใจของรัฐบาลจะออกมาอย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรสื่อนำเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายสื่อเข้าไปประกบ สะท้อนว่า แนวโน้มกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อโดยมีกฎหมายเฉพาะรองรับมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

การที่รัฐบาลจะเลือกแนวทางยกเลิก ไม่เสนอกฎหมาย ไม่ว่าฉบับของฝ่ายใดก็ตาม จึงมีความเป็นไปได้น้อยเต็มทีเช่นกัน

Advertisement

นั่นเป็นสัญญาณว่า ต่อไปนี้จะก้าวเข้าสู่ยุคการควบคุมกันเองของสื่อโดยมีกฎหมายเฉพาะรองรับ

ประเด็นที่ต้องติดตามจึงอยู่ที่ว่า กลไก กระบวนการควบคุมกันเองตามกฎหมายของฝ่ายสื่อออกแบบไว้อย่างไร สามารถตอบโจทย์เสียงเรียกร้องของสังคมเกี่ยวกับประสิทธิภาพการควบคุมกันเองได้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพียงไร และเป็นแนวทางที่รัฐบาลยอมรับฟัง จนนำมาเป็นฉบับหลักในการเสนอกฎหมายหรือไม่

กลไก กระบวนการควบคุมกันเองตามกฎหมายของฝ่ายองค์กรสื่อน่าจะส่งผลให้สื่อมีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณ เป็นไปในแนวทางส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าแนวทางควบคุม จำกัด ขัดขวาง เสรีภาพ โดยวิธีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

Advertisement

สิ่งที่จะยืนยันความเชื่อนี้จึงอยู่ที่รายละเอียดเนื้อหากฎหมายต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ คือ 1.ควรมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ หรือควรให้กระบวนการควบคุมกันเอง เป็นเช่นที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ โดยไม่ต้องมีองค์กรสภาวิชาชีพสื่อใดๆ ขึ้นมาใหม่

2.โครงสร้าง องค์ประกอบ ที่มา คุณสมบัติ และบทบาท หน้าที่ของสภาวิชาชีพ โดยเฉพาะกลไก กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน การพิจารณาและตัดสิน จะมีประสิทธิภาพ เกิดสภาพบังคับทั้งผู้ร้องเรียนและสื่อมวลชนที่ถูกร้อง ยอมรับผลการตัดสินและปฏิบัติตามหรือไม่

ฉะนั้นฝ่ายองค์กรสื่อควรเผยแพร่ร่างกฎหมายที่นำเสนอให้สังคมได้รับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั่วถึงโดยเร็วเพื่อตอบโจทย์หลักข้างต้น

การมีสภาวิชาชีพสื่อที่มีกฎหมายเฉพาะรองรับทำให้แนวทางปฏิบัติในการควบคุมกันเองของสื่อมีบรรทัดฐานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นหลักประกันให้แก่สังคมและวงวิชาชีพสื่อด้วยกันเองที่มีหลายสาขา ทั้งสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือก สื่อพลเมือง ฯลฯ จะทำให้เกิดการถ่วงดุล ระหว่างสื่อสาขาต่างๆ ด้วยกันเอง ในการตัดสินใจกรณีร้องเรียน

ความเชื่อที่เคยมีมาว่าแมลงวันไม่ตอมกันเองจะลดลง การล็อบบี้ทำไม่ได้ง่ายเพราะฝ่ายที่ถูกร้องเป็นเสียงส่วนน้อยในกรรมการส่วนใหญ่ การตัดสินโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ของค่าย จะมีความเข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น

หากออกแบบสภาวิชาชีพให้หมาะสมทำหน้าที่เฉพาะควบคุม กำกับ มาตรฐานทางจริยธรรม ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความรับผิดชอบของสื่อเป็นหลักประการเดียว ทำให้สภาวิชาชีพมีความอิสระ มีอำนาจต่อรองทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ประกอบการ

ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการมีหลักประกันการทำหน้าที่ มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตัดสินกรณีร้องเรียนมากขึ้น กล้าถอดหัวโขนของต้นสังกัด ไม่มุ่งเอาผลประโยชน์ของค่ายและประโยชน์ตนเป็นหลัก ยิ่งกว่าความเป็นจริงของกรณีร้องเรียนและความถูกต้อง เป็นธรรม

ขณะเดียวกันมีช่องทางสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากภาคผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ทำให้สภาวิชาชีพมีความเข้มแข็ง มีกองทุนส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพ การค้นคว้าศึกษาวิจัยองค์ความรู้ด้านสื่อสารมวลชน และร่วมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเฝ้าระวัง รู้เท่าทันสื่ออีกทางหนึ่งด้วย

แนวทางปฏิบัติดังกล่าวสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนภาครัฐเข้ามาอยู่ในกลไกสภาวิชาชีพ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายที่ต้องถูกติดตามตรวจสอบ

การที่การรับเรื่องร้องเรียน การพิจารณาและตัดสินเกิดสภาพบังคับ ทำให้ความร่วมมือในการให้ข้อเท็จจริง น่าจะมีมากขึ้น เป็นการหนุนเสริมแนวทางความสมัครใจ ร่วมมือก็ได้ ไม่ร่วมก็ได้ ไม่มีใครทำอะไรได้ดังที่เคยเป็นมา

เมื่อมีสภาวิชาชีพสื่อขึ้นมาจริงๆ บทบาทขององค์กรสื่อหรือองค์กรประกอบการ องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ สมาคม สมาพันธ์สื่อแขนงต่างๆ ควรทำหน้าที่อะไร

และหากองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อ ยังไม่ยอมเข้าร่วมกับสภาวิชาชีพจะทำอย่างไร เป็นปัญหาที่ต้องสานเสวนากันต่อไป

 

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image