เสียของ-ไม่เสียของ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เวลาผ่านไปรวดเร็วเหมือนติดปีกบิน อีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 3 ปีของการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นไปตามโรดแมป หรือแผนการปฏิรูปประเทศชาติ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงภายในปี 2561

ผลงานที่นึกได้เร็วๆ ก็คือการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสายต่างๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและที่อื่นๆ การขอคืนพื้นที่บาทวิถีทั่วกรุงเทพฯยกเว้นถนนข้าวสารกับเยาวราช ยกเลิกโครงการจำนำข้าว ทำให้สื่อมวลชนชื่นชมและกลายเป็นพวกได้สำเร็จ ตลาดคลองผดุงประสบความสำเร็จ จัดทำประชามติและประกาศใช้รัฐธรรมนูญสำเร็จ ปราบทัวร์ศูนย์เหรียญสำเร็จ ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินก็สำเร็จ ซึ่งก็ต้องถือว่ามีผลงานมากและไม่เสียของแล้วที่ทำปฏิวัติรัฐประหาร บ้านเมืองสงบราบคาบ เรือดำน้ำก็ซื้อจากประเทศจีนได้สำเร็จแทนที่จะซื้อจากเยอรมนี

เมื่อมีการทำรัฐประหาร ประชาชนก็เข้าใจว่าคณะรัฐประหารจะอยู่เป็นการชั่วคราว เพื่อกวาดล้างขบวนการของระบบเดิมให้หมดสิ้นไป ให้แน่ใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะไม่มีพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกับคราวรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปพรรคเพื่อไทยกลับเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภามากที่สุด จนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จนมีคำพูดติดปากกันในวงการการเมืองว่าเป็นการทำรัฐประหารที่ “เสียของ” พรรคประชา
ธิปัตย์ทั้งๆ ที่ได้รับการสนับสนุนการช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ยังแพ้การเลือกตั้ง จนหลายคนตั้งสมญาว่าเป็นพรรค “ของเสีย” ไปเสียแล้วเพราะเชียร์เท่าไหร่ก็เชียร์ไม่ขึ้น

ดังนั้นภารกิจสำคัญที่สุดของ คสช.ก็ดี รัฐบาลก็ดี กรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี กรรมการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี มีการบ้านที่สำคัญคือทำอย่างไรพรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ชนะการเลือกตั้งจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งควรจะเป็นการบ้านที่ง่าย..

Advertisement

เพื่อการนี้ใน 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งถือว่าเป็นวาระเริ่มแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไป ให้สมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือจะเป็น “คนนอก” ก็ได้ เมื่อให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกรัฐสภาในฐานะสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ร่วมกันเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เป็นที่แน่ใจได้เลยว่าในการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกผู้แทนฯและวุฒิสภา และโดยที่วุฒิสมาชิกวุฒิสภา 250 คนนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อ สมาชิกวุฒิสภาย่อมต้องยกมือลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่แต่งตั้งตนเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีจึงต้องการเสียงเพียง 1 เสียงก็ได้เสียงข้างมากของรัฐสภาที่จะเลือกตนอยู่แล้ว

และเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่านายกรัฐมนตรีจะตั้งพรรคของตนเองเพื่อให้เสนอชื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรีไว้พร้อมแล้ว การเมืองจึงย้อนกลับไปสู่การเลือกคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนบทบัญญัติอื่นเขียนไว้ให้ดูสวยๆ เท่านั้นเอง

แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 กับรัฐธรรมนูญปี 2520 ก็คือ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2520 นั้น ให้สมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงคะแนนเสียงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีและร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายใดเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน และเนื่องจากกฎหมายสำคัญๆ เกือบทั้งหมดย่อมเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินทั้งนั้น นายกรัฐมนตรีจึงต้องการเสียงจากสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 เสียงก็สามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ ได้ทั้งหมด ส่วนร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ ที่ไม่สำคัญแม้ไม่ผ่านการพิจารณาในวาระแรกของการพิจารณา นายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องลาออก แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้อำนาจวุฒิสภา 250 คนมาร่วมกันพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หลังจากนั้นร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ก็แยกกันพิจารณาระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา

Advertisement

ด้วยเหตุนี้แม้นายกรัฐมนตรีคนนอกจะได้เสียงวุฒิสภาซึ่งตนเป็นผู้แต่งตั้งมาร่วมลงคะแนนเลือกตน คนอื่นไม่มีทางที่จะได้รับการลงคะแนนเลือกก็ตาม แต่หลังจากได้รับการลงคะแนนเสียงเลือกเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็คงจะบริหารราชการแผ่นดินได้ยาก หากตนไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในมือไม่เกินครึ่งหรือไม่เกิน 250 คน กล่าวคือเมื่อรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ประกาศสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ซึ่ง กปปส.กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิมแล้ว หรือจะแยกอยู่เป็นพรรคพันธมิตรกับทหารและสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันอยู่แล้ว ยังมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะเมื่อจะเสนอญัตติอะไรหรือเสนอร่าง พ.ร.บ.อะไรก็คงผ่านได้ยาก

ถ้าจะผ่านก็คงต้องมีสิ่งตอบแทนให้กับพรรคเล็กพรรคน้อยที่สนับสนุนตนให้เป็นรัฐบาล..

สมัยก่อนพรรคการเมืองต่างๆ ยอมลงนามเสนอชื่อคนนอกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะผู้บัญชาการกองทัพบกเป็นผู้จัดการให้หัวหน้าพรรคการเมืองลงชื่อเสนอให้ “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อลงคะแนนเสียงในสภา วุฒิสมาชิกก็ลงคะแนนให้ “คนนอก” คนเดียวกันนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี และคอยกำกับให้วุฒิสมาชิกลงคะแนนเสียงตามที่นายกรัฐมนตรี “คนนอก” เป็นผู้เสนออยู่เสมอ เมื่อใดก็ตาม ผบ.ทบ.ไม่ช่วยกำกับการลงคะแนนเสียง นายกรัฐมนตรีคนนอกก็อยู่ลำบาก

พรรคการเมืองต่างๆ จึงไม่มีพรรคการเมืองใดอยู่นอกรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ทุกพรรคการเมืองจึงอยากเข้าร่วมรัฐบาล นายกฯ “คนนอก” จึงมีอำนาจที่จะเลือกพรรคไหนเข้าร่วมรัฐบาล อาจจะปล่อยพรรคใดอยู่นอกรัฐบาลเพื่อให้เป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่พรรคการเมืองเลือกใครเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่หัวหน้ารัฐบาลที่ ผบ.ทบ.สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกพรรคการเมืองเข้าร่วมรัฐบาล ถ้าพรรคการเมืองร่วมกันขัดขืน ผบ.ทบ.ก็จะมีไม้ตายคือทำรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลชั่วคราวและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองเกรงกลัวมาก เพราะเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องเหนื่อยยาก ต้องลงทุนทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แต่ในสมัยนี้การตื่นตัวทางการเมืองมีสูง อันเนื่องมาจากคุณูปการที่พรรคความหวังใหม่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ค่าเงินบาทลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ยางพารา และอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รายได้ของเกษตรกรจึงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้ประชาชนระดับ “รากหญ้า” ตระหนักเป็นอย่างดีว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ “กินได้” เพราะพรรคการเมืองที่เข้าใจระบบเศรษฐกิจย่อมต้องพยายามกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ชาวนาและเกษตรกร รวมทั้งการรณรงค์ของกระทรวงมหาดไทยที่สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” หรือ “เลือกพรรคเหมือนฟังดนตรีทั้งคณะ” รวมทั้งรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรค ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอิสระ เพื่อให้พรรคควบคุมสมาชิกสภาผู้แทนฯของตนได้

เมื่อเลือกตั้งไปไม่กี่ครั้งประเทศไทยจึงกลายเป็นประชาธิปไตยระบบ 2 พรรคเหมือนอังกฤษ อเมริกา และยุโรปบางประเทศ แต่เป็นระบบ 2 พรรคแบบภูมิภาคนิยม ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองเสียงข้างมากในกรุงเทพฯและปักษ์ใต้ เพื่อไทยครองเสียงทั้งหมดในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งมีประชากรมากกว่าภาคใต้และกรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทยจึงชนะการเลือกตั้งเรื่อยมาจนคนกรุงเทพฯทนไม่ได้ เมื่อทหารเข้ามาจัดการให้เกิด กปปส. การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อ้างว่าเพื่อป้องกันการปะทะของประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายและเพื่อให้เกิดความปรองดอง

ซึ่งไม่มีใครเข้าใจว่าหมายถึงอะไร นอกเสียจากเพื่อขจัดขบวนการของอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่าย “เสื้อแดง”..

ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “ไม่ให้เสียของ” ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยต้องไม่ชนะการเลือกตั้ง พรรคที่จะเป็นแกนนำร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาต้องเป็นพรรคที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กปปส.ได้ประกาศแล้ว ต่อไป กปปส.ก็จะกลับพรรคประชาธิปัตย์และใช้มติในพรรคออกเสียงสนับสนุน “คนนอก” เป็นรัฐบาลและเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่ข้อสำคัญต้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร มิฉะนั้นก็จะมีพรรคฝ่ายค้านที่มีสมาชิกเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คล้ายๆ กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งก็อยู่ไม่ได้เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา

ภารกิจทำอย่างไรจึงจะ “ไม่เสียของ” ของนายทหารชุดนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะฟังดูแล้วเสียงของ “เสื้อแดง” ที่ยังต้องการใช้พรรคเพื่อไทยก็ยังเข้มแข็งอยู่เหมือนเดิม อาจจะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

น่ากลัว “ของจะเสีย” อีกแล้ว..

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image