โลกาภิวัตน์กับการเมือง : บทเรียนจากฝรั่งเศส : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

สหภาพยุโรปได้ผ่านยุคของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนเข้าสู่เป้าหมายทางการเมืองที่จะให้สหภาพยุโรปมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของชาติใหญ่ในยุโรปตะวันตก

ทว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างหนักเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษกลับสะท้อนให้เห็นว่าเป้าหมายทางการเมืองนี้ได้ตั้งกันไว้สูงเกินไป

การเปิดเสรีในกลุ่มยุโรปกลับแสดงถึงความเทอะทะและอ่อนแอจนกระทั่งสหราชอาณาจักรต้องออกจากสหภาพยุโรปและเกิดกระแสการเมืองภายในประเทศสมาชิกหลายประเทศที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่เป็นอยู่

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นแกนกลางที่ขาดมิได้ของสหภาพยุโรปเพิ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและฝ่ายสนับสนุนสหภาพยุโรปสามารถมีชัยชนะท่ามกลางกระแสการเมืองที่เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Advertisement

แนวคิดชาตินิยมที่ต้องการความเป็นชาติของฝรั่งเศสมีกระแสสูงขึ้นมากจนเป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลสำหรับสหภาพยุโรป

สังคมฝรั่งเศสเป็นสังคมที่ประชาชนมีความรู้และความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ประชาชนมีความคิดทางสังคมและการเมืองที่ค่อนข้างลึกซึ้งและยอมรับการเปลี่ยนแปลง

การเมืองในฝรั่งเศสที่ผ่านมามีพรรคใหญ่เพียง 2 พรรคคือ พรรคสังคมนิยมและพรรครีพับลิกัน ที่เหลือเป็นเพียงพรรคเล็กๆ

พรรคที่มีอำนาจทั้งสองกลายเป็นพรรคที่พยายามรักษาสถานะเดิมและสนับสนุนระบบทุนและการเปิดเสรีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่เหนือความเป็นชาติของสหภาพยุโรป

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีแรงงานและการค้าการลงทุนทำให้พรรคเหล่านี้ประสบกับความตกต่ำอย่างรวดเร็ว

ประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐและสหภาพยุโรปหันออกจากพรรคที่มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทรรศนะของผู้ว่างงานจำนวนมากมายและประชาชนในเขตอุตสาหกรรมเก่าที่ประสบภาวะถดถอยเป็นเวลายาวนาน

พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาและมีแนวทางทางการเมืองแบบกระแสหลักมากขึ้นหรือมีความเป็นสังคมนิยมลดลง

ประธานาธิบดีที่กำลังจะลงจากตำแหน่งคือนายอัลลองด์ (Francois Hollande) มาจากพรรคนี้ แต่มีแนวทางเสรีนิยมและสนับสนุนการเปิดเสรีของสหภาพยุโรป จึงมีคะแนนนิยมตกต่ำ

ส่วนพรรครีพับลิกันเป็นพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวากลางก็คล้ายกับพรรคสังคมนิยมซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายซ้าย ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนลดลง

พรรคที่ก้าวขึ้นมามีความนิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นพรรคเล็กที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด

พรรคนี้คือพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (Front National) ซึ่งมีที่นั่งในรัฐสภาเพียง 2 ที่นั่ง โดยนางมารีน เลอปอง (Marine Le Pen) เป็นผู้นำ

การแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่เพิ่งผ่านไปสดๆ นางมารีนต้องพ่ายแพ้ต่อนายเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ผู้เพิ่งก่อตั้งพรรคออง มาร์ช (La Republique En Marche!) ซึ่งแปลว่าสาธารณรัฐที่ก้าวไปข้างหน้า

การก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันประธานาธิบดีที่มีน้ำหนักและอาจอาศัยความศรัทธาของประชาชนล้วนๆ ทำให้พรรคแนวร่วมแห่งชาติสร้างความสั่นสะเทือนต่อการเมืองกระแสหลักในฝรั่งเศสและความมั่นคงของสหภาพยุโรป

เพราะพรรคนี้มีนโยบายชาตินิยม ต่อต้านการเปิดเสรี ต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือเขตยูโร และต่อต้านการอพยพโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอิสลาม

ในขณะนี้ก็กำลังสามารถยกระดับเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในรัฐสภาได้

นางเลอปองเคยคาดไว้ว่าพรรคของตนจะครองอำนาจทางการเมืองภายในเวลาเพียง 10 ปี ซึ่งก็นับว่ากำลังเข้าใกล้ความเป็นจริงอย่างมาก

นายมาครงซึ่งกำลังจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถือเป็นนักการเมืองที่ค่อนข้างใหม่สด แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังให้นายอัลลองค์ โดยได้ลาออกมาจัดตั้งพรรคใหม่ของตนในเวลาเพียง 1 ปี ยังถูกมองว่ามีความเป็นอิสระจากพรรคสังคมนิยมและไม่บอบช้ำเหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม นายมาครงมีแนวคิดแบบเสรีนิยมไปทางนายอัลลองค์และกำลังอยู่ในช่วงระยะฮันนีมูนในทางการเมือง จึงคาดกันว่าจะได้ที่นั่งในรัฐสภาเป็นจำนวนมากในการเลือกตั้งเร็วๆ นี้ เพียงแต่ส่วนใหญ่จะไปครองที่นั่งทดแทนเสียงของพรรคสังคมนิยม

ชัยชนะของนายมาครงถือว่าล้นหลามซึ่งในด้านหนึ่งย่อมบ่งบอกว่าฐานเสียงของทุนโลกาภิวัตน์ยังมีมากตามระบบการศึกษาและบทบาทของสื่อที่ต่างมีความเป็นโลกาภิวัตน์ กระนั้นการลงคะแนนรอบสองซึ่งเป็นการเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งจากสองคนก็สะท้อนด้วยว่าชัยชนะในครั้งนี้ มาจากการรวมพลังต่อต้านนางมารีน เลอปอง ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคแนวร่วมแห่งชาติ

ฐานเสียงฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสสนับสนุนพรรคซ้าย (Left Party) มากขึ้น โดยไม่สนับสนุนทั้งนายมาครงและนางมารีน เลอปอง กลายเป็นพวกโนโหวตซึ่งนับว่ามีจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งนี้

ความพ่ายแพ้ของนางมารีน เลอปอง ช่วยให้นักลงทุนสบายใจ แต่ความเสี่ยงของปัจจัยทางการเมืองที่ลดลงสำหรับยุโรปนี้เป็นเพียงชั่วคราว พื้นฐานของเศรษฐกิจและการต่อสู้ทางเมืองยังเป็นไปในทิศทางเดิม

นั่นคือการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปและยูโรโซนยังมีทิศทางขาลง ในขณะที่แนวทางเศรษฐกิจของนายมาครงจะเป็นไปในทิศทางแบบเสรีนิยมเช่นเดิม

ทุนโลกาภิวัตน์อาจรักษาความเป็นกระแสหลักเอาไว้ได้ แต่ความยากในการรักษาอำนาจก็มีมากเช่นกัน

ผู้ที่เคยถูกโลกาภิวัตน์ทอดทิ้ง ก็จะยังคงถูกทอดทิ้งต่อไปและถูกทอดทิ้งมากขึ้น

นโยบายของนายมาครงเป็นประเด็นสำคัญที่จะถูกคัดค้านจากประชาชนชั้นล่าง แรงงานจะถึงปลดออกจากงานได้ง่ายขึ้นท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่หางานได้ยากและผู้ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมเก่า

ประชาชนที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองในทางสังคมและสวัสดิการจะหันไปหาพรรคชาตินิยมและพรรคซ้ายมากขึ้น

ในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหาและประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ พรรคที่ครองอำนาจหรือแม้แต่พรรคสังคมนิยมที่ควรมีแนวทางปกป้องในทางสังคมกลับละเลย ในขณะที่พรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมและเคยมีภาพลักษณ์ที่เหยียดผิวกลับเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่เดือดร้อนในชนบท

พรรคแนวร่วมแห่งชาติเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายจอง มารี เลอปอง (Jean-Marie Le Pen) ผู้พ่อ ซึ่งเป็นนักอนุรักษนิยมสุดขั้วจนถูกมองว่าเป็นพวกเผด็จการแบบนาซี นางมารีน เลอปอง ได้พยายามแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของพรรคด้วยการเดินแนวทางฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านการค้าเสรีและสนับสนุนการช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนจนได้ชื่อว่าเป็นพรรคในแนวทางประชานิยม

การขยายฐานเสียงฝ่ายชาตินิยมที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในแนวดังกล่าวนี้นับว่ามีเหตุผลระดับหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถอาศัยฐานเสียงเดิมอย่างโดดเดี่ยวได้

การขยายพรรคให้กว้างขึ้นของนางมารีน เลอปอง ต้องอาศัยนายฟลอริออง ฟิลิปโป (Florian Philippot) ซึ่งมีแนวทางไปทางสังคมนิยม

อย่างไรก็ตาม การเดินแนวทางให้ขยายกว้างในทิศทางของนายฟิลิปโปกลับสร้างความขัดแย้งกับแนวทางเดิมแบบอนุรักษนิยมขวาสุดที่มีนางมาริออง มาแรคา-เลอปอง (Marion Marecha-Le Pon) ผู้เป็นหลานและเป็นดาวเด่นสำคัญที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

นางมาริออง เลอปอง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับนโยบายตลาดเสรีและต้องการขยายพรรคไปที่ฐานเสียงอนุรักษนิยมขวากลางมากกว่า

ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของนางมารีน เลอปอง จึงถูกมองในทรรศนะที่แตกต่างกัน

นางมารีน เลอปอง และนายฟิลิปโป มองว่าเป็นชัยชนะในขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะในขั้นต่อไป

ในขณะที่นายจอง มารี เลอปอง และนางมาริออง เลอปอง มองว่าเป็นการเดินแนวทางที่ผิดพลาด ไม่ควรเน้นแนวทางประชานิยมอย่างมากและไม่จำเป็นต้องมีนโยบายที่ต้องรีบออกจากสหภาพยุโรป

ทรรศนะของฝ่ายเลอปอง ผู้หลานนั้นให้แง่มุมที่ถูกต้องเช่นกันเพราะพรรคขวาจัดจะไม่สามารถขยายบทบาทได้มากถ้าหากขาดฐานเสียงจากฝ่ายขวากลาง และแนวทางประชานิยมฝ่ายซ้ายอาจดึงดูดเสียงได้บ้าง แต่ยากที่จะได้รับความศรัทธาที่มั่นคงจากชาวฝรั่งเศสที่มีความรู้

การรีบออกของสหภาพยุโรปและการกลับไปใช้เงินฟรังก์ในระยะเวลาอันสั้นก็เป็นเรื่องที่ยากมากและจะสร้างความวิตกกังวลในความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

ในอนาคต การขับเคี่ยวระหว่างการเมืองของทุนโลกาภิวัตน์กับประชาชนท้องถิ่นย่อมตึงเครียดอย่างมาก

พรรคที่ครองอำนาจต้องพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดความเป็นชาติของชาวฝรั่งเศสลง

พรรคแนวร่วมแห่งชาติจำเป็นต้องขยายฐานเสียงชาตินิยมไปที่พวกขวากลางและพวกซ้ายรวมทั้งอาจต้องหาหนทางจับมือกับพรรคซ้ายของนายแมลองชง (Jean Luc Melenchon)

ดังนั้น ถ้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติไม่แตกเสียก่อนและสามารถผสมผสานแนวทางคุ้มครองทางสังคมของฝ่ายซ้ายเข้ากับแนวทางชาตินิยมแบบอนุรักษ์กลางได้อย่างลงตัว พรรคที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์อาจจะต้องพบกับความพ่ายแพ้

และเศรษฐกิจไร้พรมแดนในฝรั่งเศสก็จะเผชิญกับความสั่นสะเทือนที่แท้จริง

โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image