ป.ป.ช.เรียกผู้ร้องให้ข้อมูลเพิ่ม29พ.ค. ปมอธิการฯมทร.กรุงเทพรับเงินเดือน 2.5แสน

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่นายวิริยะ ศิริชานนท์ อดีตประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพ และกรรมการสภาฯ ได้ร้องเรียนต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อเดือนธันวาคม 2558 กล่าวหานายสาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมทร.กรุงเทพ เข้าข่ายกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยรับเงินเพิ่มขึ้นจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง โดยใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ล่าสุดป.ป.ช.แจ้งว่าจะเรียกผู้ร้องไปให้ข้อมูลอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 หลังจากเคยเข้าให้ข้อมูลในครั้งแรกไปแล้วเมื่อปี 2559 และป.ป.ช.โทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อเดือนเมษายน 2560

นายรัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่สภาฯ ออกระเบียบมทร.กรุงเทพว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มค่าตอบแทนสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี พ.ศ.2552 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ทั้งที่มาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) พ.ศ.2548 กำหนดให้มทร.กรุงเทพเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ และมาตรา 17(13) กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยบริหารงานบุคคลตามพ.ร.บ.ระบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งตามมาตรา 26 แห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นการรับเงินจากงบประมาณแผ่นดินอยู่แล้ว ฉะนั้นกรณีของมทร.กรุงเทพที่ไปออกระเบียบว่าด้วยการรับเงินเดือนฯ ใหม่จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“มทร.กรุงเทพเป็นส่วนราชการและอธิการบดีก็มาจากข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต้องรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งจากงบประมาณแผ่นดินตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปออกระเบียบต่างหากแถมยังเปิดช่องให้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินค่าตอบแทนและเงินค่าตอบแทนพิเศษสูงถึง 200,000 บาทต่อเดือน โดยในระเบียบดังกล่าว อธิการบดีสามารถรับเงินเดือนและค่าตอบแทนทั้งจากงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้จากค่าเทอมนักศึกษา โดยจากข้อมูลที่นายวิริยะร้องเรียนป.ป.ช.ระบุว่าเมื่อครบวาระอธิการบดีสมัยแรก ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม 2552-14 สิงหาคม 2556 นายสาธิต ได้รับเงินเดือนสูงสุดเดือนละ 200,000 บาท และนายสาธิต เป็นอธิการบดีวาระที่ 2 เริ่มวันที่ 15 สิงหาคม 2556 จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 14 สิงหาคม 2560 คาดว่าปัจจุบันได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้มหาวิทยาลัยรวมกันเป็นเงิน 250,000 บาทต่อเดือน” นายรัฐกรณ์ กล่าวและว่าการออกระเบียบเพื่อเอื้อให้ได้รับเงินค่าตอบแทนและเงินค่าตอบแทนพิเศษจากเงินรายได้นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินดังกล่าว นอกจากไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังหมิ่นเหม่ต่อหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ายังไม่ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ใดที่ออกระเบียบเพื่อจ่ายให้กับอธิการบดีที่ยังเป็นข้าราชการอยู่ แต่มีการออกระเบียบเพื่อเอื้อให้ใช้เงินรายได้จากเงินค่าเทอมนักศึกษามาจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้กับอธิการบดีที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งก็น่าจะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายเช่นกัน เนื่องจากพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฎ พ.ศ.2547 มาตรา 18(13) ก็กำหนดให้สภามหาวิทยาลัยบริหารงานบุคคลตามพ.ร.บ.ระบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ซึ่งอธิการบดี ก็ต้องรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายที่ระบุตามมาตรา 26 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนในกรณีดังกล่าวต่อป.ป.ช.จำนวนมาก และตนเชื่อว่าป.ป.ช.กำลังเร่งสะสางอยู่ในขณะนี้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image