กรมประมงเล็งประกาศปิดอ่าวรูปตัว ก. นาน 2 เดือน

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำของอ่าว กรมประมงได้ประกาศปิดอ่าวในช่วงฤดูการวางไข่มาอย่างต่อเนื่อง โดยแยกเป็นอ่าวอันดามัน และอ่าวไทย โดยอ่าวไทยแยกออกเป็น 3 ตอน คือ 1.อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวด้านใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี 2.อ่าวไทยตอนกลาง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎ์ธานี 3.อ่าวไทยตอนล่าง ไม่มีการประกาศปิด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

ทั้งนี้ในส่วนของอ่าวไทยรูปตัว ก. นั้น ได้เริ่มประกาศปิดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2559 ) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน -31 กรกฎาคม เป็นระยะเวลา 2 เดือน พื้นที่ 4,940.55 ตารางกิโลเมตร 8 ล้านไร่ โดยห้ามใช้เครื่องมือบางประเภท ในการจับสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตามผลดำเนินการพบว่าปลาทูซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยคาดว่าเป็นผลจากหลายปัจจัยประกอบด้วย

1.ปลาที่ลงไปว่างไข่ด้านล่างของทะเล มีน้อยลง เนื่องจากชาวประมงพัฒนาอวนให้จมทะเลเพื่อให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น ส่งผลให้มีการจับปลาพ่อ แม่พันธุ์ที่โดยธรรมชาติจะว่ายลงก้นทะเลเพื่อวางไข่ 2.ช่วงที่เปิดอ่าว ตัว ก. ชาวประมงเข้าไปจับปลาในอ่าวในลักษณะรุมสกรัม ทำให้ปลาหลุดรอดจากอวนเพื่อเป็นพ่อ แม่ พันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ยาก 3.ภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลปรับเพิ่มขึ้นปลาทูที่ไม่ชอบน้ำที่ร้อนก็อพยพหนีไปเข้าสู่ทะเล อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งเป็นตอนล่างของอ่าวไทย 4.ภัยแล้งที่รุนแรงมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธาตุอาหารที่ไหลลงอ่าวไทยมีน้อยลง อาหารสำหรับปลาไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ทำให้การแพร่พันธุ์ได้ยาก และ 5.มลพิษที่มากขึ้นทำให้วงจรชีวิตสัตว์น้ำเปลี่ยนไป

นายอดิศร กล่าวว่า ทั้งหมดนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับชาวมงเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวตัว ก. ดังกล่าว จากที่ประกาศปิดพร้อมกันเป็นระยะเวลา 2 เดือน จะปรับให้มีการปิดอ่าวตามเส้นทางการอพยพของปลาทูเป็นหลัก ในเบื้องต้นคาดว่าจะประกาศปิดทางฝั่งซ้ายตั้งแต่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน -31 กรกฎาคม หลังจากนั้นจะเปิดและหันมาประกาศปิดในฝั่งขวา ตั้งแต่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม -30 กันยายน เป็นต้นไป ในขณะที่ชาวมประมงต้องเปลี่ยนตาอวนให้มีขนาด 2 นิ้วขึ้นไปเท่านั้นเพื่อให้ปลาทูและสัตว์น้ำอื่นๆ มีโอกาสหลุดรอดเป็นพ่อ แม่ พันธุ์ในปีต่อไป ห้ามใช้เรือปั่นไฟ แต่สามารถใช้เรือไดหมึกได้ ทั้งหมดจะหารือให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ ในขณะที่ปลาทูมีปริมาณการจับและจำหน่ายในประเทศประมาณปี 1 แสนตัน

Advertisement

นายอดิศร กล่าวว่า สำหรับอ่าวไทยตอนกลาง ที่ดำเนินการปิดระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม ของทุกปีนี้น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร โดยกรมประมงประกาศเปลี่ยนการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงในเขตระยะ 7 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลในผลจากการดำเนินควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงตามมาตรการปิดอ่าวไทยของกรมประมง จากการปฏิบัติงานทั้งสิ้น 52 ครั้ง พบการกระทำความผิดรวม 11 คดี ได้แก่ การใช้เครื่องมืออวนลากประกอบเรือยนต์ทำการประมงในเวลากลางวัน ในพื้นที่บังคับใช้มาตรการฯจำนวน 2 คดี พบผู้กระทำผิด 10 ราย ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง จำนวน 2 คดี ผู้กระทำผิด 9 ราย ใช้เรือซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฏหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกทำการประมง จำนวน 6 คดี ผู้กระทำผิด 7 ราย ตรวจยึดเครื่องมืออวนรุน 1 คดี

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กรมประมงใช้เครื่องมือตรวจสอบฝูงปลา(Sounder) ตรวจพบพ่อแม่พันธุ์ปลาจำนวน 3,000 กิโลกรัม และฝูงลูกปลาจำนวน 10,000 กิโลกรัม บริเวณเกาะพะงัน และยังพบข้อมูลชาวประมงพื้นบ้านจับปลาทูขนาดใหญ่ได้บริเวณอ่าวชุมพร โดยใช้เครื่องมืออวนติดตาขนาดไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว รวมทั้งในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมายังได้รับรายงานว่าพบฝูงลูกปลาทูขนาดเล็กชุกชุมจำนวนมากบริเวณห่างฝั่ง 3-5 ไมล์ทะเล ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ถึงสุราษฎร์ธานี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลบริเวณฝั่งอ่าวไทยเริ่มฟื้นคืนกลับมา

“การประกาศดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมพื้นที่แนวฝั่งทะเล ที่จะทำให้ลูกปลาทูขึ้นมาเจริญเติบโตบริเวณอ่าวตอนในหรือตัว ก. ได้ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น จึงต้องออกประกาศ เรื่อง กำหนดเครื่องมือ ทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามจับสัตว์น้ำบางแห่งของประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มเติมจากเดิม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม- 30 มิถุนายน 2560 โดย ห้ามใช้เครื่องมืออวน ทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกลทำการประมง และห้ามใช้เครื่องปั่นไฟ”นางอดิศร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image