จิตวิวัฒน์ : ความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างมิติภายในกับมิติภายนอก: ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

โลกยุคใหม่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม ดูเหมือนจะเทไหลไปให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นมิติภายนอกมากกว่ามิติภายใน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมิติภายนอกมันจับต้องได้ทันที มันตื่นเต้น ตื่นตา เร้าใจ และที่สำคัญ มันซื้อได้ ขายได้ โดยใช้เงิน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบและวิธีการใดเป็นตัวกลาง คนจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจแบบนี้จึงต้องขวนขวายหาเงินมาเพื่อจะให้ได้สิ่งที่อยากมีอยากได้ และเมื่อความอยากมีอยากได้มันเอ่อล้นจนขาดสติ คนก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีเดินทางลัดเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางให้เร็วที่สุด ได้ผลมากที่สุด โดยใช้ทุนน้อยที่สุด ซึ่งในทางวิชาการด้านการบริหารเรียกว่ามีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่บางรายก็มุ่งแต่ผล (ประโยชน์สูงสุดส่วนตน) โดยไม่สนใจเรื่องคุณธรรม ความถูกต้องดีงามที่เป็นมิติภายใน เช่น การแอบปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะ การปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และธนบัตร…

ขออนุญาตใช้ชุดภาษายุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า คนจำนวนหนึ่ง “ติดกับดัก” ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น แบบเร่งรีบในยุคดิจิทัล คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนจากการ “ทำมากได้น้อย สู่การทำน้อยได้มาก” ด้วยการโกงกิน รับสินบน การคอร์รัปชั่น แชร์ลูกโซ่ ปล้น ขโมยทรัพย์ของผู้อื่น…

ภาษาการศึกษายุคใหม่ก็อาจเรียกว่า “ลดเวลารวย เพิ่มเวลาโลภ”

ธัมมะธัมโมหน่อยก็ว่า “ทางสู่สวรรค์มันดูยาวไกลและรก ส่วนทางสู่นรก มันดูสั้นและเรียบง่าย”

Advertisement

ที่จริงมิติภายใน (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความคิด ความเชื่อ คุณธรรม ความดีงาม…) และมิติภายนอก (การพูด การกระทำ วัตถุ สิ่งของ เทคโนโลยี…) ต่างก็มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน

มิติภายนอกเป็นผลของและมีผลต่อมิติภายในและในทำนองเดียวกันมิติภายในก็เป็นผลของและมีผลต่อมิติภายนอก เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่หยุดนิ่งอย่างเป็นองค์รวม

ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง โดยการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม เพื่อนำประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

Advertisement

เนื่องจากไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น จุดเน้นต่างๆ ที่พูดและพยายามจะผลักดันกันจึงเน้นไปที่มิติภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ต้องการให้ทุกภาคส่วน ทุกกลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีการนำและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อก้าวสู่ระบบบริหารและการบริการแบบอัจฉริยะ มีสมาร์ทโน่นสมาร์ทนี่เต็มไปหมดที่เป็นมิติภายนอก จนกลบและลบเลือนสิ่งที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กันที่เป็นมิติภายในเช่นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คุณธรรม ความดีงาม จิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทย และความเป็นพลเมืองโลก…

การใช้เทคโนโลยี การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นไปเพียงเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และ/หรือสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง แต่ควรต้องเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เอื้อ และ/หรือสร้างสรรค์คุณภาพของชีวิต สิ่งแวดล้อม และมวลมนุษยชาติ มิฉะนั้นสิ่งที่ทำจะเป็นเพียงการสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่อาจไม่มีความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรม และไม่ยั่งยืน

ที่จริงมันไม่มีอะไรที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง แต่หากตั้งไว้เป็นเสมือนความมุ่งมั่นและทิศทางในการพัฒนาประเทศ หรือเป็นดาวนำทาง ก็ไม่เสียหายอะไร เพียงแต่ต้องตระหนักรู้ มีสติและปัญญารู้เท่าทันว่าสิ่งนี้เป็นทิศทางในอุดมคติ และมิใช่แค่ทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมิติภายนอกเท่านั้น บนเส้นทางของการพัฒนาประเทศ มันไม่ได้มีเพียงมิติของเศรษฐกิจเท่านั้น ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่เป็นมิติภายนอกอื่นๆ ยังมีอีกหลายด้าน เช่น สังคม การเมือง จารีตประเพณีที่ดีงาม… และที่สำคัญและสัมพันธ์กับมิติภายนอกเหล่านั้นคือมิติภายในอันได้แก่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางจิตใจ คุณธรรม ความดีงาม และความงดงาม (สุนทรียภาพ) ภายในจิตใจ ยอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างและความหลากหลาย เข้าใจความสัมพันธ์โยงใยระหว่างสรรพสิ่ง…

ในแง่ของภาษา และความหมายที่เข้าใจและใช้กันอยู่ ผมไม่อยากเห็นประเทศไทยพัฒนาจากประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) แต่อยากเห็นประเทศไทยและคนไทยเป็นประเทศไทยและคนไทยที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Developing Country – CDC) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยและประเทศไทยที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ชนชาติอื่น และอยู่ร่วมโลกเดียวกันกับประเทศอื่นและชนชาติอื่นได้อย่างสงบและมีสันติสุข ไม่มีการเข่นฆ่า ทำร้าย หรือทำลายประเทศอื่น ชนชาติอื่น เพียงเพราะเขามีความเชื่อ ความคิด การพูด และการกระทำที่แตกต่างจากความเชื่อ ความคิด การพูดและการกระทำของตนเองและพวกพ้อง

โลกเล็กๆ ที่งดงามใบนี้ของเรา ควรมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย นวัตกรรมทางอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โจมตีทำลายประเทศที่ยังไม่พัฒนา และ/หรือประเทศที่กำลังพัฒนา รวมไปถึงการต่อสู้กันด้วยเทคโนโลยีทางอาวุธ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกันเอง เพียงเพื่อรักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ทหาร และผลประโยชน์ส่วนตน หรือไม่?

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ควรเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งมิติภายนอกและมิติภายในที่มีความสมดุลอย่างพอเพียง และอย่างเป็นองค์รวม ใช่หรือไม่?

ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควรต้องสร้างและพัฒนาความสมดุลอย่างพอเพียง และอย่างเป็นองค์รวม ระหว่างดิจิทัลอีโคโนมี (Digital Economy) กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมิติอื่นๆ ทั้งภายนอกและภายในที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้หรือไม่?

ฝากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาอย่างมีสติ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันท่ามกลางบรรยากาศของสุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ เพื่อตกผลึกเป็นปัญญาร่วม ผุดบังเกิดแนวทางการพัฒนาที่หลากหลาย เหมาะสมกับคนไทยและบริบทที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image