ลุย ไลฟ์ รื้อประวัติศาสตร์ไทย เปิดหลักฐานใหม่ ‘เมืองอู่ทอง’ กำเนิด-ล่มสลาย ไม่เหมือนในแบบเรียน !

ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ สองกุมารสยามในตำนาน หอบข้อมูลด้านประวัติศาสตร์จากบ้านมาแน่นปึ้ก

ทำเอาแสงอาทิตย์ลดความร้อนแรงไปชั่วขณะ เมื่อปะทะกับความแซ่บเวอร์ของเนื้อหาจากการถ่ายทอดสด โดย “มติชนออนไลน์” ในช่วงสายของวันเสาร์แสนสดใส 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ เมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย เพราะกรุงสุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก” มีวิทยากรคุ้นชื่ออย่าง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ฝีปากแซ่บในเครือมติชน “สองกุมารสยาม” ในตำนาน ที่เกี่ยวก้อยกันมาเรียงร้อยเรื่องราวประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ พร้อมท้าทายรื้อสร้างความเชื่อเก่าๆ โดยยืนยันว่า อู่ทอง (ต่างหาก) คือ ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่สุโขทัย อย่างในหนังสือเรียน

กำเนิดอู่ทอง หักล้างปราชญ์ฝรั่งเศสยุคอาณานิคม

เปิดประเด็นที่เชิงสะพานข้ามคูเมืองอู่ทองฝั่งตะวันตก ฉากหลังงดงามด้วยทิวเขาสลับซับซ้อน สุจิตต์ เริ่มอธิบายถึงภูมิศาสตร์ที่ว่า อู่ทองเป็นเมืองสำคัญ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปวงรี มีแม่น้ำจระเข้สามพันไหลผ่าน อยู่ตรงกลางระหว่างแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง มีภูเขาด้านทิศตะวันตก คือ เทือกเขาพระ มีน้ำจากเขาพุหางนาคไหลมาหล่อเลี้ยงคูเมือง ถือเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ มอบชีวิตให้แก่ผู้คนในเมืองโบราณแห่งนี้

สุจิตต์ ยังยกข้อมูลใหม่ล่าสุดจากการศึกษาทางธรณีวิทยา โดยนักธรณีวิทยาประจำสำนักทรัพยากรธรณี เขต 3 ปทุมธานี ที่บ่งชี้ว่ามีชุมชนใหญ่ในแถบนี้ตั้งแต่ราว พ.ศ.500 คือ ราว 2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเก่ากว่าเมืองนครปฐม และเก่าแก่ที่สุดในภาคกลางของประเทศไทย โดยตั้งอยู่บนดินที่เกิดจากทางน้ำ จากนั้นจะมีตะกอนจากทิวเขา และตะกอนจากทางน้ำไหลแทรกสลับหลายช่วงเวลาไปทับถมกัน ถือเป็นการหักล้างแนวคิดของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสยุคอาณานิคมที่ระบุว่าดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ต้องเป็นอาณานิคมของอินเดียจึงจะเจริญก้าวหน้า

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองอู่ทอง (ภาพจากรายงานการศึกษาที่มีผลต่อการล่มสลายของเมืองโบราณอู่ทอง สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3)
กสนเจาะสำรวจทางธรณีวิทยาซึ่งพบหลักฐานใหม่ชี้ถึงการล่มสลายของเมืองอู่ทองว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางน้ำ

“หลักฐานทางธรณีวิทยาใหม่นี้ สอดคล้องการค้นคว้าสืบเนื่องนานแล้วจนทุกวันนี้ของนักวิชาการไทยและตะวันตกยุคปัจจุบัน ที่พบว่าคนในอุษาคเนย์มีเทคโนโลยีถลุงโลหะสำริดก้าวหน้ามีบ้านเมืองขนาดใหญ่โตแล้วก่อนรับอารยธรรมอินเดีย นอกจากนั้นยังเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทเสมอผู้ชาย หรือบางอย่างผู้หญิงนำผู้ชาย ซึ่งต่างจากสังคมอินเดียอย่างชัดเจน และเท่ากับหักล้างคนละขั้วกับแนวคิดของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝรั่งเศส ที่บอกไว้นานแล้วจนเป็นที่เชื่อถือกันทั่วโลกว่าอุษาคเนย์เป็นอาณานิคมของอินเดีย เพราะต้องรับอารยธรรมอินเดียถึงจะพ้นจากความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน” สุจิตต์เล่าอย่างออกรส แล้วพยักหน้าชวนขรรค์ชัย เดินข้ามสะพานไปอีกฝั่ง

Advertisement

ชวนให้จินตนาการถึงเมื่อครั้งที่ทั้งคู่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว ซึ่งสุจิตต์ ได้เขียนเล่ารำลึกอดีต หลังกลับจากการถ่ายทอดสดในวันนั้นว่า ใน พ.ศ.2509 หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี นำนักศึกษาฝึกขุดค้นที่เมืองอู่ทองกับ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ จาก ม.ซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส ตนซึ่งตอนนั้นสอบตกต้องเรียนซ้ำชั้นครั้งแรก (และมีอีกหลายครั้งอย่างไม่เบื่อ) อยู่ในกลุ่มออกฝึกงานขุดค้นด้วย ต้องขุดทุกวันตั้งแต่เช้าถึงเย็น ทำอยู่นานมาก รวมแล้วเป็นอาทิตย์ๆ วันหนึ่ง ศ. บวสเซอลิเยร์ พูดขึ้นมาอย่างธรรมดาๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้นว่าบริเวณที่ขุดอยู่นั้นเป็นพื้นที่น้ำป่าหลากท่วมนับพันๆ ปีมาแล้ว มีตะกอนทับถมหนาแน่น แสดงว่าเมืองอู่ทองเคยถูกน้ำท่วม สอดคล้องกับรายงานศึกษาล่าสุดทางด้านธรณีวิทยา

“ความทรงจำแม่นยำมากๆ เรื่องนี้ เพราะผมกับเพื่อนที่ขุดค้นด้วยกันหลายคน แอบนินทาว่าแล้วพามาขุดทำไมตรงน้ำท่วม? ดินตะกอนอัดแน่น ขุดลำบาก เจ็บมือ ยกจอบขุดทีไรจอบกระเด้ง เพราะดินแข็ง มือพอง แสบ”

สรุปแล้ว ที่จำได้แม่น เพราะตอนนั้นเหนื่อยและเจ็บมือที่จับจอบขุดด้วยมือเปล่า !

Advertisement
อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ขุดค้นเมืองอู่ทอง เมื่อ พ.ศ.2509 (กลางขวา) ยืนยกมือเสมอเอว เสื้อสีคล้ำปล่อยชาย คือ ศ.ฌอง บวสเซอลิเยร์ ส่วนยืนคู่กันใส่ชุดข้าราชการสีกากี คือ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิสกุล แถวบนขวาสุดคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่สุโขทัย

ตัดฉากกลับมาในปัจจุบัน สุจิตต์ เขยิบดีกรีความร้อนแรง ทั้งในประเด็นที่เชื่อกันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระสงฆ์ 2 รูป คือ พระโสณะ และพระอุตรเถระมาเผยแพร่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ ทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน รวมถึงประเด็นราชธานีแห่งแรก ซึ่งเขายืนยันต่อหน้าประชากรที่เฝ้าหน้าจอชมการถ่ายทอดสดว่า …ไม่ใช่สุโขทัย !

“ในราว พ.ศ. 1000 เริ่มเข้าสู่ยุคทวารวดี มีการรับอารยธรรมอินเดีย เจอหลักฐานอย่างเสมาธรรมจักร รวมถึงวัดร้างหลายแห่ง เป็นจุดแรกรับพุทธศาสนา เพราะพบหลักฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาเก่าที่สุดที่เมืองอู่ทอง แต่ช่วงเวลานี้อยู่หลังยุคพระเจ้าอโศกมหาราชถึง 700 ปี และท่านก็ไม่เคยจารึกเรื่องนี้ไว้ ไม่มีหลักฐานชัดเจน เลยไม่เชื่อว่ามีการส่งพระสงฆ์ 2 รูปมา เป็นแค่เพียงตำนานของลังกาที่เขียนขึ้นในสมัยหลังเท่านั้น”

แผ่นดินเผาภิกษุอุ้มบาตร 3 รูป หนึ่งในหลักฐานด้านพุทธศาสนายุคแรกๆในไทย อย่างไรก็ตาม สุจิตต์ไม่เชื่อว่าพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิ เพราะไม่มีหลักฐาน (ภาพจากหนังสือโบราณคดีเมืองอู่ทอง)

ยังไม่จบ สุจิตต์ ยังร่ายยาวอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แม้เหงื่อไหลไคลย้อยจนต้องพึ่งผ้าเย็นไป 1 ผืน

“เอกสารโบราณของอินเดียและลังกา เรียกดินแดนอู่ทองว่าสุวรรณภูมิ ต่อมามีรัฐสุพรรณภูมิ ที่ได้ร่วมกับรัฐอโยธยา-ละโว้ สถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชอาณาจักรสยาม แล้วสืบเป็นกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ จนปัจจุบันเป็นประเทศไทย อู่ทองจึงถือเป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย สุโขทัยจึงไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก ซึ่งเป็นเพียงความคิดของคนยุคหนึ่งเท่านั้น ขอยืนยันไว้ตรงนี้เลยว่าเรื่องนี้เป็นความผิดพลาดของประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยที่ควรแก้ไข เพราะไม่จริง ไม่มีหลักฐานสนับสนุน

ต้นเหตุมาจากแนวคิดแบบอาณานิคมที่ยังหลงอยู่กับเรื่องเชื้อชาติบริสุทธิ์ว่ามีจริง โดยเชื่อว่าคนไทยบริสุทธิ์จากทิวเขาอัลไตอพยพถอยร่นมาเป็นเจ้าของอาณาจักรน่านเจ้า แล้วจีนตีน่านเจ้าแตก ถอยหนีลงมาสร้างสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกของคนไทย ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่แต่งขึ้นใหม่”

ลีลาค่อนข้างเยอะ

อู่ทองล่มสลาย ไม่ใช่เพราะโรคระบาด

มาถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ นั่นคือประเด็นการล่มสลายของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งเดิมประวัติศาสตร์ไทยระบุว่า เกิดจากความแห้งแล้งและโรคระบาด สุจิตต์ งัดหลักฐานใหม่จากสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 มาโชว์อีกรอบ !
กล่าวโดยสรุปสั้นๆว่า แท้จริงแล้วนั้น การเสื่อมถอยของเมืองนี้ เกิดจากปัญหาการคมนาคมทางน้ำตื้นเขินซ้ำซาก เพราะตะกอนจากภูเขาพัดพาลงมาทับถมลงบนพื้นดินเมืองอู่ทองระหว่างที่เป็นบ้านเป็นเมืองแล้ว จนเกิดเป็นชั้นดินแบบตะกอนน้ำพารูปพัด ประกอบกับมีตะกอนที่เกิดจากทางน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก (Floodplain deposit) ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางเดิน ประชากรเริ่มโยกย้าย อู่ทองจึงค่อยๆเสื่อมถอยลงหลัง พ.ศ.1600 โดยไม่ได้เกี่ยวกับความแห้งแล้ง และโรคภัยไข้เจ็บใดๆ

คูเมืองโบราณอู่ทองฝั่งทิศตะวันตกในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาหลัง พ.ศ.2551 โดยบรรหาร ศิลปอาชา ประสานหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ก่อนหน้านั้นตื้นเขิน และเต็มไปด้วยขยะ

พัฒนา ‘คูเมืองอู่ทอง’-เผยแพร่ความรู้
หนึ่งในประวัติศาสตร์ 40 ปี ‘มติชน’

ปิดท้ายด้วยประเด็นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ ‘คูเมืองโบราณอู่ทอง’ ฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งปัจจุบันสะอาด สวยงาม ชาวบ้านจับปลา พาฝูงลูกเป็ดลงเล่นน้ำ ทว่า เมื่อย้อนกลับไปในช่วงก่อน พ.ศ.2551 มีสภาพตื้นเขิน บนสันคูเมือง ยังเต็มไปด้วยบ้านเรือนในชุมชนแออัด มีปัญหายาเสพติด เดินผ่านทีไรต้องหวาดกลัวอันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน

สุจิตต์เล่าว่า เมื่อ ขรรค์ชัย มาเห็นสภาพจึงปรึกษา บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ซึ่งลงพื้นที่มาดูด้วยตัวเองหลังการทอดกฐินที่วัดเขาดีสลัก เมื่อ พ.ศ.2551 มังกรสุพรรณผู้ล่วงลับ จึงประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง ขอความร่วมมือพัฒนาและอนุรักษ์คูเมืองจนสะอาด สวยงามมาจนถึงทุกวันนี้

“คูเมืองโบราณทางทิศตะวันออกของเมืองอู่ทองอยู่ในบริเวณที่เป็นสถานที่ราชการ อย่างที่ว่าการอำเภอและโรงเรียน น้ำในคูเมืองจึงใสสะอาด สวยงาม ต่างจากคูเมืองทางทิศตะวันตก ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ทิ้งขยะ น้ำในคูแทบไม่มี คุณขรรค์ชัยเลยไปปรึกษาท่านบรรหาร ซึ่งลงพื้นที่มาดูด้วยตัวเอง พอเห็นสภาพ จึงระดมประสานสรรพกำลังในการบูรณะ ทำความสะอาด และพัฒนา ถ้าไม่ได้ท่าน สันคูเมือง คงกลายเป็นตึกแถวเหมือนกับหลายๆจังหวัดไปแล้ว อย่าง สุรินทร์ บุรีรัมย์ คือ เอาคูเมืองออก แล้วสร้างตึกทับลงไป เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นรากฐานอยู่ ก่อนหน้านั้นเคยมีคดีความกันมากมาย

คนพวกนี้ล้วนแต่อ้างว่ารักความเป็นไทย รักประวัติศาสตร์ไทยทั้งนั้น รัฐบาลไทยที่รักชาติ ควรดูคูเมืองนี้ไว้เป็นตัวอย่างเพื่อการพัฒนา ปัญหาเรื่องคูเมืองโบราณที่ตื้นเขิน และถูกปล่อยปละละเลยเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ไม่ใช่แค่อู่ทอง ลำพังหน่วยงานที่รับผิดชอบคงไมได้ทำอะไร ได้แต่ตีโพยตีพายว่าคนไม่รักษา”

บรรหาร ศิลปอาชา ติดตามความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองอู่ทอง เมื่อ พ.ศ.2557 (ภาพจาก suphanburinews.blogspot.com)

นี่คือมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ที่มติชนทำนุบำรุงเรื่อยมา กระทั่งเกิดโครงการ ‘แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง’ ในภายหลัง สืบเนื่องถึงปัจจุบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ 40 ปี เช่นเดียวกับการรื้อ-สร้างประวัติศาสตร์ไทยตามข้อมูลหลักฐานใหม่ที่ผุดขึ้นมาหักล้างแนวคิดเดิมในอดีต

เพราะโบราณคดี ไม่มีจุดจบ แต่ยังต้องถกเถียงกันเรื่อยไป และไม่ควรมีใครผูกขาดสิทธิการตีความไว้แต่เพียงผู้เดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image