รองปลัดยธ. แจงกระทรวงไม่มีนโยบายเลิกจ้าง”ลูกจ้างชั่วคราว” แต่ไม่มีงบปี 61 เร่งแก้ปัญหา

เมื่อวันที่19 พ.ค. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงกรณีลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงยุติธรรมกว่า 2,000 ราย จะถูกเลิกจ้างในสิ้นปีงบประมาณนี้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณว่า โดยปกติกระทรวงยุติธรรมจะมีเงินเสริมงบประมาณซึ่งมาจากดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางที่คู่ความนำมาวางไว้ที่กรมบังคับคดีที่นำไปฝากไว้กับธนาคาร กระทรวงการคลังอนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมนำไปใช้เสริมงบประมาณได้ โดยให้กำหนดเป็นระเบียบการใช้จ่ายเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ส่งเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางจำนวนร้อยละ 10 ของยอดเงินดอกเบี้ยคงเหลือทุกสิ้นเดือนมีนาคมและสิ้นเดือนกันยายนของทุกปีเป็นรายได้แผ่นดินโดยให้นำส่งภายใน60 วันนับแต่วันสิ้นเดือนนั้นๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมากระทรวงยุติธรรมก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามจริงตามภารกิจปกติและภารกิจที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงยุติธรรม แต่จะสามารถใช้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลาง เพื่อเสริมงบประมาณตลอดมา

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า นำมาใช้ตั้งแต่การปลูกสร้างซ่อมแซมหรือต่อเติมอาคารสถานที่ราชการ การขออนุมัติซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการจ้างลูกจ้างชั่วคราวหรือการจ้างเหมาบริการ โดยที่ส่วนราชการต่างๆในสังกัดต้องมีหนังสือหรือบันทึกขอใช้จ่ายเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางตามแบบบัญชีประมาณการรายจ่าย พร้อมด้วยบันทึกชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและรายละเอียดต่างๆ ประกอบ โดยเฉพาะต้องเป็นรายการจำเป็นที่ได้ของบประมาณมาแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดสรร เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณา โดยจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิจารณาในเบื้องต้นก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาในลำดับสุดท้าย เว้นแต่กรณีที่เป็นนโยบายสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการก็ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติได้เลย แต่ต้องมีการแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบในโอกาสต่อไป ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบราชการเหมือนการใช้งบประมาณปกติ

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับอัตรากำลังลูกจ้างที่มีการขอให้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางนั้นเป็นภารกิจจำเป็นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอัตราข้าราชการและพนักงานราชการอันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดอัตรากำลังภาครัฐ เช่น การขยายหน่วยงานตามการเปิดศาลใหม่ การฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ อาทิ สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น หรือ SME ปริมาณที่เพิ่มขึ้นเพราะขยายอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56ที่ศาลให้รอลงอาญาและคุมประพฤติจากอัตราโทษไม่เกิน 3ปี เป็น 5 ปี หรือการนำมาตรการควบคุมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ EM มาใช้ในงานคุมประพฤติ การปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. เรื่อง การควบคุมสถานบันเทิงและเด็กแว้นของกรมพินิจฯ การแก้ปัญหาการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้คนจนคนด้อยโอกาส แก้ปัญหาคนจนนอนคุก คนรวยนอนบ้าน ปัญหาตีนโรงตีนศาล ปัญหาเหยื่ออาชญากรรม โดยกองทุนยุติธรรมและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอื่นๆ โดยผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดที่ปัจจุบันไม่มีอัตรากำลังราชการเลยใน57 จังหวัด และ 2 สาขา

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า จากความจำเป็นดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวและจ้างเหมาบริการทั้งหมดรวม 8 หน่วยงาน จำนวน 2,777 อัตรา รวมเป็นเงิน 454 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากนโยบายของกระทรวงยุติธรรมต้องการเร่งรัดให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดและคืนเงินแก่คู่ความด้วยความรวดเร็ว และปฏิรูปการขายทอดตลาดใหม่โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาดำเนินการ เพื่อต้องการให้เงินและสินทรัพย์ที่มีอยู่ในความดูแลไปกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้มียอดการขายแต่ละปีสูงนับแสนล้านบาท ส่งผลทำให้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางลดลงโดยระบบดังกล่าว ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการใช้ National e-payments ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้จะไม่มีเงินกลางของคู่ความไปวางที่กรมบังคับคดีอีกต่อไป นั่นจึงหมายความว่าในอนาคตจะไม่มีเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางอีกต่อไป

Advertisement

นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม จึงได้นำอัตราทั้งหมดที่ใช้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางไปทำเป็นคำขอตั้งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าไม่ได้รับการจัดสรรตามที่ขอ ฉะนั้น จำนวนลูกจ้างชั่วคราวและจ้างเหมาบริการทั้งหมดในปีงบประมาณ2561 ของกระทรวงยุติธรรมจึงอาจไม่ได้รับการจ้างต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องไปขอรับบริการจากส่วนราชการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น. กระทรวงยุติธรรมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงได้ขออัตรากำลังข้าราชการหรือพนักงานราชการ โดยเฉพาะในสำนักงานยุติธรรมจังหวัดไปยังสำนักงาน กพร. และ กพ. ขณะที่ส่วนราชการอื่นๆ ก็ทำคู่ขนานไปด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอชะลอการใช้ระบบ National e-payments ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมไปพลางก่อนจนกว่ากระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน กพร. และสำนักงาน กพ. จะได้หาข้อยุติร่วมกันได้

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากได้รับการยกเว้นการเข้าระบบ National e-payments และดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางเหลือน้อยลง การใช้เงินดอกเบี้ยดังกล่าวเสริมงบประมาณ หากต้องเลือกระหว่างการจ้างลูกจ้างจำนวนดังกล่าวข้างต้นกับการนำไปเสริมด้านอื่นๆ แล้ว กระทรวงยุติธรรมก็จะเลือกที่จะใช้จ้างลูกจ้างไว้ก่อน เพราะกระทบต่อการบริการประชาชนโดยตรง ส่วนงบบริหารอื่นก็ต้องของบประมาณปกติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image