เผือกร้อน’สถาปนาสังฆราช’ ถึงเวลา’บิ๊กตู่-สมเด็จช่วง’ผ่าทางตัน?!?

การเคลื่อนไหวผลักดัน “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยการเคลื่อนไหวชนิดเทหมดหน้าตัก ของ “พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร)” เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ) โดยระดมคณะสงฆ์และฆราวาสนับหมื่นมารวมตัวกันที่พุทธมณฑลเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จนเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างทหารและพระภิกษุ ทั้งพระล็อกคอทหาร พระโยกขย่มรถทหาร พระได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก ฯลฯ

หลายฝ่ายมองว่าพระเมธีธรรมาจารย์เสียสละปกป้องพระพุทธศาสนาจนไม่หวั่นต่อการถูกทหารไปคุกคามถึงบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด โดยไปถามหากับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ จ.ร้อยเอ็ด แถมไปเฝ้าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ต้นสังกัดด้วย

ขณะที่ฝ่ายต้านมองว่า พระเมธีธรรมาจารย์เดินเกมผิดพลาด

ด้วยว่ายิ่งพิทักษ์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ยิ่งตอกย้ำให้คนส่วนหนึ่งเสื่อมศรัทธาต่อพระภิกษุ

Advertisement

รวมถึงเจ้าประคุณสมเด็จฯ มากยิ่งขึ้น

ถ้าเปรียบเป็นเกม บางส่วนอาจมองว่าคนที่ได้แต้มต่อ อาจเป็นฝ่าย “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผนึก “นพ.มโน เลาหวณิช” อดีตศิษย์วัดพระธรรมกาย และ “พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม” หรือ “พระพุทธะอิสระ” วัดอ้อน้อย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยไปสะกิดแผลเก่าที่ยังไม่สมานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในคดีรถหรูจดประกอบ ซึ่งเป็นคดีเก่าที่อยู่ในชั้นสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งแต่ปี 2556

Advertisement

และล่าสุดดีเอสไอแถลงว่ารถหรูของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผิดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำเข้า การประกอบ เสียภาษี ไปจนถึงการจดทะเบียน พร้อมกับรับเป็นคดีพิเศษ แถมสำทับด้วยลายเซ็นของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ครอบครอง

ส่วนว่าจะเป็นลายเซ็นจริงหรือไม่ ต้องตรวจสอบกันต่อ

“ที่เข้าไปตรวจสอบ เพราะมีการเสนอนามเพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเพราะตำแหน่งสังฆราชจะมีมลทินไม่ได้ กรณีของท่านมีข้อครหา 3 ประการ ได้แก่ 1.คดีรถหรูซึ่งเป็นคดีเก่าที่ค้างคาอยู่ในกระบวนการกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งเข้าข่ายผิดทั้งกฎหมายและผิดพระธรรมวินัยเรื่องสะสมทรัพย์สิน 2.ข้อกล่าวหาที่ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน เช่น ความมัวหมองในแง่สนับสนุนพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทั้งที่มีพระลิขิตจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แล้วว่าปาราชิก แต่ท่านในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) กลับไปเลื่อนสมณศักดิ์ให้ แทนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของ มส. และ 3.วัตรปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย โดยไปร่วมทำกิจกรรมกับวัดพระธรรมกาย” นายไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ยังไปร้องเรียนดีเอสไอให้พิจารณาสอบสวนว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 กรณีที่ไม่พิจารณาเรื่องปาราชิกพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายหรือไม่ ส่วนพระพุทธะอิสระเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พุทธมณฑล ให้ดำเนินคดีกับพระเมธีธรรมาจารย์ ที่ร่วมกับพวกพ้องบุกรุกพุทธมณฑล และร่วมกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย โดยละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุม

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ให้เหตุผลถึงการออกมาเคลื่อนไหวว่า ขณะนี้มีความพยายามจะนำการเมืองทางโลกเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์ มีการจาบจ้วงดูหมิ่น มส.และพระมหาเถระอย่างไม่เคยมีมาก่อน โจมตีให้ร้าย และแทรกแซงขัดขวางกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอย่างชัดเจน เมื่อมติ มส.ไม่มีความหมาย นั่นคือจุดล่มสลายของการปกครองคณะสงฆ์ไทย และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกสถาบันในไทย คณะสงฆ์ทั่วประเทศจึงมีสังฆามติร่วมกันว่าขอให้นายกฯดำเนินการ ดังนี้

1.ห้ามหน่วยงานภาครัฐเข้ามาก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ ขอให้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาตามแบบอย่างบรรพบุรุษไทย

2.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติอันดีงามที่กระทำสืบกันมา คือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ ทางรัฐบาลจะต้องปรึกษา และได้รับความเห็นชอบจาก มส.ก่อน

3.ขอให้นายกฯยึดถือดำเนินการตามมติ มส. ที่มีการเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

4.ขอให้รัฐบาลสั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ เอื้อเฟื้อ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ด้วยการใช้กฎหมาย

และ 5.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวดังกล่าว พระส่วนหนึ่งไม่ได้สนับสนุน อย่างพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งบอกว่าพระสงฆ์แบ่งเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน รวมถึงมีความขัดแย้งภายในคณะสงฆ์ระหว่างธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ที่อาจซาลงไปบ้างแล้ว แต่ยังมีการแบ่งสีระหว่างพระสงฆ์

ซึ่งปัญหาที่เกิดเป็นการซ้อนทับในความขัดแย้งเดิมๆ เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อผลประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ย่อมเกิดความไม่พอใจ และออกมาชุมนุม

“ประเด็นหลักที่เครือข่ายพระสงฆ์ออกมาชุมนุมจะอยู่ในสังฆามติที่เรียกร้องต่อรัฐบาลในข้อ 1-4 ส่วนข้อที่ 5 ที่ระบุว่า ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเรียกหาแนวร่วม หรือคนที่สนับสนุนในวงกว้างมากขึ้น”

“ประเด็นที่พระสงฆ์เรียกร้องให้รัฐบาลสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช หรือประเด็นของพระลิขิตที่ชี้ว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก ผู้ชุมนุมคงเข้าใจว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล มส. และฝ่ายหนุนกับฝ่ายต้าน แต่ที่จริงแล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างกระแสสังคมกับ มส. มากกว่า สืบเนื่องจากที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แถลงมติของพระธัมมชโย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่าเรื่องคดีสิ้นสุดไปนานแล้ว และยังมีเรื่องของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ที่มีข้อกังขาอยู่หลายเรื่อง อาทิ เรื่องรถหรู เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา โดยผู้ที่มาชุมนุมไม่ได้คิดแก้ปัญหาเรื่องความเสื่อมศรัทธา และไม่คิดหาวิธีเรียกศรัทธาให้สังคมกลับมายอมรับ มส. หรือยอมรับในการเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพราะมัวแต่มุ่งกดดันรัฐบาลมากเกินไป จนลืมนึกถึงศรัทธาของประชาชน และภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมกลับเพิ่มความเสื่อมศรัทธาพระสงฆ์ในวงกว้างและ มส.มากขึ้นไปอีก”

พระไพศาลบอกว่า หากรัฐบาลยอมทำตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุม และเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ขึ้นทูลเกล้าฯตามขั้นตอน และสมมุติว่าท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เพราะประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธาใน มส. และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ไปแล้ว

ทางออกของปัญหาคือ มส.ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องพระธรรมวินัย ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมรับรู้ โดยเฉพาะกรณีของพระธัมมชโย ไม่ใช่ใช้วิธีเตะลูกออก โดยอ้างเหตุผลข้อผิดพลาดทางเทคนิค ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้ปกป้องพระธรรมวินัย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องทำให้กระจ่างชัดว่าความจริงเป็นอย่างไร

ถูกว่าไปตามถูก ผิดว่าไปตามผิด

หากทำให้กระจ่างได้ จะกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ มส. และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้ ในทางกลับกันหากไม่ดำเนินการใดๆ ภาพลักษณ์จะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

ทางออกอีกทาง ผู้ที่จะปลดล็อกชนวนความขัดแย้งนี้ได้ คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หากกล้าที่จะทำ เพราะผู้นำคณะสงฆ์ต้องเป็นผู้แก้ไขปัญหานี้

แต่การนิ่งเฉยของท่านขณะนี้ จะส่งผลเสียต่อตัวท่านเอง และจะทำให้ปัญหาลุกลามมากขึ้น

แม้ฝ่ายใดได้ชัยชนะ แต่วงการศาสนาบอบช้ำไปมากแล้ว ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อ มส. และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯจะทูลเกล้าฯขึ้นไป ก็ยากจะเชื่อได้ว่า ทำให้ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายคลี่คลายลงได้

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเป็นผู้ออกมาปลดชนวนความขัดแย้งเสียเอง ก่อนที่ความเสื่อมศรัทธาต่อวงการสงฆ์จะขยายลุกลามไปมากกว่านี้??

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image