ดีเอสไอแฉขบวนการนำเข้ารถหรูเลี่ยงภ.ทำรัฐสูญ 2.4 พันล. แจงยิบสำแดงเท็จอายัด 122 คัน รองปลัดยธ.เผยโยงจนท.เป็นร้อย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร และนายอังเดร วิตาโบเน่ ผู้บัญชาการตำรวจสากลประเทศอิตาลี ภาคพื้นเอเชียแปซิคฟิก ประจำสถานทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงผลการยึดอายัดรถยนต์หรู หลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง 9 จุด มูลค่าความเสียหายกว่า 4,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอได้สืบสวนสอบสวนกรณีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยพบว่าบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์ได้ระบุสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าที่ผู้นำเข้าต้องมาแสดงต่อกรมศุลกากรเพื่อเสียภาษีอากร โดยมีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาเป็นจริง ซึ่งราคาเฉลี่ยที่ผู้นำเข้าสำแดง คือ ไม่เกินร้อยละ 40 ของราคารถยนต์ที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศต้นกำเนิดรถยนต์จำหน่าย จากข้อมูลเบื้องต้นพบรถยนต์เลี่ยงภาษีที่นำเข้ามาจำหน่ายเป็นรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงและมีราคาแพงก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงมอบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 120/2560 ขอหมายค้นต่อศาลอาญาเพื่อตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย 9 แห่ง โดยสามารถอายัดรถยนต์ได้ 122 คัน เช่น ลัมโบกีนี แมคคาเรน และโลตัส จาก 5 จุดตรวจค้น คือ 1.บริษัท นิช คาร์ กรุ๊ป จำกัด ย่านพระราม 9 และอาคารไม่มีเลขที่อยู่ทางทิศตะวันออกของอาคารเลขที่ 2388 อายัดรถยนต์ได้ 81 คัน 2.โชว์รูมรถยนต์ บริษัท นิชคาร์ กรุ๊ป จำกัด สาขาสยามพารากอน อายัดรถยนต์ได้ 1 คัน 3.เตนท์รถยนต์ เลขที่ 999/9 ย่านคลองจั่น (สถานที่เก็บรถยนต์ลัมโบกีนี) อายัดรถยนต์ได้ 6 คัน 4.โชว์รูมรถยนต์เอสทีที ออโต้ คาร์ ย่านห้วยขวาง (สถานที่เก็บรถยนต์ลัมโบกินี่) อายัดรถยนต์ได้ 24 คัน และ 5.โชว์รูมรถยนต์ เอสทีที ออโต้ คาร์ ย่านสุขุมวิท (สถานที่เก็บรถยนต์ลัมโบกีนี) อายัดรถยนต์ได้ 10 คัน ทั้งนี้ ภาษีที่ขาดโดยเฉลี่ยต่อคัน 10-18 ล้านบาทต่อคัน ทำให้รัฐเสียหายกว่า 2,400 ล้านบาท


ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า สำหรับแผนประทุษกรรมในการนำเข้ารถยนต์หลบเลี่ยงภาษี คือ การสำแดงเท็จ เช่น รถยี่ห้อลัมโบกีนีที่ยึดจากบริษัทนิชคาร์ 1 คัน ซึ่งนำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2553 และรถคันนี้ได้มีการตรวจสอบแล้วเลขตัวถังและเลขคัทซีตรงกับข้อมูลที่ได้รับจากประเทศอิตาลี ราคาจากประเทศอิตาลี 286,000 ยูโร เมื่อมาถึงประเทศไทยมีขบวนการจัดทำเอกสารสำแดงราคาเป็น 105,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.4 ล้านบาท ต้องเสียภาษี 328 เปอร์เซ็นต์ หรือ 11 ล้านบาท หากคำนวณภาษีตามราคาจริง รถคันนี้จะมีราคาตั้งต้นอยู่ที่ 12 ล้านบาทเศษ ไม่ใช่ 3.4 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีในราคา 41 ล้านบาท เท่ากับว่ารถคันนี้ชำระภาษีขาดไปจำนวน 30 ล้านบาท

Advertisement

พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รถบางคันอาจจะราคาต่ำกว่านี้ และราคาภาษีอากรก็ต่ำลง แต่ไม่ต่ำเหมือนกับที่มีการกระทำความผิด ซึ่งนายอังเดร วิตาโบเน่ เคยถามตนว่าทำไมรถที่ประเทศอิตาลีเมื่อมาขายในประเทศไทยจึงมีราคาต่ำกว่าที่ประเทศเขา ส่วนการดำเนินการตรวจสอบที่ค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางต่างประเทศไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสำแดงภาษีอากรนั้น ต้องไปยื่นที่ศุลกากร ซึ่งสินค้าทุกอย่างที่จะนำเข้ามาในประเทศต้องไปยื่นที่นั่น ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบราคาของรถยนต์นั้น ตนไม่ทราบ

รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า อีกทั้ง ทางศุลกากรมีขั้นตอนการทำงานอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าการสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมด โดยไม่มีการละเว้น ซึ่งจะต้องสอบสวนร่วมกันไป เบื้องต้นดีเอสไอได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบรถย้อนหลังอีกกว่าหมื่นคันในห้วงปีที่ยังสามารถดำเนินคดีได้ด้วย ว่ามีการสำแดงเท็จในขั้นตอนการนำเข้ามาหรือไม่

ขณะที่ พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวถึงการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ว่า สืบเนื่องจากที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องการประเมินราคารถยนต์ที่ต่ำกว่าราคาเป็นจริง ในขณะนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ 108 ราย และผู้บริหารระดับสูง 2 ราย รวมเป็น 110 ราย แต่สิ่งที่ไม่สามารถหาหลักฐานได้ในขณะนั้นคือราคาที่ซื้อขายกันจริง เพราะสัญญาการค้าระหว่างประเทศ ตกลงกันไว้ว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะต้องรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงไว้เบื้องต้นหากมีหลักฐานซื้อขายกันจริงจะต้องมีการเรียกภาษีกลับคืนมา และเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาย้อนหลังหลายปีแล้ว ซึ่งปีหนึ่งรัฐสูญเสียรายได้จากภาษีอากรเป็นหมื่นล้านบาท

Advertisement

พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวต่อว่า เมื่อตนเข้ามารับหน้าที่กำกับดูแลอาชญากรรมพิเศษดยเฉพาะดีเอสไอ ได้ให้ดีเอสไอทำการในส่วนที่เป็นผู้นำเข้า ซึ่งในการกระทำความผิดผู้นำเข้าจะต้องร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การกระทำความผิดจึงจะสำเร็จ และหลักฐานที่สำคัญที่สุดที่จะต้องนำมาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดคือราคาที่ซื้อขายกันจริง อีกทั้ง หลักฐานเอกสารรถย้อนไปในคดีที่ไม่หมดอายุความ รัฐจะต้องเรียกภาษีคืนจากผู้ที่กระทำผิด ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ จึงทำให้ทราบราคาที่มีการซื้อขายกันจริง ส่วนที่เราจะต้องยึดรถเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้ซื้อไปครอบครอง รวมถึงบริษัทไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับรถดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ดีเอสไอดำเนินทุกอย่างไปตามหลักฐาน

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อว่า เชื่อว่ามีบางส่วนใช้แผนประทุษกรรมเดียวกัน เพียงแต่ช่องทางที่รับเข้ามาในประเทศนั้น ใช้ช่องทางอีกกรมหนึ่งไม่ใช่กรมศุลกากร แต่พฤติการณ์จะเป็นแบบเดียวกัน ดังนั้น ต้องรู้ต้นตอก่อนว่าขณะที่ลงเรือมาเป็นคันซื้อขายกันราคาเท่าไหร่ รวมถึงอีกช่องทางหนึ่งรถที่ใช้สิทธิ์นักเรียนหรือผู้ที่ทำงานต่างประเทศนำเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image