“เน็ตเวิร์ก” กับ การพัฒนา “ไอโอที” ของไทย

เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เป็นสากลหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “อินเตอร์เน็ต” พัฒนาการไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่การทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อการส่งผ่านข้อมูลอีเลคทรอนิกส์ระหว่างคอมพิวเตอร์หลายๆเครื่องในยุคแรกๆ เรื่อยมา พัฒนาศักยภาพจนสามารถส่งผ่านข้อมูลภาพและเสียงได้โดยสมบูรณ์ในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ต กำลังพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการกลายเป็นศูนย์กลางของการ “คุยกัน” ระหว่างอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทั้งหลายที่เพิ่มความสามารถในตัวเองให้เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ กลายเป็นโลกยุคใหม่ที่ทุกสรรพสิ่ง ตั้งแต่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เรื่อยไปจนถึงรถยนต์ ไม่เพียงเข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ยังสามารถ “ติดต่อสื่อสาร” ซึ่งกันและกันได้อีกด้วย

นั่นคือสิ่งที่โลกไอทีเรียกกันว่า “อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” หรือ “ไอโอที”

เพราะไอโอทีนี่เองทำให้ คุณสิทธิชีพ สมเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเซล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและให้บริการทั้งอุปกรณ์และโซลูชั่นด้านเครือข่าย ถึงบอกว่า เน็ตเวิร์กคอมพิวเตอร์ในอนาคตไม่เพียงจำเป็นต้องแพร่หลายมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังต้องมีขีดความสามารถในการรองรับความต้องการที่แตกต่างกันของอะไรก็ตามที่เชื่อมต่ออยู่ในเครือข่ายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อีกด้วย

Advertisement

อุปกรณ์สมัยใหม่ กลายเป็นอุปกรณ์ที่ “สมาร์ท” ขึ้นทุกที ทำให้มีความเป็นไปได้ในการสร้าง “สมาร์ทโฮม” เรื่อยไปจนถึง “สมาร์ทฟาร์ม” หรือ “สมาร์ท แฟคตอรี” และ “สมาร์ทซิตี” ที่จะนำไปสู่ภาพใหญ่ที่เป็นองค์รวมที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ สมาร์ทไทยแลนด์ หรือ ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคต

ความเป็นไปได้นั้นมีอยู่แน่นอน แต่จำเป็นต้องมีแนวคิดเรื่องเน็ตเวิร์กที่รองรับเรื่องนี้ให้เป็นไปได้และแตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่เช่นเดียวกัน

คุณสิทธิชีพ ระบุว่า เหตุที่ ไอโอที จำเป็นต้องมีเน็คเวิร์ก หรือเครือข่ายที่แยกออกไปชัดเจน ไม่ได้มีสาเหตุเพียงเพราะความต้องการของอุปกรณ์อัจฉริยะแตกต่างออกไปจากความต้องการแบนด์วิธในปัจจุบันเท่านั้น แต่เป็นเพราะมีความจำเป็นที่ต้องขจัด “ต้นทุนแฝง” ออกไป

Advertisement

“ทุกวันนี้เราเข้าอินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ ตลอดเวลา เพราะเรามีซิมอยู่ในมือถือ ซิมแต่ละหมายเลขจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถลดให้ต่ำลงไปกว่านั้นอีกแล้ว ทีนี้ลองคิดดูว่า ถ้าเรามีอุปกรณ์ในบ้านหรือในฟาร์ม สัก 10 หรือ 20 อุปกรณ์ ที่เราต้องการใช้ความเป็นอัจฉริยะของมัน ถ้าทุกอุปกรณ์จำเป็นต้องมีซิมทุกตัว ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก”

อุปกรณ์อัจฉริยะแต่ละตัว ต้องการการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาก็จริง แต่ไม่ได้ต้องการเชื่อมต่อด้วยความเร็วสูง และไม่ได้ต้องการแบนด์วิธมากๆ อย่างที่เราต้องการใช้บนมือถือ นั่นทำให้เกิดเท็คนิคใหม่ในการแยกระบบเครือข่ายใหม่ขึ้นมา ทำหน้าที่เพื่อรองรับการเชื่อมต่อต่ำๆแต่ตลอดเวลาเหล่านั้น

“จะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายในบ้านเราหลายๆค่าย เริ่มพูดถึงเครื่อข่ายประเภท ‘แนร์โรว์แบนด์วิธ’ กันแล้ว นั่นคือเครือข่ายที่แยกออกมารองรับอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ โดยเฉพาะ” คุณสิทธิชีพระบุ เสริมด้วยว่า ผู้ใช้เองก็ไม่ได้จำเป็นต้องการใช้แบนด์วิธสูงๆกับอุปกรณ์เหล่านี้เหมือนกับที่ต้องการเมื่อใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตัด “ต้นทุนแฝง” ออกไปได้

“เช่นเราสั่งให้ไฟเปิด เราสามารถรอได้ 2-5 วินาที ก็ยังพอใจ ไม่ได้ต้องการการตอบสนองแบบ 1ใน1000 ของวินาทีเหมือนที่เราต้องการในการใช้ผ่านมือถือ”

ในกรณีของฟาร์มอัจฉริยะ คุณสิทธิชีพ บอกว่า ก็เป็นไปได้ที่จะมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ฉลาดทั้งหมดในฟาร์มเข้าด้วยกันด้วยเครือข่ายเฉพาะที หรือ โลคอล เน็ตเวิร์ก แอเรีย (แลน) แล้วถึงจะมีจุดเชื่อมต่อเพียงจุดเดียวเข้ากับอินเตอร์เน็ต ซึ่งอาจจะเป็นซิมที่ใช้เครือข่ายโทรศัพท์ก็ได้ หรือจะเป็นเครือข่ายที่ใช้สายก็ได้อีกเช่นเดียวกัน

ในฐานะที่ไซเซล เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับใช้ในเครือข่ายดังกล่าวทุกระดับ และทุกประเภทแบบครบวงจร ตั้งแต่การใช้ภายในบ้าน เรื่อยไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดย่อมและธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย คุณสิทธิชีพ เชื่อว่า ระบบเครือข่ายของเมืองไทยเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ สามารถรองรับสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้

“เน็ตเวิร์กบ้านเราค่อนข้างก้าวหน้า มีการพัฒนาต่อเนื่องมาหลายปี เพียงต้องอาศัยความคิดทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นเท่านั้น”

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เมื่อถูกถามว่า เราจะได้เห็นอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ในเมืองไทยแพร่หลายกันถึงในบ้านในครัวเรือนกันเมื่อใด คุณสิทธิชีพ ถึงหัวเราะก่อนบอกว่า

“ผมว่ากว่าเราจะได้เห็นเรื่องมีพัฒนากันออกมาในเชิงพาณิชย์ก็ต้องอีก 5 ปีครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image