‘หมอธี’ชี้ต่างชาติเปิดมหา’ลัย ช่วยพัฒนาประเทศ อาชีวะจี้สถาบันเพิ่มคุณภาพ

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ใช้อำนาจตามมาตร 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง คสช. เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดการศึกษาในภาคเอกชนของไทยยังมีปัญหาที่บางสาขาไม่สามารถเปิดได้ จึงจะชักชวนสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มในสาขาที่ขาดแคลน และเรื่องที่ 2 การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา เช่น อาชีวะ ว่า นโยบายนี้จะส่งผลดีให้กับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งที่ผ่านมมาต้องยอมรับว่า เรายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาระดับไฮเอ็นด์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนมาก อาทิ ไบโอเทคโนโลยี สาขาโรโบติกส์ เป็นต้น การเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาจัดการเรียนการสอนในสาขาเหล่านี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ส่วนตัวไม่อยากให้มหาวิทยาลัยคิดว่า ต่างชาติจะเข้ามาแย้งนักศึกษาหรือจะต้องปิดตัวลง แต่อยากให้มองในแง่ของโอกาสการพัฒนาประเทศ ที่วันนี้เราปิดประเทศไม่ได้ และหลายประเทศในในแถบเอเชีย อย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ซึ่งมีการพัฒนาค่อนข้างเร็ว ก็เปิดโอกาสให้ มหาวิทยาลัยต่างชาติ เข้ามาเปิดสอนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดสาขาให้ชัดเจน ว่า มีสาขาใดได้หรือไม่ได้ โดยเน้นในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลนและมหาวิทยาลัยไทยยังไม่สามารถผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ภาพรวมตนเห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ถือเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประเทศ ในการแลกเปลี่ยน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวไปสู่สากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนี้ประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี แล้ว จึงต้องผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการประเทศ โดยขณะนี้มีเด็กที่เรียนอาชีวะ ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 1.1 ล้านคน จบปีละ 2.3 แสนคน ขณะที่ความต้องการแรงงานของสถานประกอบการอยู่ที่ 7 แสนกว่าคน ดังนั้นถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะให้ต่างชาติเข้ามาช่วยจัดการศึกษาเพื่อเติมเต็มในส่วนที่เรายังขาดแคลน ส่วนที่กังวลว่า จะกระทบกับสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนนั้น ตัวแปรหลักคือ เรื่องคุณภาพ หากมีคุณภาพแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว สถาบันที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสถาบันอื่นได้ เพราะต่อไป ผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่หลากหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image