สัมมนา สนช.ไร้ข้อสรุป ‘พ.ร.บ.กกต.-พรรคการเมือง’

สัมมนา สนช.ไร้ข้อสรุป ‘พ.ร.บ.กกต.-พรรคการเมือง’ เผย แขวนคุณสมบัติ กกต.-ผู้ตรวจฯ เห็นต่าง’ทุนประเดิมพรรค-ค่าสมาชิก’ พร้อมกลับไปถกที่สภา 22 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เวลา 15.30 น. ที่โรงแรมนิว แทรเวิล ลอด์จ จ.จันทบุรี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แถลงภายหลังงานสัมมนา เรื่อง “ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การสัมมนาในครั้งนี้ กมธ.ทั้ง 2 คณะได้นำเสนอข้อมูล ซึ่งมีประเด็นที่ถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เช่น ร่างกฎหมายลูกกกต. เห็นว่า สมควรที่จะมีกกต.จังหวัดหรือผู้ตรวจการเลือกตั้งหรือไม่ ทางกกต.ยังยืนยันว่าควรมีกกต.จังหวัด แต่กรธ.เห็นควรที่จะปรับปรุงรูปแบบให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ทั้งนี้ประเด็นการคงอยู่ของกกต. โดยมีผู้เสนอว่าควรจะให้กกต.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อไปตามวาระเดิม และบางคนเห็นว่าควรเซ็ตซีโร่ทั้งคณะ และเสนอให้ตรวจสอบคุณสมบัติกกต.บางราย อย่างไรก็ตามสนช.ก็มองว่ากกต.เป็นกลไกสำคัญในการเลือกตั้ง ซึ่งการตัดสินใจของสนช.จะต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเป็นการปฏิรูปประเทศด้วย ขณะที่ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่อง ทุนประเดิมการจัดตั้งพรรคการเมือง ค่าสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยมีสมาชิกพรรคการเมืองแย้งว่า ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยลง

“เวทีสัมมนาครั้งนี้ไม่ได้หาคำตอบสุดท้าย แต่อยู่ที่การตัดสินใจของสมาชิกตามกระบวนการ เพราะเป็นดุลพินิจของสมาชิกแต่ละคนอย่างอิสระ แต่อยากให้ตัดสินใจบนพื้นฐานบนข้อมูลที่เพียงพอ” นายสุรชัย กล่าว

นายตวง อันทะไชย ประธานกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. แถลงว่า กมธ.พิจารณากฎหมายฉบับนี้ ครบทุกประเด็นแล้ว เหลือ 2 เรื่อง จะประชุมต่อที่รัฐสภาอีก 2 เรื่องในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ คือ 1.คุณสมบัติของกกต. ชุดปัจจุบัน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้เป็นไปตามกฎหมายลูก 2.กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการการเลือกตั้ง มีความเห็นสองแบบคือ มีและไม่มี โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีการพิจารณาร่าง กมธ.พูดทุกครั้งว่า เราพิจารณาบนพื้นฐานของกฎหมายประเทศ ไม่ได้ทำให้เพื่อให้ใครได้ประโยชน์ ทั้งนี้การทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เราได้ทำหมดแล้ว โดยนำความเห็นจากสถาบันวิจัยมาประกอบ รวมทั้งรายงานการรับฟังความเห็นของ สปท. และ กรธ.มาเป็นองค์ประกอบในการร่าง รวมทั้งการแถลงข่าว ที่ถือเป็นการสื่อสารกับประชาชน ยืนยันว่าเราทำครบถ้วนแล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่า คุณสมบัติของของกกต.ชุดปัจจุบัน นายตวง กล่าวว่า ความจริงเรื่องการอยู่หรือไม่อยู่ไม่ใช่เรื่องของการขัดรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเปิดพื้นที่เพื่อให้การออกแบบการเลือกตั้งเท่านั้นเอง โดนสามารถไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ที่ระบุว่าการอยู่หรือไปของกกต.นั้นให้เป็น ไปตามกฎหมายลูก การพิจารณากฎหมายลูกเรายึดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ที่เขียนถึงการอยู่การไปของกกต.ไว้ และกฎหมายนี้เป็นหนึ่งใน 10 ฉบับที่จะปฏิรูปประเทศ และจัดกลไกในการบริหารจัดการเลือกตั้ง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะตัดสินใจว่าจะใช้ร่างของใครเป็นหลัก แต่เราจะต้องยึดประโยชน์ของประเทศ เพื่อให้ทันต่อการบริการการเลือกตั้ง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีความสำคัญ กำหนดอำนาจหน้าที่ของพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง การพิจารณาของกมธ. ยังมีประเด็นที่ติดค้าง คือ 1.ทุนประเดิมของพรรคการเมือง 2.การจ่ายค่าบำรุงพรรคของสมาชิกพรรคการเมือง กมธ.เห็นว่า จำนวนเงินไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือกระบวนการจัดเก็บ กมธ.ได้ประสานธนาคารต่างๆของรัฐในการจัดเก็บค่าบำรุง และ 3. การปฏิให้สมาชิกมีส่วนเข้ามาคัดเลือกตัวแทนลงสมัครที่ชัดเจน กมธ.เห็นว่า ควรให้สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกผู้สมัครส.ส.แบบเขต และเป็นผู้เลือกผู้จัดลำดับแบบบัญชีรายชื่อ โดยกมธ.จะนำทั้ง 3 เรื่องกลับไปพิจารณากันต่อที่รัฐสภาเช่นกัน ทั้งนี้การสัมมนามีความคิดเห็นที่หลากหลาย กมธ.จะนำไปประมวลผลและนำมาบัญญัติในร่างกฎหมายนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image