40 ปี มติชน ส่ง ‘หนังสือ’ ฟื้นฟูการอ่าน ช่วย ‘ห้องสมุด’ 40 โรงเรียนใต้

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 ที่มาผ่าน สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนเป็นวงกว้าง ทำให้อาคารบ้านเรือน สถานที่ต่างๆ รวมถึง “โรงเรียน” ได้รับกระทบอย่างหนัก

โดยเฉพาะ “ห้องสมุด” แหล่งเรียนรู้สำคัญ ที่ประกอบไปด้วยหนังสือจำนวนมาก เป็นอีกแห่งที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก การจะฟื้นฟูกลับมาดังเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่มาก

ตัวแทนโรงเรียนรับมอบหนังสือจาก ดร.สฤต สันติเมทนีดล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานบมจ.มติชน, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, บรรจง พงศ์ศาสตร์ ประธานมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์

ด้วยเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงจัดโครงการ “40 ปี มติชนฟื้นฟูการอ่าน ระดมทุนซื้อหนังสือช่วยห้องสมุดโรงเรียนใต้” ขึ้น โดยร่วมกับมูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ ยังมีการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ร่วมสบทบอาทิ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารกสิกรไทย มูลนิธิ SCG โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

มอบหนังสือมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเงินสนับสนุน 15,000 บาท ให้กับโรงเรียน 40 แห่ง ในภาคใต้

Advertisement

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือและเงินช่วยเหลือครั้งนี้ บอกว่า หลายคนร่วมถึงผมอาจจะถูกต่อว่า ว่าการส่งหนังสือให้เด็กจะทำให้ไม่ทันโลกในยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่สื่อสารและเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิตอล รวมถึงยังอาจเห็นว่าหนังสือกำลังเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ชำรุด เสียหายง่าย ขณะเดียวกันยังต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดส่งหนังสือไปยังโรงเรียนต่างจากสื่อดิจิตอล หรือซีดีบันทึกการสอนซึ่งใช้งบประมาณในการส่งไม่มาก ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก

“งานวิจัยพบว่าผู้ที่อ่านผ่านสื่อดิจิตอลหรือแท็บเล็ต มีความจำสู้ผู้ที่อ่านจากหนังสือไม่ได้เพราะเวลาที่เราอ่านหนังสือเราจะจำได้ว่า ข้อความสำคัญอยู่ตรงหน้าใดบ้างทำให้มีสมาธิ ส่วนผู้ที่อ่านจากสื่อดิจิตอลเกือบ100 % จะใช้อินเตอร์เน็ต แชทไลน์ ทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันทำให้ไม่มีสมาธิกับการอ่าน” นพ.ธีระเกียรติ อธิบาย

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ “หนังสือ” ก่อนจะส่งมอบให้กับตัวแทนจากโรงเรียนต่างๆ ประกอบด้วย ร.ร.วัดหาดทรายแก้ว ร.ร.บ้านดอนไทรงาม ร.ร.บ้านน้ำตก ร.ร.วัดวาลุการาม จ.ชุมพร ร.ร.บ้านบางนกวัก ร.ร.ชะอวด ร.ร.วัดโรงเหล็ก ร.ร.วัดจันดี จ.นครศรีธรรมราช ร.ร.วัดนิกรประสาท ร.ร.วัดศรีสุวรรณ ร.ร.ท่าเฟืองวิทยา ร.ร.ไชยาวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี ร.ร.วัดทุ่งยาว ร.ร.วัดสุภาษิตาราม จ.พัทลุง ร.ร.กงหราพิชากร ร.ร.อุดมวิทยายน ร.ร.วัดไพรสนฑ์ ร.ร.บ้านหนองไทร ร.ร.วัดบางดี ห้วยยอด ร.ร.วัดทุ่งใหญ่ จ.ตรัง ร.ร.ชุมชนวัดหาดถั่ว ร.ร.บ้านห้วยน้ำแก้ว จ.กระบี่ ร.ร.วัดคลองเป็ด ร.ร.บ้านรัดปูน ร.ร.ชุมชนวัดเชิงแส ร.ร.วัดห้วยพุด จ.สงขลา ร.ร.บ้านท่าน้ำเค็มใต้ ร.ร.บ้านวังสายทอง จ.สตูล ร.ร.บ้านตะโละหะลอ ร.ร.บ้านจาหนัน ร.ร.บ้านปะเด็ง จ.ยะลา ร.ร.บ้าน มะนังกาหยี ร.ร.บ้านนาดา ร.ร.บ้านสะแนะ จ.นราธิวาส ร.ร.อนุบาลบางสะพาน ร.ร.บางสะพาน ร.ร.วัดปากคลองเกลียว ร.ร.อนุบาลกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร.ร.บ้านบาตะกูโบ และ ร.ร.บ้านบาละแต จ.ปัตตานี

ตัวแทนทุกโรงเรียนที่มารับมอบ “หนังสือ” กลับไปเติมเต็ม “ห้องสมุด” เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและความสุข

หนึ่งในนั้นคือ วิมลทิพย์ หนูเลี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยพุด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า รู้สึกดีใจมาก ที่มติชนเห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนวัดห้วยพุดซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมปีที่ 6 รวมแล้ว 101 คน และมีงบประมาณไม่มากนัก ส่วนตัวว่าการมอบหนังสือจะเป็นประโยชน์กับเยาวชนอย่างมาก ในการสร้างพื้นฐานด้านการอ่านและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย

“สำหรับโรงเรียนแล้วหนังสือในห้องสมุดมีความจำเป็นและยังมีความต้องการอีกมาก ให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า โรงเรียนวัดห้วยพุด ยังมีความต้องการหนังสือเกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูนที่ดึงดูดให้เด็กอยากอ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมเรื่องการรักการอ่านให้มากขึ้น หากเป็นไปได้อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานอื่นสนับสนุนโรงเรียนด้วยการมอบหนังสือแบบนี้บ้าง”

วิมลทิพย์ เล่าย้อนถึงสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาว่า โดยปกติแล้วโรงเรียนจะเผชิญกับน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี อาคารเรียนจึงมีการยกพื้นสูงขึ้นมาเพื่อป้องกันระดับหนึ่ง สำหรับปีที่ผ่านมาถือว่าน้ำท่วมน้อย ทำให้ความเสียหายของโรงเรียนจากน้ำท่วมมีไม่มากนัก

“แต่เนื่องจากน้ำท่วมสะสม ทำให้มีต้นไม้ล้มทับอาคารเรียน ห้องสมุดก็มีชั้นหนังสือส่วนหนึ่งและหนังสือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ได้รับความเสียหายจากน้ำฝน โชคดีที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตรงกับวันหยุด ทำให้นักเรียนไม่ได้รับผลกระทบและมีมีใครได้รับบาดเจ็บ” วิมลทิพย์ กล่าว

ตัวแทนจาโรงเรียนใต้จากซ้าย เสรี สุขกันตะ, วิมลทิพย์ หนูเลี่ยม, อับดุลรอแม การีอูมา

ขณะที่ “บางสะพาน” นับเป็นอีกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมอย่างหนักถึงขั้นวิกฤต หลังฝนถล่มต่อเนื่อง มวลน้ำสะสมทะลักเข้าบ้านเรือนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนบางสะพาน ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องเผชิญกับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร

เสรี สุขกันตะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางสะพาน บอกว่า ธรรมชาติของบางสะพาน จะมีน้ำจากฝนที่ตกสะสมไหลจากเทือกเขาตะนาวศรี ทางทิศตะวันตกเพื่อจะผ่านลงทะเลทางทิศตะวันออก โดยน้ำไหลผ่านตัวเมือง ทำให้ปกติแล้วบางสะพานมีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เฉพาะในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม มีน้ำท่วมทุกเดือนรวมแล้ว 3 ครั้ง แต่ละครั้งระดับน้ำก็ขยับความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ส่วนใหญ่แล้วจะมีน้ำท่วมไม่นาน แต่วันที่ 9 มกราคม เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของบางสะพานที่มีน้ำมามากที่สุด และมีน้ำท่วมสูงที่สุด วันนั้นครูไม่สามารถมาโรงเรียนได้ เนื่องจากมีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เยอะมาก เพราะปกติไม่เคยมีน้ำท่วมสูงขนาดนี้อย่างมากที่สุดสูงแค่หัวเข่า ดังนั้นแม้อาคารจะยกพื้นแล้วแต่ก็ทำให้ห้องสมุดและห้องธุรการที่อยู่ชั้นล่างเสียหายทั้งหมด ซึ่งหนังสือในห้องสมุดปกติช่วงหน้าน้ำจะมีการยกขึ้นที่สูงในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากครั้งนี้น้ำท่วมสูงมาก ทำให้หนังสือกว่าครึ่งจึงจมน้ำเสียหาย นอกจากโรงเรียนจะได้รับผลกระทบอย่างมากแล้ว นักเรียนโดยเฉพาะครอบครัวที่มีบ้านชั้นเดียวยิ่งได้รับผลกระทบมากเสียหายแทบทั้งหมด ต้องอาศัยอยู่บนขื่อ บนคาน หรือบนหลังคาบ้าน และเนื่องจากน้ำที่ท่วมบางสะพานเป็นน้ำโคลน ข้าวของส่วนใหญ่จะเสียหายเด็กๆ ก็ไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีหนังสือและอุปกรณ์การเรียน โรงเรียนมีการเปิดรับบริจากเงินช่วยเหลืออย่างเรื่องเสื้อผ้าก็ไปขอจากร้านค้ามาให้เด็กใช้ก่อนก่อนพอมีคนบริจาคเงินช่วยเหลือมาค่อยไปจ่ายเงินให้กับร้านค้าเป็นต้น” เสรี อธิบาย ถึงเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของบางสะพานซึ่งส่งผลต่อโรงเรียนและนักเรียน

และเนื่องจากห้องสมุดได้รับความเสียหายมากกว่าครึ่ง ทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียน 807 คนขาดหนังสือสำหรับคนคว้าเพิ่มพูนความรู้ เมื่อมีการจัดโครงการ “40 ปี มติชนฟื้นฟูการอ่าน ระดมทุนซื้อหนังสือช่วยห้องสมุดโรงเรียนใต้” ขึ้นจึงเป็นความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง

“หนังสือที่ได้รับผมแอบดูมาแล้วคิดว่าเด็กๆ น่าจะสนใจ เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีคุณภาพและมีประโยชน์สามารถเสริมบทเรียน ของเด็กให้เขามีโลกทัศน์กว้างขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กชนบท หรือเด็กต่างจังหวัด เพราะการที่เขาจะได้อ่านหนังสือพวกนี้เป็นเรื่องค่อนข้างจะยากพอสมควร ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ เพราะในต่างจังหวัดหาซื้อค่อนข้างยาก นอกจากนี้หากเป็นไปได้โรงเรียนบางสะพานยังมีความต้องการสนับสนุนหนังสือการ์ตูน และสื่อภาษาอังกฤษ เนื่องจากเรามีการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Program) แต่ที่โรงเรียนหนังสือภาษาอังกฤษยังน้อยอยู่ แล้วหาซื้อในตลาดค่อนข้างยาก” เสรี อธิบาย

และทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ทางโรงเรียนจะป้องกันให้มากขึ้น ตั้งใจจะทำชั้นหนังสือให้สูงขึ้นกว่าเดิมโดยเอาระดับน้ำในปีนี้เป็นมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ห้องสมุดได้รับความเสียหายในอนาคต

ช่วงเวลาเดียวกันที่จังหวัดยะลาก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน อับดุลรอแม การีอูมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโละหะลอ เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนขยายโอกาสจากตำบลตะโล๊ะหะลอ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เล่าว่า ในช่วงต้นเดือนมกราคม ที่ตะโล๊ะหะลอ มีฝนตกน้ำ จากเทือกเขาบูโดไหลผ่านโรงเรียน ทำให้น้ำท่วมสูง 1 เมตรกว่าห้องสมุดที่อยู่ชั้นล่างได้รับความเสียหายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีที่เป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทำให้ครูและนักเรียนไม่ได้รับผลกระทบมาก

“ที่เสียหายหนักจะเป็นส่วนของห้องสมุดและครุภัณฑ์ที่เสียหายประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วห้องสมุดของเราเป็นห้องสมุดมีชีวิตที่ดีมากๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศห้องสมุดมีชีวิตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park นอกจากจะมีหนังสือดีๆ ยังมีกิจกรรมบูรณาการสำหรับนักเรียน ความเสียหายครั้งนี้จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก แต่ก็ได้เห็นน้ำใจคนไทยที่ช่วยเหลือกัน ซึ่งตอนนี้เรายังต้องการหนังสืออีกเยอะไม่ว่าจะเป็นหนังสือเด็ก หนังสือที่เป็นองค์ความรู้ เป็นสารานุกรม เพราะมีหนังสือเสียหายไปมาก ครั้งนี้ต้องขอบคุณมติชนที่ให้ความสำคัญเรื่องหนังสือ มาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาดไป”

อับดุลรอแม บอกอีกว่า ในส่วนของการป้องกันปกติในช่วงหน้าน้ำทางโรงเรียนจะมีการวางแผนไว้โดยยกหนังสือขึ้นชั้นสูง แต่ปีนี้น้ำก็ยังท่วมถึงหลังจากนี้ต้องมีการเฝ้าระวังมากขึ้น ในเตือนธันวาต้องมีการขนหนังสือไปไว้อาคารชั้น 2 รอหมดฤดูฝนค่อยย้ายลงมา

เป็นความรู้สึกส่วนหนึ่งจากครูใต้ ที่สะท้อนถึงสำคัญของห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ของเหล่านักเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image