ชาวตรังขอ ‘สวทช.-อช.หาดเจ้าไหม’ เลิกโครงการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมพะยูน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง ได้มีตัวแทนจาก 3 องค์กรหลัก คือ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดตรัง ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดและมูลนิธิอันดามัน นำโดยนายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขานุการมูลนิธิอันดามัน แถลงข่าวเรียกร้องให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ปล่อยพะยูนทั้ง 3 ตัวให้เป็นอิสระ หลังจากที่มีการติดสัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูน บริเวณส่วนหางของพะยูนยาวประมาณ 3 เมตร ตั้งแต่ประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นายภาคภูมิกล่าวว่า จากข้อมูลผู้เชี่ยวชาญจาก Dugong Techniciat Expert of CMS Dugong Secretariat ให้ความชัดเจนว่าการจับพะยูนด้วยอวน และใช้คนจับจำนวนมาก ในการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมรวมถึงความยาวและทุ่นสัญญาณที่ใช้จะก่อให้เกิดอันตรายและเสี่ยงต่อการตายของพะยูน อีกทั้งข้อมูลหลังจากการติดตั้งบอกเฉพาะวิถีชีวิตของพะยูนเฉพาะตัวที่ติดสัญญาณเท่านั้น ไม่มีนัยยะที่สำคัญต่อความรู้เกี่ยวกับพะยูนตัวอื่นในทะเลตรัง เช่นเดียวกับการเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของพะยูนทั้ง 3 ตัว ก็เป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างพันธุกรรมพะยูนที่มีมากกว่า 200 ตัว

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ภูเก็ต) บินสำรวจพะยูนในทะเลตรังประมาณ 10 ปีต่อเนื่อง พบข้อมูลว่าช่วงปี 2540-2544 บริเวณเกาะมุกด์กับหาดหยงหลิง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นบริเวณที่จับพะยูนติดอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียม โดยที่ชาวบ้านชุมชนชายฝั่งและชาวประมงพื้นบ้านได้ร่วมกันจัดทำเขตอนุรักษ์ “เขตเลสี่บ้าน” เพื่ออนุรักษ์พะยูนและเต่าทะเลมาตั้งแต่ปี 2550 จนแหล่งหญ้าทะเลเพิ่มมากขึ้นจาก 7 พันไร่ เป็นกว่า 9 พันไร่ มีประชากรพะยูนประมาณ 30-40 ตัว ล่าสุดการบินสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็พบพะยูนที่เกาะลิบงเพิ่มขึ้น ประกอบกับการจัดทำงานวิจัยติดสัญญาณดาวเทียมดังกล่าวขาดการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ และชาวบ้านชุมชนชายฝั่งไม่ได้มีส่วนร่วม

“ขอเรียกร้องให้ สวทช.ทำการปลดสัญญาณดาวเทียมจากตัวพะยูนทันที และให้ยุติโครงการดังกล่าว และประกาศจะยุติความร่วมมือทุกประการกับโครงการนี้จนกว่าจะมีการแก้ไข ที่สำคัญโครงการดังกล่าวจึงน่าเป็นห่วงมากกว่า ผลกระทบจากมนุษย์ที่เป็นอยู่นี้อาจทำให้จำนวนพะยูนหมดไปในอนาคต ดังนั้นพะยูนทุกตัวที่มีในทะเลไทยจึงมีความสำคัญมาก โครงการจับพะยูนครั้งนี้ดูเหมือนไม่ได้รับการวางแผนที่ดีมาก่อน และไม่แน่ใจว่าทำไปเพื่ออะไร ไม่มีใครจับพะยูนได้ ไม่ใช้อวนแบบที่ประเทศไทยทำอีกแล้ว เพราะมีวิธีที่ดีกว่า และมีวิธีอื่นที่จะได้ข้อมูลพะยูนโดยไม่ต้องติดสัญญาณที่หางพะยูน” เลขานุการมูลนิธิอันดามันกล่าว

Advertisement

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีประชากรพะยูนมากเป็นอันดับสองของโลก เคยลองทำการติดสัญญาณดาวเทียม แต่พบว่าข้อมูลที่ได้มาไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไป จึงยกเลิกโครงการแบบนี้ไป และจากการดูข้อมูลทางดาวเทียมที่ได้มา พะยูนแต่ละตัวมีการเคลื่อนย้ายไม่เหมือนกัน ดังนั้นการติดสัญญาณที่พะยูนไม่กี่ตัวไม่ได้ช่วยให้ได้ข้อมูลสำคัญหรือใหม่อะไร การจับพะยูนด้วยอวนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของพะยูนมาก และพะยูนที่โดนจับถูกล้อมด้วยคนจำนวนมาก ทำให้พะยูนจะต่อต้านมากขึ้น ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย ทะเลในละแวกที่พะยูนอยู่มีอุปกรณ์ประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูนอยู่หลายชนิด ทำให้พะยูนมีความเสี่ยงมากขึ้นจากสายที่ยาวสามเมตรไปติดอุปกรณ์ประมงและจมน้ำตายง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image