‘อดิศร’ค้านใช้ม.44เปิดต่างชาติตั้งม.ในไทย ซัด’อย่าใช้ม.44เป็นแก้วสารพัดนึก นึกผิดจะยุ่งทั้งประเทศ’

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้ มาตรา 44 ให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงมาเปิดสอนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเน้นการผลิตเฉพาะสาขาขาดแคลนที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดสอนไม่ได้ โดยอ้างว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)เห็นด้วย เพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า ถ้าโจทย์สำคัญของประเทศเราคือการขาดแคลน บุคลากรด้าน Robotic รถไฟฟ้า หรือสาขาอื่นๆ ซึ่ง ศธ.เองก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีสาขาอะไรบ้าง ตนเห็นว่าการให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศมาเปิดสอนในประเทศไทยก็คงจะแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ด้วยเหตุที่ปัญหาหลักของนักศึกษาไทยคือปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน การที่สิงคโปร์ มาเลเซีย มีมหาวิทยาลัยต่างชาติไปเปิดและประสบความสำเร็จเพราะพื้นฐานของคนในประเทศและระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

นายอดิศร กล่าวต่อว่า แม้จะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างประเทศมาเปิดสอนในประเทศเรา ตำรา การจัดการเรียนการสอนก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และศาสตร์เหล่านี้ต้องใช้หรือมี Lab ที่มีราคาสูงมาก ตนจึงเห็นว่ารัฐควรพัฒนาภาษาอังกฤษสำหรับเฉพาะคนที่เป็นครีมหรือมันสมองของประเทศที่จะเรียนในสาขาเหล่านี้ ให้เข้มข้นก่อนแล้วส่งไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วในประเทศไทยเราก็มีบุคลากรเก่งๆ ที่ได้รับทุนไปเรียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนมากทั้งในมหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สวทช.และในภาคเอกชน เพียงแต่อาจไม่ตรงสาขาเหล่านี้เสียทีเดียว ถ้ารัฐต้องการกำลังคนสาขาขาดแคลนจริงๆ และใช้เวลาได้รวดเร็วกว่าก็ควรใช้วิธีการต่อยอดบุคคลเหล่านี้ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ วิจัยร่วมกับการทำงานจริงๆ กับบริษัทต่างชาติ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง น่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลทั้งคุณภาพและระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า แล้วจึงหาวิธีจัดการองค์ความรู้ (KM) เหล่านั้นเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อถ่ายทอดความรู้ต่อไป

“โดยสรุปผมไม่เห็นด้วยในการใช้ ม.44 ตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศตามแนวดังกล่าว ควรตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์ของประเทศเราเองจะดีกว่าแต่ก็ต้องควบคุมไม่ให้กลายพันธุ์เป็น Comprehensive University เหมือนหลายแห่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการจัดการศึกษาในปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจไปแล้ว ถ้ามหาวิทยาลัยต่างประเทศไม่ได้รับเงื่อนไขผลประโยชน์ที่ดี ผมเชื่อว่าเขาคงไม่มาลงทุน และถ้าใช้มาตรา 44 ให้เงื่อนไขที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัย เอกชนที่มีอยู่ในประเทศแล้ว ก็จะเกิดปัญหาใหม่ตามมาอีก มาตรา 44 ช่วยเร่งเอาผลงานให้รัฐบาลได้ แต่ไม่อาจเร่งเอาคุณภาพของผลงานได้ โปรดอย่าใช้ มาตรา 44 เป็นแก้วสารพัดนึกอย่างฟุ่มเฟือย เพราะถ้าคุณนึกผิดมันจะยุ่งทั้งประเทศครับ” นายอดิศร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image