ซัดรัฐบาลใช้ม.44เปิดต่างชาติตั้งมหา’ลัย ไม่ช่วยยกระดับม.ไทย แถมสร้าง‘ความเหลื่อมล้ำ-แย่งน.ศ.’

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในไทยทำได้ 2 รูปแบบ คือ มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน โดยมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนตัวจึงมองว่าไทยมีกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ถ้ารัฐบาลมองว่าหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสถาบัน หรือมหาวิทยาลัยในไทย ในสาขาขาดแคลนที่พิจารณาแล้วว่ามหาวิทยาลัยในไทยไม่อาจจัดได้จริงๆ ถ้าจำเป็นอย่างนั้นก็ควรออกหลักเกณฑ์ใหม่ที่สร้างความคล่องตัว ทั้งนี้ มาตรฐานหลักสูตร คณาจารย์ ฯลฯ ยังควรต้องใช้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยไทย

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฟัง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.บอกว่าแม้จะใช้มาตรา 44 ยังไม่รู้จะมีใครเข้ามาจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือไม่ แนวคิดนี้ไม่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการใช้มาตรา 44 โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูล ฉะนั้น ควรต้องสำรวจก่อนว่าไทยจำเป็นต้องใช้สาขาใด ติดขัดปัญหาอะไร มหาวิทยาลัยไทยจึงไม่สามารถเปิดสอนสาขาดังกล่าวได้ แล้วแก้ไขให้มหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจสอดคล้องกับสาขาดังกล่าว สามารถเปิดสอนได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถเปิดสอนได้จริงๆ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในไทยเกือบทุกแห่งได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้ว ก็สามารถจัดการเรียนร่วมในไทย หรือดึงอาจารย์ต่างประเทศมาสอนได้

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยมีจำนวนมาก ขณะที่จำนวนนักศึกษาลดลงเรื่อยๆ จนเกิดการแย่งชิงนักศึกษากันอยู่แล้ว การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทย ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหาให้เกิดการแย่งตัวนักศึกษากันมากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ได้ช่วยยกระดับมหาวิทยาลัยไทย แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะนักศึกษาที่ยากจนคงไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ เนื่องจากค่าเล่าเรียนสูง ฉะนั้น ถ้าพัฒนามหาวิทยาลัยไทยให้เปิดสอนในสาขาขาดแคลนได้ ก็จะตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” นายรัฐกรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image