เลขาธิการ สปสช.ยันแนวทางจัดสรรงบฯ เป็นการดำเนินการของบอร์ดฯ ตามกม.บัตรทอง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีข้อวิจารณ์ต่อระบบสาธารณสุขในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สปสช. ว่า สปสช.เป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการจัดหาบริการสาธารณสุขให้ประชาชนตามสิทธิ สปสช. มีหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยใช้กลไกทางการเงินก็คือการจัดหาบริการและการสนับสนุนการจัดบริการ ที่ผ่านมาการบริหารจัดการ สปสช.ได้รับรางวัลกองทุนหมุนเวียนจากกระทรวงการคลังต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2551 และผ่านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐด้วยคะแนนสูงมาก

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สปสช.ตระหนักดีและเคารพในการทำงานของวิชาชีพ สปสช.มิได้กำหนดวิธีการรักษาแต่อย่างใด แนวทางการรักษาดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของราชวิทยาลัยการแพทย์สาขาต่างๆ เพื่อการรักษาที่ได้มาตรฐานในบางโรคที่มีความสลับซับซ้อน เช่น การรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสำคัญ กรณีดังกล่าว สปสช.ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กำหนดแนวทางการรักษาที่ได้มาตรฐานบนฐานของงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเพื่อบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วย ทั้งนี้ กรณีที่ระบุว่า เมื่อรักษาไม่เป็นไปตามแนวทางที่ระบุไว้ ก็เบิกเงินไม่ได้นั้น ตรงนี้คือการตรวจสอบเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ ซึ่งทั้ง 3 กองทุนสุขภาพคือ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และกองทุนบัตรทองดำเนินการเหมือนกัน และเป็นการสุ่มตรวจเพียง 3% โดยตัวแทนของแพทย์จาก รพ.ต่างๆ ในพื้นที่จะตรวจสอบกันเอง โดยใช้เกณฑ์ถูกกำหนดออกมาจากราชวิทยาลัยการแพทย์สาขาต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ใช้หนังสือแนวทางมาตรฐานการให้รหัสโรค (Standard Coding Guidelines) ซึ่งจัดทำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในเอกสารอ้างอิงเพื่อการตรวจสอบเวชระเบียนอีกด้วย แต่ทั้งนี้ในระหว่างทุกๆ 2 ปี ก็จะมีการปรับปรุงเกณฑ์การตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป

“ผู้ที่ตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ไม่ใช่มีเพียง สปสช.เท่านั้น ยังมีประกันสังคม กรมบัญชีกลาง บริษัทประกันชีวิตต่างๆ ซึ่งตรวจสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชน และเป็นระบบปลายปิด ดังนั้นการบรรจุยาบางตัวที่มีนวัตกรรมและราคาสูงเข้าในสิทธิประโยชน์ไม่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ทันที ต้องผ่านการศึกษาและพิจารณาจากคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น และตัวยาใหม่ๆ ก็ต้องผ่านการศึกษาก่อนเช่นกัน ไม่ใช่ว่ายาออกใหม่ทุกตัวจะดีทั้งหมด ทั้งหมดเป็นการบริหารทุกขั้นตอนเพื่อนำงบประมาณที่มีจำกัดมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน” เลขาฯ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image