FUTURE PERFECT เมื่อวรรณกรรมเป็นตัวเลข วิเคราะห์วรรณกรรมด้วยแง่มุมทางสถิต โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ถ้าถามผมว่า Nabokov’s Favourite Word is Mauve เป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร ผมอาจตอบคุณว่ามันเป็นหนังสือ “เกี่ยวกับหนังสือ” – ถ้าคุณมองด้วยความประหลาดใจว่าไอ้นี่จะมาไม้ไหน – ทำเป็นตอบวกวน ปั๊ดโธ่! – ผมก็อาจบอกคุณเพิ่มว่า Nabokov… เป็นหนังสือเรื่องการศึกษาหนังสือ ด้วยวิธีการทางสถิติ

หากเรามองโลกด้วยการแยกวิทยาศาสตร์และศิลปะออกจากกัน เราอาจมองไม่เห็นเลยว่า “สถิติ” ซึ่งเป็นวิชาคณิตศาสตร์ สายวิทย์จ๋า จะมาเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมซึ่งเป็นศาสตร์สายศิลป์ได้อย่างไร “ถ้าให้เดา คงเอาสถิติมาวัดยอดขายของวรรณกรรมแค่นั้นล่ะมั้ง!” ใครคนหนึ่งอาจโพล่งขึ้นมา

คำตอบก็คือ ทั้งใช่และไม่ใช่!

Ben Blatt ผู้เขียน Nabokov’s Favourite Word is Mauve เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ – ในสายตาของผม – เขา “ซน” มาก – ความซนในที่นี้คือเขาสนุกที่จะตั้งคำถาม และเมื่อตั้งคำถามกวนๆ ขึ้นมาแล้ว เขาก็พยายามหาคำตอบด้วยวิธีการต่างๆ – หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวม “คำถามและวิธีการพยายามหาคำตอบ” ของเขาในขอบเขตของหนังสือและวรรณกรรม

Advertisement

คำถามอย่างเช่นว่า “เฮมมิ่งเวย์เคยบอกว่าจะเขียนหนังสือให้ดี ต้องอย่ามี adverb เยอะนี่มันจริงเหรอ เฮมมิ่งเวย์ทำตามคำแนะนำนี้ของตัวเองหรือเปล่าเถอะ และหนังสือที่มี adverb น้อยจะดีกว่ามี adverb เยอะจริงไหม” “เราจะรู้ได้ไหมว่าคนเขียนหนังสือคนนี้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย โดยดูจากสิ่งที่เขาเขียนเพียงอย่างเดียว” “เราตัดสินหนังสือจากปกได้ไหม” “นักเขียนคนไหนใช้สำนวนเกร่อๆ (cliche) มากที่สุด” “ที่บอกว่าการเขียนไม่ควรใช้เครื่องหมายตกใจนี่จริงไหม” และอื่นๆ

คำถามเหล่านี้ดูเหมือนจะศึกษาด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์แทบไม่ได้เลย – ยิ่งกับแวดวงวรรณกรรมแล้ว การจะตัดสินว่าหนังสือเล่มไหน “ดี” หนังสือเล่มไหน “ควรค่า” สำนวนไหน “เกร่อ” อะไรทำให้หนังสือ “ขายได้” เหล่านี้ดูเป็นเรื่องภววิสัยอย่างยิ่ง จะมีตัวเลขไหนที่สามารถวัดค่าสิ่งที่ดู “วัดค่าไม่ได้” เหล่านี้ได้หรือ

Ben Blatt จัดการกับคำถามเหล่านี้ด้วยวิธีที่นักคณิตศาสตร์และนักสถิติหลายคนเลือกทำครับ – นั่นคือ เขา “ลดรูป” คำถามให้อยู่ในขอบเขตที่จัดการได้ เช่น เปลี่ยนขอบเขตของคำว่า “หนังสือดี” เป็น “หนังสือที่ติดอันดับหนังสือดีของหลายสถาบันในรอบ 50 ปี” หรือ “สำนวนที่เกร่อ” เขาก็ใช้วิธีอ้างอิงจากหนังสือ “สำนวน Cliche” ที่จับเอามากถึง 4,000 สำนวนมารวมกันเพื่อเป็นตัวอย่าง

Advertisement

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจที่ Blatt พยายามตอบในเล่ม คือ “หนังสือในปัจจุบัน ‘โง่’ กว่าหนังสือในอดีตหรือเปล่า” อีกครั้ง, นี่เป็นคำถามที่ดูยากเกินจะตอบไม่ว่าจะมองจากมุมไหน แต่ Blatt ก็พยายามตอบด้วยการลดรูปเช่นเคย นั่นคือ เขาใช้สมการ “วัดเกรดความยากของหนังสือ” ที่มีผู้คิดค้นไว้ก่อนหน้า (เพื่อวัดว่าหนังสือเล่มนั้นๆ อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับนักเรียนประถมหรือมัธยมอะไร โดยพิจารณาจากตัวแปรเช่นจำนวนพยางค์และความหลากหลายของคำที่เลือกใช้) แล้วเทียบกับหนังสือขายดีจาก New York Times ไล่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็พบคำตอบว่าหนังสือในปัจจุบัน “โง่” กว่าหนังสือในอดีตโดยเฉลี่ยจริงๆ

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่คำตอบที่สมบูรณ์แบบที่สุดและ Blatt ก็รู้ช่องโหว่ในการพิจารณาของตนเองเป็นอย่างดี แต่อย่างน้อย เขาก็พยายามตอบคำถามเหล่านี้ด้วยวิธีที่เป็นภววิสัยมากเท่าที่ทำได้

หลายคนได้ฟังเรื่องของ Blatt แล้วก็อาจคิดว่า นี่ช่างเป็นการมองวรรณกรรมด้วยวิธีที่ไม่ “โรแมนติก” และไม่สวยงามเอาเสียเลย แต่ก็นั่นแหละครับ – Blatt เองก็ไม่ได้บอกว่าคำตอบของเขาเป็นคำตอบเดียว วิธีการมองของเขาเป็นวิธีการมองเดียว แต่สิ่งที่สำคัญคือ เขาให้วิธีการมอง – ให้ “เลนส์” ใหม่ เพื่อให้เราพิจารณาข้อมูลชุดเดิมได้อย่างกว้างขวางขึ้นต่างหาก

วิธีการของ Blatt ทำให้ผมนึกถึงคำที่ Richard Feynman นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังพูดไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อเพื่อนศิลปินของเขาปรามาสเขาว่า “พวกนักวิทยาศาสตร์น่ะคงมองไม่เห็นความสวยงามของดอกกุหลาบเหมือนที่ศิลปินเห็นหรอก” ริชาร์ดบอกว่า – นายน่ะบ้าไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์น่ะเห็นความงามของดอกกุหลาบได้เหมือนคนทั่วๆ ไปนั่นแหละ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เห็นในระดับลึกซึ้งอย่างเดียวกับที่ศิลปินเห็น – แต่นอกจากแค่ได้เห็นความสวยงามภายนอกของดอกกุหลาบแล้ว เขายังสามารถจินตนาการถึงเซลล์ในดอกกุหลาบดอกนั้น และคิดถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในได้อีกด้วย และเขาก็คิดว่านั่นคือความสวยงามในอีกรูปแบบ

เช่นกัน มุมมองของนักภาษาศาสตร์ต่อวรรณกรรมนั้นอาจลึกซึ้งกว่ามุมมองของคนทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นัก” อื่นๆ เช่น นักสถิติ นักกฎหมาย นักปรัชญา นักแต่งเพลง นักชีววิทยา ฯลฯ ก็สามารถมีมุมมองที่น่าสนใจต่อวรรณกรรมได้ด้วย

และก็ไม่ใช่แค่กับวรรณกรรม แต่กับทุกเรื่องนั่นแหละครับ

ความหลากหลายคือสิ่งที่สวยงาม

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image